การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002  หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  จงอธิบายหลักในการใช้และตีความกฎหมายแพ่ง  หรือกฎหมายเอกชน  มาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 4  วรรคแรก กฎหมายนั้น  ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร  หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ 

อธิบาย

กฎหมายแพ่งหรือกฎหมายเอกชน  เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน  ดังนั้น  หลักในการใช้และการตีความกฎหมายแพ่งจึงต้องใช้หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคแรก  ที่บัญญัติว่า  กฎหมายนั้น  ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร  หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ

ดังนั้น  การตีความกฎหมายแพ่งจึงใช้ทั้งตัวอักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายพร้อมๆกัน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย

ตัวอย่างเช่น  กฎหมายลักษณะมรดก  มาตรา  1627  บัญญัติว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคำว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน  กล่าวคือ  ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย  เช่น  การจดทะเบียนรับรองบุตร  หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง  

ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย  เช่น  การที่บิดาให้ใช้นามสกุล  อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน  และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมาย  หรือ เจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกแล้ว  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกนั้น  หมายถึง  บุตรตามความเป็นจริง  กล่าวคือ  แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมายแต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 ข้อ  2  นายจอก  นางจิก  เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  นายเจี๊ยบ  ในวันที่  1  มกราคม  2550  นายจอกและนายเจี๊ยบไปเที่ยวทะเลที่จังหวัดตรัง  ในวันนั้นเอง  เรือที่พ่อลูกโดยสารไปเจอพายุ  เรือล่ม  มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  วันที่  5  มกราคม  2550  พบศพนายเจี๊ยบ  แต่ไม่มีใครพบเห็นตัว  หรือได้รับข่าวจากนายจอกเลย

1)    นางจิก  จะร้องขอให้นายจอกและนายเจี๊ยบ  เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่
2)    เป็นคนสาบสูญกรณีใด  และครบกำหนดเมื่อใด  วันเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเป็นวันใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  15  วรรคแรก  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ  ตามมาตรา  61  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังนี้คือ

1        ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2        ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา นับจากวันที่บุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  หรือกรณีพิเศษ  ติดต่อกันเป็นเวลา  2  ปีนับแต่(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

3        ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4        ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญกรณีตามอุทาหรณ์

1)    นางจิกจะร้องขอให้นายจอกและนายเจี๊ยบเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่าตามกฎหมายบุคคลที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ  บุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นพนักงานอัยการ

กรณีนายจอก  เมื่อนางจิกและนายจอกเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นางจิกจึงมีฐานะเป็นคู่สมรสอันถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายจอกสามีเป็นคนสาบสูญได้

กรณีนายเจี๊ยบ  เมื่อได้ความว่า  ภายหลังจากที่เจอพายุ  เรือล่ม  ได้พบศพนายเจี๊ยบแล้ว  กรณีจึงถือว่านายเจี๊ยบได้สิ้นสุดสภาพบุคคล  คือ  ตายแล้วตามมาตรา  15  นางจิกจึงร้องขอให้นายเจี๊ยบเป็นคนสาบสูญไม่ได้

2)    เมื่อได้ความว่า  ในวันที่  1  มกราคม  2550  นายจอกได้ไปเที่ยวทะเลที่จังหวัดตรัง  ระหว่างเดินทางเรือที่นายจอกโดยสารเจอพายุเรือล่ม  มีคนบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  แต่ไม่มีใครพบเห็นตัวหรือได้รับข่าวหรือได้รับการติดต่อจากนายจอกอีกเลย  กรณีจึงถือว่านายจอกได้หายไปจากถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  นับแต่วันที่เรือซึ่งเป็นยานพาหนะที่นายจอกนั้นเดินทางอับปาง  อันเป็นเรื่องของการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษตามมาตรา  61  วรรคสอง  (2)

