การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  จงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิ  มาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

บุคคลสิทธิ  คือ  สิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคล  มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สิน  ซึ่งในกฎหมายลักษณะหนี้  เรียกว่า  “สิทธิเรียกร้อง”  สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิที่จะบังคับเอากับลุกหนี้  ทายาท  หรือผู้สืบสิทธิของลูกหนี้เท่านั้น

ทรัพยสิทธิ  คือ  สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน  หรือ  สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินโดยตรง  เช่น  กรรมสิทธิ์  สิทธิครอบครอง  สิทธิอาศัย  ภาระจำยอม  ลิขสิทธิ์  สิทธิในเครื่องหมายการค้า  เป็นต้น

ข้อแตกต่างระหว่างสิทธิและทรัพยสิทธิ  มีดังนี้

ก)      ทรัพยสิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน  ส่วนบุคคลสิทธิมีวัตถุแห่งมิทธิที่เกิดจากนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายลักษณะหนี้  กล่าวคือ เป็นสิทธิที่เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยการกระทำการ  งดเว้น  กระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้

ข)      ทรัพยสิทธิเกิดขึ้นโดยผลแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย  ส่วนบุคคลสิทธิเกิดสิทธิขึ้นโดยผลของนิติกรรมสัญญาหรือนิติเหตุ

ค)      ทรัพยสิทธิใช้ยันหรือก่อให้เกิดหน้าที่กับบุคคลทั่วไป  ส่วนบุคคลสิทธิใช้ยันหรือก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลที่เป็นลูกหนี้เท่านั้น

ง)       ทรัพย์ สิทธิที่เกิดขึ้นและมีอยู่อย่างถาวรไม่สิ้นสุดลงไปเพราะการไม่ใช้สิทธินั้น ส่วนบุคคลสิทธิย่อมสิ้นไปเพราะการไม่ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาหรืออายุความที่ กฎหมายกำหนด

 

ข้อ  2  นายไก่และนาไข่ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  คือ  นายดำและนายแดง  ปิดเทอมภาคฤดูร้อนนายแดงได้ไปบำเพ็ญประโยชน์ออกค่ายสร้างโรงเรียนกับชมรมรักถิ่นเกิดจังหวัดชุมพร  ในวันที่  1  เมษายน  2549  เกิดพายุโคลนถล่มหมู่บ้านซึ่งนายดำ  นายแดง  และเพื่อนๆไปออกค่ายมีคนสูญหายและตายไปหลายคนในวันเกิดเหตุนั้นเอง  นายดำได้โทรศัพท์มาแจ้งบิดามารดาทราบว่า  นายแดงน้องชายได้หายไป  แต่นายไก่และนางไข่ไม่อยู่บ้าน  จึงไม่ทราบข่าว ในวันที่  5  เมษายน  2549  จึงทราบข่าว  ติดต่อกับนายดำได้เพิ่งจะทราบว่านายแดงหายตัวไปกับโคลนถล่ม  ตั้งแต่วันที่  1  เมษายน  หลังจากนั้นนายไก่และนางไข่ก็ไม่ได้รับข่าวคราวจากนายดำและนายแดงอีกเลย

1)       นายไก่และนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายดำและนายแดงเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่เพราะเหตุใด

2)       ถ้าได้  นายไก่และนางไข่จะไปร้องขอต่อศาลได้เมื่อใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตร  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีของนายแดง

ตามอุทาหรณ์  นายดำพี่ชายของนายแดง  ซึ่งร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย  ได้โทรศัพท์มาแจ้งให้นายไก่และนางไข่ซึ่งเป็นบิดามารดาทราบว่านายแดงน้องชายหายไป  ในวันที่  1  มกราคม  2549  แต่ทั้งสองไม่อยู่บ้าน  จึงไม่ทราบข่าวในวันนั้น  เพิ่งมาทราบข่าวจากนายดำเมื่อวันที่  5  เมษายน  2549  ว่านายแดงหายไปในเหตุการณ์โคลนถล่ม  ตั้งแต่วันที่  1  เมษายนต์  2549  หลังจากนั้นก็ไม่ได้ข่าวคราวของนายดำและนายแดงอีกเลย  ดังนี้ถือว่า  เป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ

