การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายหลักกฎหมายในการอุดช่องว่างกฎหมายแพ่งมาโดยละเอียด พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย
ธงคำตอบ
ช่องว่างแห่งกฎหมาย หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้ กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อมาใช้ปรับแก่กรณีไม่พบ
โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมาย อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากในขณะที่ร่างกฎหมายนั้น ผู้ร่างกฎหมายไม่คาดคิดว่าจะมีกรณีนั้นๆเกิดขึ้นมา จึงไม่ได้บัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ หรือกรณีนั้นๆเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกมีวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนความเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจและสังคมอาจมีผลทำให้กฎหมายลายลักษณ์อักษรก้าวไม่ทันความเจริญ ก้าวหน้าในด้านต่างๆ จึงเกิดเป็นช่องว่างแห่งกฎหมายขึ้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้ คือ
1. ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
กรณีนี้หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ
1. เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป
2. เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน
3. เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4. เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป
5. เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม
ตัวอย่างเช่น จารีตประเพณีของธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
2. ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน
ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
1 พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่
2 พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้
3 พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้
4 กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ตัวอย่างเช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนำเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น
3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป
กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้
เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น
ข้อ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สภาพบุคคลย่อมสิ้นสุดลงในกรณีใดบ้าง ให้อธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายด้วย
ธงคำตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรคแรก บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสภาพบุคคลของบุคคลธรรมดานั้น ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ซึ่งการตายนั้นมีได้ 2 กรณี คือการตายตามธรรมดา และการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าเป็นการตายโดยผลแห่งกฎหมาย
1 การตายตามธรรมดา หมายถึง การที่บุคคลหมดลมหายใจ และหัวใจหยุดเต้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใดๆก็ตาม เช่น การที่บุคคลเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย เป็นต้น เพียงแต่ในปัจจุบันในทางการแพทย์นั้น ถือว่าเมื่อแกนสมองตาย ก็ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายและทำให้สภาพบุคคลสิ้นสุดลงแล้ว
2 การตายโดยการถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตามมาตรา 61 ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือ
1) การเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา ตามมาตรา 61 วรรคแรก ซึ่งจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ
1.1 บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็นหรือนับตั้งแต่วันที่บุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนาไป หรือนับแต่วันที่ได้รับข่าวคราวของบุคคลนั้นในครั้งหลังสุดเป็นต้นไป
1.2 ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง บุคคลซึ่งจะมีหรือเกิดสิทธิขึ้น เนื่องจากคำสั่งศาล เช่น สามีภริยา บิดามารดา ลูก หลาน เหลน ลื่น ฯลฯ ของผู้ที่ไปจากภูมิลำเนานั่นเอง
1.3 ศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย และทำให้สภาพบุคคลของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง
ตัวอย่าง นาย ก ได้เดินทางไปเที่ยวในต่างจังหวัด และหลังจากนั้นไม่มีบุคคลใดพบเห็นหรือทราบข่าวคราวของนาย ก อีกเลย ดังนี้ถ้าครบกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่นาย ก ได้หายไป นาง ข ซึ่งเป็นภริยาได้ร้องขอต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งให้นาย ก เป็นคนสาบสูญแล้ว ย่อมถือว่านาย ก ได้ถึงแก่ความตายโดยผลแห่งกฎหมาย และมีผลทำให้สภาพบุคคลของนาย ก สิ้นสุดลง
2) การเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ ซึ่งหลักเกณฑ์การเป็นคนสาบสูญในกรณีพิเศษนั้น ก็ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ เช่นเดียวกับการเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา เพียงแต่ตามมาตรา 61 วรรคสอง ให้นับระยะเวลาลดลงมาเหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยให้นับตั้งแต่
วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบ หรือสงครามดังกล่าว
วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางไป อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ (1) และข้อ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
ตัวอย่าง นาย ก ได้เดินทางไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างการเดินทางเรือได้เจอพายุอับปางลง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งนาย ก ด้วยที่ได้สูญหายไปโดยไม่มีใครได้รับข่าวคราวหรือพบเห็นตัวนาย ก เลย ดังนี้ ถ้านาง ข ภริยาของนาย ก จะร้องขอให้ศาลสั่งให้นาย ก เป็นคนสาบสูญ นาง ข สามารถร้องขอได้เมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เรืออับปางลง โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนด 5 ปี แต่อย่างใด
ข้อ 3 นายไก่ อายุย่าง 15 ปี ทำพินัยกรรมขึ้น 1 ฉบับ ยกเงินสดให้มูลนิธิสุนัขจรจัด 1 ล้านบาท พออายุ 20 ปีบริบูรณ์ จิตฟั่นเฟือน มารดาร้องขอต่อศาล ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และตั้งนางไข่มารดาเป็นผู้พิทักษ์ หลังจากนั้นนายไก่ให้เพื่อนยืมช้างไป 2 เชือก เพื่อไปใช้ลากซุงโดยลำพัง ผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ต่อมาอาการทางจิตของนายไก่หนักขึ้นถึงขั้นวิกลจริต นางไข่ร้องขอต่อศาล และศาลสั่งให้นายไก่เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งนางไข่เป็นผู้อนุบาล ผู้อนุบาลอนุญาตให้นายไก่ซื้อรถยนต์ 1 คัน มูลค่า 1 ล้านบาท
การทำพินัยกรรม ให้เพื่อนยืมช้าง ซื้อรถยนต์ ซึ่งนายไก่ทำขึ้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์
มาตรา 29 การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ
มาตรา 34 คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
(3) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่ามาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
วินิจฉัย
1) ตามมาตรา 25 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมนั้นเลยตามมาตรา 1703ตามปัญหา การที่นายไก่ซึ่งมีอายุย่าง 15 ปี ยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ได้ทำพินัยกรรมยกเงิน 1 ล้านบาท ให้มูลนิธิสุนัขจรจัดนั้น ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 25 ดังนั้นพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1703
2) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะตามปัญหา การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างอันเป็นสัตว์พาหนะซึ่งถือเป็นสังหาริมทรัพย์อันมีค่า โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์นั้น การให้ยืมดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 34(3) ประกอบวรรคท้าย
3) ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะตามปัญหา การที่นายไก่คนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อรถยนต์นั้น ถึงแม้การนำนิติกรรมดังกล่าวของนายไก่จะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 29
สรุป
1) การทำพินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ
2) การให้เพื่อนยืมช้างมีผลเป็นโมฆียะ
3) การซื้อรถยนต์มีผลเป็นโมฆียะ