สำหรับวันครบกำหนด  เมื่อเป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  มีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง  เมื่อปรากฏว่าเรือเจอพายุอับปางในวันที่  1  มกราคม  2550  วันที่ครบกำหนด  2  ปี  คือวันที่  1  มกราคม  2552  และเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  2  มกราคม  2552  เป็นต้นไป

สรุป

1)    นางจิกร้องขอให้นายเจี๊ยบเป็นคนสาบสูญไม่ได้  แต่ร้องขอให้นายจอกเป็นคนสาบสูญได้

2)    เป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  วันครบกำหนด คือ  วันที่  1  มกราคม  2552  และเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่  2  มกราคม  2552  เป็นต้นไป

 

ข้อ  3  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

1)    ไก่อายุ  18  ปีบริบูรณ์  ถอนเงินส่วนตัว  6  แสนบาทเพื่อไปซื้อรถยนต์  1  คัน  มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้นิติกรรมที่ทำขึ้นสมบูรณ์

2)    ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมแหวนไปใช้ในงานแต่งงานโดยลำพัง  การให้ยืมแหวนเพชร  มีผลอย่างไร

3)    ขวดคนไร้ความสามารถ  ได้รับอนุญาตจากนางขิมผู้อนุบาลให้ไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายดำ  มูลค่า  4  หมื่นบาท

4)    นางขิงคนวิกลจริตไปซื้อตู้เย็นจากนายข่าในขณะกำลังวิกลจริต  แต่นายข่าไม่ทราบว่านางขิงวิกลจริต

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา 34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3)   กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่าวินิจฉัย

1)    ตามมาตรา  21  นั้น  กฎหมายได้วางหลักไว้ว่าผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ได้ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะ  เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเอง  และมีผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

ตามปัญหา  การที่ไก่ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ถอนเงินส่วนตัว  6  แสนบาท  เพื่อไปซื้อรถยนต์นั้น  เมื่อนิติกรรมซื้อขายรถยนต์  ไม่ใช่นิติกรรมที่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเอง  เพราะไม่ใช่นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว  ดังนั้นถ้าจะให้นิติกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์  ไก่จะต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน  จึงจะทำนิติกรรมนั้นได้

2)    โดยทั่วไป  คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ได้โดยลำพังตนเอง  และมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา  34  ที่คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา  การที่ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ให้เพื่อนยืมแหวนเพชรโดยลำพังคือ  โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์นั้น  เมื่อการให้ยืมแหวนเพชรเป็นนิติกรรมที่ไม่เข้าข้อยกเว้นของมาตรา  34(3)  เพราะไม่ใช่การให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า  (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอน  ต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่)  ดังนั้น  ไข่คนเสมือนไร้ความสามารถจึงสามารถทำได้โดยลำพังตนเองและมีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆียะ

3)    ตามมาตรา  29  กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆทั้งสิ้น  ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม  ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม  นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา  การที่ขวดคนไร้ความสามารถไปทำนิติกรรมโดยการไปซื้อโทรทัศน์จากร้านของนายดำ  ดังนี้แม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของขวดคนไร้ความสามารถจะได้รับอนุญาต  คือได้รับความยินยอมจากนางขิมผู้อนุบาลก็ตาม  นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆียะ

4)    โดยหลักของมาตรา  30  คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา  การที่นางขิงคนวิกลจริตได้ไปซื้อตู้เย็นจากนายข่าในขณะกำลังวิกลจริต  แต่เมื่อนายข่าไม่ทราบว่านางขิงเป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายตู้เย็นระหว่างนางขิงและนายข่าจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ

สรุป

1)    ไก่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ที่ทำขึ้นจึงจะมีผลสมบูรณ์

2)    นิติกรรมการให้ยืมแหวนเพชรมีผลสมบูรณ์

3)    นิติกรรมการซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างขวดกับนายดำมีผลเป็นโมฆียะ

4)    นิติกรรมการซื้อขายตู้เย็นระหว่างนางขิงกับนายข่ามีผลสมบูรณ์

Advertisement