การที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  ตามมาตรา  61  วรรคสอง  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1         ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2         ติดต่อกันเป็นเวลา  5  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามวรรคแรก  หรือ  2  ปี  สำหรับกรณีสาบสูญพิเศษในเห๖การณ์ที่ระบุไว้ในวรรคสอง  (1) – (3)

3         ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4         ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

นายไก่และนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ  เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้

ส่วนจะร้องขอต่อศาลได้หรือไม่นั้น  เห็นว่า  เมื่อเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  มีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี นับแต่วันที่โคลนถล่มมิใช่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบข่าวการสูญหาย  ดังนั้นนายไก่และนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้ในวันที่  2  เมษายน  2551  ตามมาตรา  61  วรรคสอง(3)

กรณีของนายดำ

ตามอุทาหรณ์  ในวันที่ 5  เมษายน  2549  นายไข่และนางไก่ยังสามารถติดต่อกับนายดำได้  แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับข่าวคราวนายดำอีกเลย  ดังนี้ไม่ถือว่านายดำอยู่ในเหตุอันตรายแก่ชีวิต  แต่เป็นเหตุที่นายดำหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครทราบแน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เป็นกรณีสาบสูญธรรมดา  ตามมาตรา  61  วรรคแรก  มิใช่การสาบสูญกรณีพิเศษเช่นเดียวกับนายแดง

นายไก่และนางไข่ไม่สามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายดำเป็นคนสาบสูญได้  เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและจะร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  5  ปี นับแต่วันที่นายดำหายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครพบตัวหรือได้รับข่าวคราวเลยกล่าวคือ  ครบ  5  ปีในวันที่  5 เมษายน  2554  จึงร้องขอได้ในวันที่  6  เมษายน  2554

สรุป    1 )  นายไก่และนางไข่ร้องขอได้  เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะบิดามารดา

2 )   กรณีนายแดง  ร้องขอได้ในวันที่  2  เมษายน  2551

กรณีนายดำ  ร้องขอได้ในวันที่  6  เมษายน  2554


ข้อ  3
  บุคคลต่อไปนี้ทำนิติกรรม   ดังกล่าวต่อไปนี้  จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร1)     นายไก่อายุ  15  ปีบริบูรณ์ถอนเงินส่วนตัวจำนวน  1  ล้านบาท  ซื้อรถยนต์  1  คันจากนายไข่  โดย      ลำพัง

2)    นายไก่อายุ  20  ปีบริบูรณ์  คนเสมือนไร้ความสามารถ ให้เพื่อนชาวฝรั่งเศสยืมเครื่องบินเล็กมูลค่า  12     ล้านบาทไปใช้ในระหว่างท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย  โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้พิทักษ์

3)       นายไก่อายุ  20  ปี บริบูรณ์ คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมยกที่ดิน  1  แปลงให้แก่มูลนิธิหญิงชราโดยได้รับความยินยอมจากนางไข่ผู้อนุบาล

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3)     กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

มาตรา  1704  วรรคแรก  พินัยกรรม ซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

1)       เป็นโมฆะ  เพราะผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  หากฝ่าฝืน  ผลทางกฎหมายคือ  เป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  21

2)       คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆย่อมสมบูรณ์  เว้นแต่การทำนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  34  ซึ่งจำกัดไว้  11  ประการ  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะสมบูรณ์  การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมเครื่องบินเล็กมูลค่า  12  ล้านบาท  อันเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา  ไม่ใช่การยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่าตามมาตรา  34 (3)  นิติกรรมดังกล่าวของนายไก่จึงมีผลสมบูรณ์

3)       โดยหลักกฎหมายแล้ว  คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้นตามมาตรา  29  แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม  เว้นแต่การทำพินัยกรรม  ซึ่งจะมีผลเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1704  วรรคแรก  ดังนั้นพินัยกรรมที่นายไก่ทำขึ้นมาจึงตกเป็นโมฆะ

Advertisement