การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ   ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1  กฎหมายไทยมีบ่อเกิดหรือแตกต่างจากประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศกฎหมายจารีตประเพณี  (Common  Law) หรือไม่  อย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายเอกชนมีดังนี้  คือ

1  ศีลธรรม  เป็นเหตุผลภายในซึ่งเกิดจากสติปัญญาความรู้สึกรับผิดชอบ  มนุษย์จะใช้เหตุผลความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังกล่าวมาปรับเข้ากับสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น  และศีลธรรมนั้นเมื่อมนุษย์ในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ  และติดต่อกันเป็นเวลานาน  ก็อาจกลายมาเป็นที่มาของกฎหมายได้ในที่สุด  เช่น  การที่สามีมีภริยาหลายคน  ในสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม  จึงได้นำเอาหลักศีลธรรมนั้นมาบัญญัติเป็นกฎหมาย  เช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว  จดทะเบียนสมรสซ้อนอีก หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน  ผลคือตกเป็นโมฆะ  เป็นต้น          

2  จารีตประเพณี  คือ  ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานาน  โดยปกติแล้วขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์  เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับเอากับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา  ซึ่งจารีตประเพณีนั้นในบางกรณีนำมาบัญญัติไวเป็นลายลักษณ์อักษร  หรือมีการนำมาตัดสินโดยผู้พิพากษา  หรือศาลนำมาใช้ในการตัดสินคดีก็เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาได้

จารีตประเพณีที่จะเป็นที่มาของกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1)   เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นทางปฏิบัติหรือความเคยชิน  หรือธรรมเนียม

(2)   ประชาชนเห็นต้องกันว่า  จารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  และจะต้องปฏิบัติตามตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นที่มาของกฎหมาย  เช่น  จารีตประเพณีที่ว่าบิดามารดาสามารถเฆี่ยนตีอบรมสั่งสอนบุตรได้  และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก  เป็นต้น

ศาสนา  คือ ข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาได้กำหนดขึ้น  เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติทำแต่ความดี  ละเว้นความชั่ว  การร่างกฎหมายจึงมีการนำเอาข้อห้ามของศาสนาต่างๆ  มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกัน  เช่น  ข้อห้ามในศีล  5  ของศาสนาพุทธ  อาทิห้ามประพฤติผิดในกาม  ก็คล้ายกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า  การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ  อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้  เป็นต้น

4  ความยุติธรรม  ในทางนิติปรัชญา  กฎหมายจีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมหรือความถูกต้องเป็นธรรม  การออกกฎหมายจึงต้องสอดคล้องกับความยุติธรรมด้วยเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  เช่น  ศาลในประเทศอังกฤษก็ได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมที่เรียกว่า  อิควิตี้ (Equity)  มาใช้ในการแก้ไขเยียวยาและอุดช่องว่างของกฎหมาย  ในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาในคดีก่อนๆมาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมได้

ตัวอย่างเช่น  ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนด  ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย  ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจากลูกหนี้นั้น  มีจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลอนุญาตให้เรียกค่าเสียหายที่เป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น  การที่จะมาฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ไม่ได้เป็นจำนวนเงินนั้น  ไม่มีจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาขิงศาลให้ทำได้  หากเจ้าหนี้ไม่ต้องการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย   แต่ต้องการตัวบ้าน  ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญา  ก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้  ดังนั้นศาลก็อาจจะนำเอาหลักความยุติธรรมซึ่งศาลได้คิดขึ้นมา  นำมาใช้ตัดสินคดีนั้นๆได้  โดยอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ที่เป็นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้  คือ  ให้ลูกหนี้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จได้  เป็นต้น

คำพิพากษาของศาล  ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี  (Common  Law )  เช่น  อังกฤษ  มีการนำเอาคำพิพากษาที่ได้ตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้แล้วมา เป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อๆมาต้องผูกพันตัดสินเป็นอย่างเดียวกัน  จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีก็คือบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร  เช่น  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  ไทย  ฯลฯ  จะถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น  ไม่มีผลผูกพันศาลอื่นที่จะต้องพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน  คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย

ความคิดเห็นของปราชญ์  ซึ่งอาจจะเป็นนักทฤษฎี  นักวิชาการ  หรืออาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย  หรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเคยตัดสินเอาไว้  ก็อาจนำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นใช้เป็นหลักกฎหมายได้

ตัวอย่างเช่น  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เคยมีความเห็นว่า  การที่คนไทยพกพาอาวุธไปตามถนนหลวง  ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นความผิดอาญา  น่าจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำการอย่างนั้นได้ต่อไปอีกต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา  ก็ได้นำข้อห้ามในการถืออาวุธมาใส่ไว้ในกฎหมายอาญาด้วย  เป็นต้น

ข้อตกลงระหว่างประเทศ  เมื่อประเทศต่างๆ  มาทำความตกลงหรือทำสนธิสัญญากันแล้ว  ก็จะมีทำให้ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับเทียบเท่ากฎหมายเลยทีเดียว

ส่วนนี้มิได้แตกต่างจากกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี  (Common  Law)  แต่อย่างใดแต่ที่แตกต่างคือ  คำพิพากษาของศาลที่มิใช่บ่อเกิดของกฎหมายไทย  แต่เป็นบ่อเกิดที่สำคัญของประเทศกลุ่มที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี  (Common Law)  เพราะคำพิพากษาของศาลในประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณีเมื่อพิพากษาออกมาแล้ว  ศาลต่อๆมาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีย่อมต้องผูกพันในอันที่จะต้องพิพากษาตามคดีก่อนๆ

 

ข้อ 2  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ในวันที่  1  มกราคม  พ.ศ.2540  นายไก่เดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ตลอดเวลาที่อยู่ที่โรงงานญี่ปุ่น  นายไก่และนางไข่ก็ติดต่อสื่อสารถึงกันโดยตลอด  ต่อมาโรงงานที่นายไก่ทำงานเกิดระเบิดในวันที่  1 ธันวาคม  พ.ศ. 2542  มีคนงานตายไป 10 คน  วันเดียวกันนั้นเองนายไก่ก็โทรศัพท์มาคุยกับนางไข่ว่าตนไม่อยู่ในเหตุการณ์  และหลังจากนั้นนางไข่ก็ไม่ได้รับข่าวสารจากนายไก่อีกเลย  และไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่อีกเช่นกัน

นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้เมื่อใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  61  วรรคหนึ่ง  ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ดังนั้นนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้ในกรณีธรรมดา  ตามมาตรา  61  เมื่อนายไก่

1       หายไม่ได้ข่าว  และไม่มีใครพบเห็นตัว  ติดต่อกันตลอดระยะเวลา  5  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ.2542

2       เมื่อนางไข่เป็นภริยา  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  ได้ร้องขอต่อศาลเมื่อครบ  5  ปี  คือวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2547

3       ศาลอาจจะสั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญ  การเป็นคนสาบสูญของนายไก่ก็จะเริ่มนับตั้งแต่ศาลสั่ง

เมื่อครบ  5  ปีบริบูรณ์  นางไข่จึงร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่สามีเป็นคนสาบสูญได้

 

ข้อ  3  นายใต้ทำพินัยกรรมไว้  1  ฉบับ  เมื่ออายุย่างเข้า  15  ปี  ว่าถ้าตนถึงแก่ความตายให้บ้านและที่ดินซึ่งเป็นของตนตกเป็นของนางเหนือซึ่งตนรักประดุจมารดา  ต่อมานายใต้เมื่ออายุ  20  ปี  เจ็บป่วยทางจิตและแพทย์ลงความเห็นว่าวิกลจริตได้ไปทำสัญญาซื้อรถยนต์  1  คัน  จากนายดำโดยขณะทำสัญญานายดำไม่รู้ว่านายใต้วิกลจริต  เมื่อซื้อรถยนต์ไปแล้วถูกบิดามารดาต่อว่า  นายใต้น้อยใจจึงฆ่าตัวตาย

1       พินัยกรรมที่นายใต้ทำไว้มีผลอย่างไร
2       สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายใต้และนายดำมีผลในทางกฎหมายอย่างไร


ธงคำตอบ

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ  15  ปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

1       พินัยกรรมที่นายใต้ได้ทำไว้เมื่ออายุย่างเข้า  15  ปี  มีผลเป็นโมฆะ  เพราะผู้เยาว์จะทำพินัยกรรมได้  ต้องมีอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์  (ตามมาตรา  25 และ  1703)

2       สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายใต้และนายดำทำขึ้น  มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เพราะขณะทำสัญญากันนั้น  แม้นายใต้จะวิกลจริต  แต่นายดำคู่สัญญาไม่รู้ว่าวิกลจริต  ผลของสัญญาจึงสมบูรณ์  (มาตรา  30)

Advertisement