การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงบอกว่าประเทศไทยใช้กฎหมายระบบใด พร้อมบอกลักษณะสำคัญของกฎหมายมาให้ถูกต้องและครบถ้วนด้วย
ธงคำตอบ
ประเทศไทยชะระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law)
ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้จะอยู่ในรูปของประมวลกฎหมาย ซึ่งประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจะต้องมีการจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้น โดยเฉพาะในทางกฎหมายแพ่งนั้นใช้ระบบกฎหมาย “Civil Law” มาจากภาษาลาตินของโรมันว่า “Jus Civile” โดยกษัตริย์โรมันชื่อ Justinian ได้ทรงรวบรวมกฎหมายประเพณี ซึ่งบันทึกไว้ในกฎหมายสิบสองโต๊ะ รวมทั้งรวบรวมนักกฎหมายในสมัยพระองค์ช่วยกันบัญญัติออกมาเป็นรูปกฎหมาย Civil Law ขึ้น มีชื่อว่า “Corpus Juris Civilis” ซึ่งต่อมาฝรั่งเศสและเยอรมันได้นำเอากฎหมายนี้มาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแพ่ง (Civil Code) ขึ้น จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Condifild Law นั่นเอง
ประมวลกฎหมายคือ กฎหมายที่ได้บัญญัติหรือตราขึ้น โดยรวบรวมเอาบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่กระจัดกระจายกันอยู่ไม่เป็นระเบียบ เอามารวบรวมจัดให้เป็นหมวดหมู่วางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในที่เดียวกัน และมีข้อความเกี่ยวเนื่องติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ
กฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมายหรือกฎหมายลายลักอักษรนี้ เป็นการพิจารณาหลักเกณฑ์ ทั่วไปมาสู่เรื่องเฉพาะเรื่อง คือ เอาบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับด้วยเป็นรายๆไป ดังนั้นประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงต้องคำนึงถึงตัวบทเป็นสำคัญ ส่วนคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงช่วยในการตีความในตัวบทของประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่ที่มาของกฎหมายอย่างเช่นระบบ Common Law ซึ่งที่มาของประมวลกฎหมายต่างๆ ในระบบ Civil Law นี้จะมาจากกฎหมายโรมันอันเป็นต้นแบบนั้นเอง
และนอกจากนี้ กฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายนี้ แยกกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับมหาชนก็มีศาลปกครอง และในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายเอกชนก็มีศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาคดี ส่วนกฎหมายระบบ Common Law ไม่มีการแยกประเภทคดีทั้งทางมหาชนและเอกชนต้องพิจารณาในศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียว
สำหรับลักษณะสำคัญของกฎหมายมีอยู่ 5 ประการ คือ
1. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดขึ้นจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐหรือของประเทศ โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติสร้างกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อบังคับแห่งกฎหมาย เรียกว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Codified Law) หรือกฎหมายที่เป็นรูปประมวลกฎหมาย เช่นประเทศไทยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยความเห็นชอบของรัฐสภา เป็นต้น ฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลธรรมดาด้วยกันเองแล้วย่อมไม่มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับให้เป็นข้อกฎหมายใช้บังคับแก่คนทั่วไป
อนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติอาจมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เช่นกัน เช่น พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง ซึ่งนับได้ว่าเป็นกฎหมายเช่นกัน
2. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไปกับทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้นๆ
คือ มิได้ทำขึ้นเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้โดยเฉพาะ หรือออกมาเพื่อกิจการอันหนึ่งอันใดโดยเฉพาะ แต่ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป และทุกสถานที่โดยเสมอภาค
3. กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป คือ เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว ต้องใช้กฎหมายนั้นไปจนกว่าจะมีกฎหมายใหม่สำหรับเรื่องเดียวกันนั้นออกมา และให้ยกเลิกกฎหมายเก่าอันนั้นเสีย
4 กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม ข้อบังคับดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นเรื่องให้กระทำการหรือเป็นเรื่องให้ละเว้นกระทำการก็ได้ ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษในทางอาญา
5 กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมีได้ทั้งในทางอาญาและในทางแพ่ง
– สภาพบังคับในทางอาญา คือ “โทษ” นั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้มี 5 ชนิด โดยเรียง จากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด ได้แก่ 1 ประหารชีวิต 2 จำคุก 3 กักขัง 4 ปรับ 5 ริบทรัพย์สิน
