ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายหลักการใช้การตีความ และการอุดช่องว่างตามมาตรา 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่ามีสาระสำคัญอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายมาพอสังเขป
ธงคำตอบ
ป.พ.พ. มาตรา 4 “กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ
เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
การใช้และการตีความกฎหมายแพ่งมีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน คือ ต้องใช้และตีความตามตัวอักษรประกอบเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น กฎหมายลักษณะมรดก มาตรา 1627 บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งคำว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว” เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน
กล่าวคือ ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย เช่น การที่บิดาให้ใช้นามสกุล อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมาย หรือ เจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกแล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกนั้น หมายถึง บุตรตามความเป็นจริง กล่าวคือ แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมายแต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้ คือ
1. ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
กรณีนี้หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ
1. เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป
2. เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน
3. เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4. เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป
5. เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม2. ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน
ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
1 พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่
2 พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้
3 พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้
4 กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป
กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้
ข้อ 2 ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา และกรณีพิเศษจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตร 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และ
(2) ไม่ได้รับข่าวคราวหรือไม่มีใครพบเห็นตัว
(3) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
(4) ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น สามี ภริยา บิดามารดา ผู้สืบสันดาน ฯลฯ หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล
(5) ศาลอาจจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญส่วนกรณีพิเศษนั้นกำหนดระยะเวลาลดเหลือ 2 ปี นับแต่
(1) วันมีการรบ หรือสงครามสิ้นสุดลง หรือ
(2) วันที่เกิดยานพาหนะโดยสารไปเกิดอุบัติเหตุ อับปาง ฯลฯ
(3) หรือเหตุอื่นๆนอกจากกรณี 1) หรือ 2) และมีการตายเกิดขึ้นเพราะบุคคลดังกล่าวอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่พบตัว หรือได้รับข่าวคราว
ข้อ 3 ไก่อายุย่างเข้า 15 ปี ทำพินัยกรรมขึ้น 1 ฉบับ ยกที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตนให้แก่นางแจ๋วแหว๋วแฟนรัก ต่อมาเมื่อไก่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ได้ทำสัญญาโดยลำพังซื้อรถยนต์หนึ่งคัน ราคา 5 ล้านบาทจากโชว์รูมอาทิตย์ส่องฟ้า หลังจากนั้นเกิดเจ็บป่วยทางจิตอย่างรุนแรงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งนางแจ๋วแหว๋วภริยาเป็นผู้อนุบาล นางแจ๋วแหว๋วอยากให้สามีหายป่วยจึงอนุญาตให้ไปซื้อโฮมเธียเตอร์จากร้านนายไข่ในราคา 1 แสนบาท
(1) พินัยกรรม
(2) สัญญาซื้อรถยนต์
(3) สัญญาซื้อโฮมเธียเตอร์ซึ่งนายไก่ทำขึ้นนั้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะเว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์
มาตรา 29 การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ
มาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
วินิจฉัย
(1) พินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ เพราะไก่อายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์
(2) สัญญาซื้อรถยนต์เป็นโมฆะ เพราะผู้เยาว์ทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าฝ่าฝืนก็เป็นโมฆียะ
(3) สัญญาซื้อโฮมเธียเตอร์เป็นโมฆียะ เพราะคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆไม่ได้เลย ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน ถ้าฝ่าฝืนผลก็ย่อมเป็นโมฆียะ