การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 จงบอกที่มาของกฎหมายมาโดยถูกต้องและครบถ้วน
ธงคำตอบ
ที่มาของกฎหมายเอกชนมีดังนี้ คือ
1 ศีลธรรม เป็นเหตุผลภายในซึ่งเกิดจากสติปัญญาความรู้สึกรับผิดชอบ มนุษย์จะใช้เหตุผลความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังกล่าวมาปรับเข้ากับสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น และศีลธรรมนั้นเมื่อมนุษย์ในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ และติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจกลายมาเป็นที่มาของกฎหมายได้ในที่สุด เช่น การที่สามีมีภริยาหลายคน ในสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม จึงได้นำเอาหลักศีลธรรมนั้นมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว จดทะเบียนสมรสซ้อนอีก หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน ผลคือตกเป็นโมฆะ เป็นต้น
2 จารีตประเพณี คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์ เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับเอากับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา ซึ่งจารีตประเพณีนั้นในบางกรณีนำมาบัญญัติไวเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีการนำมาตัดสินโดยผู้พิพากษา หรือศาลนำมาใช้ในการตัดสินคดีก็เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาได้
จารีตประเพณีที่จะเป็นที่มาของกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นทางปฏิบัติหรือความเคยชิน หรือธรรมเนียม
(2) ประชาชนเห็นต้องกันว่า จารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจะต้องปฏิบัติตาม ตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นที่มาของกฎหมาย เช่น จารีตประเพณีที่ว่าบิดามารดาสามารถเฆี่ยนตีอบรมสั่งสอนบุตรได้ และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก เป็นต้น
3 ศาสนา คือ ข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาได้กำหนดขึ้น เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว การร่างกฎหมายจึงมีการนำเอาข้อห้ามของศาสนาต่างๆ มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกัน เช่น ข้อห้ามในศีล 5 ของศาสนาพุทธ อาทิห้ามประพฤติผิดในกาม ก็คล้ายกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้ เป็นต้น
4 ความยุติธรรม ในทางนิติปรัชญา กฎหมายจีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมหรือความถูกต้องเป็นธรรม การออกกฎหมายจึงต้องสอดคล้องกับความยุติธรรมด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี เช่น ศาลในประเทศอังกฤษก็ได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมที่เรียกว่า อิควิตี้ (Equity) มาใช้ในการแก้ไขเยียวยาและอุดช่องว่างของกฎหมาย ในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาในคดีก่อนๆมาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมได้
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจากลูกหนี้นั้น มีจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลอนุญาตให้เรียกค่าเสียหายที่เป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น การที่จะมาฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ไม่ได้เป็นจำนวนเงินนั้น ไม่มีจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาขิงศาลให้ทำได้ หากเจ้าหนี้ไม่ต้องการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย แต่ต้องการตัวบ้าน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญา ก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้นศาลก็อาจจะนำเอาหลักความยุติธรรมซึ่งศาลได้คิดขึ้นมา นำมาใช้ตัดสินคดีนั้นๆได้ โดยอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ที่เป็นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ คือ ให้ลูกหนี้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จได้ เป็นต้น
5 คำพิพากษาของศาล ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law ) เช่น อังกฤษ มีการนำเอาคำพิพากษาที่ได้ตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้แล้วมา เป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อๆมาต้องผูกพันตัดสินเป็นอย่างเดียวกัน จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีก็คือบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย
ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ไทย ฯลฯ จะถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันศาลอื่นที่จะต้องพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย
6 ความคิดเห็นของปราชญ์ ซึ่งอาจจะเป็นนักทฤษฎี นักวิชาการ หรืออาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย หรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเคยตัดสินเอาไว้ ก็อาจนำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นใช้เป็นหลักกฎหมายได้
ตัวอย่างเช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เคยมีความเห็นว่า การที่คนไทยพกพาอาวุธไปตามถนนหลวง ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นความผิดอาญา น่าจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำการอย่างนั้นได้ต่อไปอีกต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา ก็ได้นำข้อห้ามในการถืออาวุธมาใส่ไว้ในกฎหมายอาญาด้วย เป็นต้น
7 ข้อตกลงระหว่างประเทศ เมื่อประเทศต่างๆ มาทำความตกลงหรือทำสนธิสัญญากันแล้ว ก็จะมีทำให้ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับเทียบเท่ากฎหมายเลยทีเดียว
ข้อ 2 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 มีการจัดงานวันแห่งความรักขึ้นที่สนามกีฬาแห่งหนึ่ง เกิดการชุลมุนวุ่นวายขึ้นเพราะตกใจเสียงระเบิด และไฟไหม้รถยนต์ที่จอดบริเวณนั้น ทำให้เกิดการเหยียบกันบาดเจ็บและตายเป็นจำนวนมาก นายไก่และนางไข่ซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หลังจากเหตุการณ์สงบลง นายไก่ได้โทรมาหานายขวดลูกชายโดยบอกว่า นางไข่หายไปกำลังเดินหาอยู่ หลังจากนั้นนายขวดก็ไม่ได้รับข่าวและไม่เห็นนายไก่และนางไข่อีกเลย ดังนี้ นายขวดจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และเมื่อใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตร 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
วินิจฉัย
1 นายขวดจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้สืบสันดาน
2 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 เกิดเหตุโกลาหล นางไข่และนายไก่ สามีภริยาอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเป็นกรณีตามมาตรา 61 วรรคสอง (3) หลังจากเหตุการณ์สงบลงนายไก่โทรมาหานายขวดลูกชาย แสดงว่านายไก่ไม่ได้สูญหายหรือตายในเหตุการณ์ดังกล่าว จึงต้องแบ่งเป็น 2 กรณีคือ (1) กรณีนางไข่ นายขวดจะต้องรอให้ครบ 2 ปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นกรณีสาบสูญกรณีพิเศษ
(2) กรณีนายไก่บิดา นายขวดจะต้องรอให้ครบ 5 ปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544
ดังนั้นนายขวดจึงร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 และร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นางไข่ เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546
ข้อ 3 ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง และถ้าศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ศาลจะตั้งใครให้เป็นผู้ดูแลบุคคลดังกล่าว
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 มีหลักกฎหมายว่า “บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครับ เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
คำสั่งของศาลมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถจากมาตรา 32 วรรคแรก มีดังต่อไปนี้ คือ
1 ต้องมีเหตุบกพร่อง กรณีที่จะถือว่าเป็น “เหตุบกพร่อง” นั้น อาจจะเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้(1) กายพิการ คือ ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ขาดไปหรือไม่สมประกอบ ซึ่งอาจจะเกิดแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ ขาแขนขาด หรือเป็นอัมพาตง่อยเปลี๊ยเสียขา เป็นต้น
(2) จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คือ จิตใจไม่ปกติ เป็นโรคจิตแต่ไม่ถึงกับวิกลจิต คือ มีเวลาที่รู้สึกตัว มีสติรู้สึกผิดชอบธรรมดา แต่บางครั้งก็เลอะเลือนไปบ้าง
(3) ประพฤติสุลุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หมายถึง คนที่มีนิสัยใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างไม่มีประโยชน์เกินกว่ารายได้ที่ได้รับและเป็นอาจิณคือเป็นประจำ
(4) เป็นคนติดสุรายาเมา คือ คนที่เสพสุรา หรือของมึนเมาต่างๆ เมื่อเสพไปแล้ว ก็ต้องเสพเป็นนิจ ซึ่งขาดเสียมิได้
(5) เหตุอื่นใดทำนองเดียวกันกับข้อ (1) – (4) เช่น พวกหลงใหลในสิ่งของต่างๆหรือเป็นโรคประจำตัวจนไม่สามารถทำการงานของตนเองหรือจัดการเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เป็นต้น
- บุคคลนั้นไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เพราะเหตุบกพร่องนั้น เช่น นายดำเป็นอัมพาตอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถทำการงานของตนเองได้ เช่นนี้นายดำอาจถูกร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า แม้นายดำจะเป็นอัมพาต แต่นายดำก็สามารถขายล็อตเตอรี่หาเลี้ยงครอบครัวได้ เช่นนี้นายดำยังสามารถจัดทำการงานของตนได้ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้เป็นต้น
3 ผู้มีส่วนได้เสีย (บุคคลตามที่ระบุในมาตรา 28 ) ได้แก่ สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลอาจจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้ พิทักษ์ขึ้นมาดูแลตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ บุคคลนั้นก็ยังไม่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นอย่างบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป และเมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว การเป็นคนไร้ความสามารถย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลสั่ง ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา