การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายการใช้ การตีความ และการอุดช่องว่างของกฎหมายตามมาตรา 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และในเรื่องดังกล่าวมีความแตกต่างจากกฎหมายอาญาหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
ป.พ.พ. มาตรา 4 “กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ
เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
ป.อ. มาตรา 2 “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”
การอุดช่องว่างของกฎหมายนั้น ถ้าหากกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ไม่มีในการอุดช่องว่างของกฎหมายโดยดูจากจารีตประเพณี ถ้าไม่มีดูกฎหมายใกล้เคียง ถ้าหากไม่มีก็ดูกฎหมายทั่วไป ส่วนทางอาญานั้นไม่มีการอุดช่องว่างของกฎหมาย
ข้อ 2 ในการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลธรรมดาเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาและการเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตร 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้(1) บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และ
(2) ไม่ได้รับข่าวคราวหรือไม่มีใครพบเห็นตัว
(3) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
(4) ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น สามี ภริยา บิดามารดา ผู้สืบสันดาน ฯลฯ หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล
(5) ศาลอาจจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
ส่วนกรณีพิเศษนั้นกำหนดระยะเวลาลดเหลือ 2 ปี นับแต่
(1) วันมีการรบ หรือสงครามสิ้นสุดลง หรือ
(2) วันที่เกิดยานพาหนะโดยสารไปเกิดอุบัติเหตุ อับปาง ฯลฯ
(3) หรือเหตุอื่นๆนอกจากกรณี 1) หรือ 2) และมีการตายเกิดขึ้นเพราะบุคคลดังกล่าวอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่พบตัว หรือได้รับข่าวคราว
ข้อ 3 เมื่อไก่อายุย่างเข้า 15 ปี ได้ทำพินัยกรรมยกที่นา 1 แปลง ให้แก่นางสาวแดง เมื่ออายุ 18 ปี ได้ทำพินัยกรรมขึ้นอีกฉบับหนึ่งยกบ้านและที่ดินให้แก่นางสาวเขียว และเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ทำพินัยกรรมยกรถยนต์หรูราคาแพงให้แก่นางสาวเหลือง 1 คัน ครั้นอายุ 30 ปี นายไก่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางไข่ เมื่อนางไข่คลอดเด็กหญิงรวมสี นางไข่ก็ถึงแก่ความตาย นายไก่เสียใจก็ตายตามภริยา เมื่ออายุเพียง 32 ปีเท่านั้น
พินัยกรรมที่นายไก่ทำทั้งหมดมีผลในทางกฎหมายอย่างไร และเด็กหญิงรวมสีมีสิทธิได้รับทรัพย์สินดังที่กล่าวมาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”
มาตรา 1703 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”
การที่นายไก่ทำพินัยกรรมยกที่นาให้นางสาวแดงเมื่อมีอายุย่างเข้า 15 ปี จึงมีผลให้พินัยกรรมฉบับนี้เป็นโมฆะ ที่นาจึงตกเป็นของเด็กหญิงรวมสีซึ่งอยู่ในฐานะผู้สืบสันดาน เป็นทายาทโดยธรรมของนายไก่
ส่วนพินัยกรรมที่นายไก่ยกบ้านและที่ดินให้แก่นางสาวเขียว และรถยนต์ให้แก่นางสาวเหลืองนั้นสมบูรณ์ เพราะทำไปในขณะที่อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว เมื่อนายไก่ถึงแก่ความตาย บ้านและที่ดิน รถยนต์จึงตกเป็นของนางสาวเขียว และนางสาวเหลืองตามพินัยกรรม