– สภาพบังคับในทางแพ่ง หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น คือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กัน ได้แก่ การคืนทรัพย์ การชดใช้ราคาแทนทรัพย์ และรวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย
ข้อ 2 สภาพบุคคลเริ่มตั้งแต่เมื่อใด และสิ้นสุดลงเมื่อใด จงอธิบาย และยกตัวอย่างถึงสิทธิของบุคคลที่ได้จากการเกิดมา 2 ตัวอย่าง
ธงคำตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรคแรก มีหลักกฎหมายว่า “สภาพบุคคลย่อมเมื่อแต่แรกคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย”
ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่า สภาพบุคคลนั้นย่อมเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อคลอดและมีการอยู่รอดเป็นทารกนั่นเอง หรืออาจแยกเป็นองค์ประกอบได้ว่า การเริ่มต้นมีสภาพบุคคล (ของบุคคลธรรมดา) นั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการคือ
1 มีการคลอด ซึ่งการคลอดนั้นคือการที่ทารกได้พ้นออกมาจากช่องคลอด โดยไม่มีอวัยวะส่วนใดเหลือติดอยู่ ส่วนจะมีการตัดสายสะดือ(รก) หรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ (ในกรณีที่มีการผ่าท้องเอาทารกออกมาตามหลักวิชาแพทย์ ก็ถือว่าเป็นการคลอดตามความหมายนี้เช่นกัน)
2 มีการอยู่รอดเป็นทารก คือ ต้องปรากฏว่าทารกที่คลอดออกมานั้นมีการหายใจแล้วด้วย จึงจะถือได้ว่าทารกนั้นมีสภาพบุคคลแล้ว ซึ่งการหายใจของทารกนั้นอาจจะเป็นการหายใจด้วยตนเองหรือการช่วยเหลือของแพทย์ก็ได้ และไม่ว่าการหายใจนั้นจะมีระยะเวลานานเพียงใดก็ตาม ก็จัดได้ว่ามีการอยู่รอดเป็นทารกและมีสภาพบุคคลแล้ว
แต่ถ้าทารกที่คลอดออกมาไม่มีการหายใจ คือ ได้ตายไปก่อนแล้ว ซึ่งอาจจะตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือตายในคณะคลอดก็ตาม ดังนั้นทารกนั้นย่อมไม่มีสภาพบุคคลและไม่มีสิทธิใดๆตามกฎหมายทั้งสิ้น
สำหรับตัวอย่างสิทธิที่ได้จากการเกิดมีสภาพบุคคล เช่น
1 การเป็นทายาทโดยชอบธรรมในฐานะผู้สืบสันดานในการรับมรดก
2 การได้สัญชาติไทย
3 การใช้นามสกุลของบิดา
4 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดา
5 สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย
ฯลฯ
ข้อ 3 ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักเกณฑ์การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 มีหลักกฎหมายว่า “บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครับ เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
คำสั่งของศาลมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถจากมาตรา 32 วรรคแรก มีดังต่อไปนี้ คือ
1 ต้องมีเหตุบกพร่อง กรณีที่จะถือว่าเป็น “เหตุบกพร่อง” นั้น อาจจะเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กายพิการ คือ ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ขาดไปหรือไม่สมประกอบ ซึ่งอาจจะเกิดแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ ขาแขนขาด หรือเป็นอัมพาตง่อยเปลี๊ยเสียขา เป็นต้น
(2) จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คือ จิตใจไม่ปกติ เป็นโรคจิตแต่ไม่ถึงกับวิกลจิต คือ มีเวลาที่รู้สึกตัว มีสติรู้สึกผิดชอบธรรมดา แต่บางครั้งก็เลอะเลือนไปบ้าง
(3) ประพฤติสุลุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หมายถึง คนที่มีนิสัยใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างไม่มีประโยชน์เกินกว่ารายได้ที่ได้รับและเป็นอาจิณคือเป็นประจำ
(4) เป็นคนติดสุรายาเมา คือ คนที่เสพสุรา หรือของมึนเมาต่างๆ เมื่อเสพไปแล้ว ก็ต้องเสพเป็นนิจ ซึ่งขาดเสียมิได้
(5) เหตุอื่นใดทำนองเดียวกันกับข้อ (1) – (4) เช่น พวกหลงใหลในสิ่งของต่างๆหรือเป็นโรคประจำตัวจนไม่สามารถทำการงานของตนเองหรือจัดการเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เป็นต้น
2. บุคคลนั้นไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เพราะเหตุบกพร่องนั้น เช่น นายดำเป็นอัมพาตอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถทำการงานของตนเองได้ เช่นนี้นายดำอาจถูกร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า แม้นายดำจะเป็นอัมพาต แต่นายดำก็สามารถขายล็อตเตอรี่หาเลี้ยงครอบครัวได้ เช่นนี้นายดำยังสามารถจัดทำการงานของตนได้ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้เป็นต้น
2 ผู้มีส่วนได้เสีย (บุคคลตามที่ระบุในมาตรา 28 ) ได้แก่ สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลอาจจะ สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้พิทักษ์ขึ้นมาดูแลตราบ ใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ บุคคลนั้นก็ยังไม่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นอย่างบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป และเมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว การเป็นคนไร้ความสามารถย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลสั่ง ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา