การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  จงอธิบายถึงหลักในการตีความกฎหมายแพ่งมาโดยถูกต้องและครบถ้วน  พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายด้วย

ธงคำตอบ

การตีความกฎหมายแพ่ง  (หรือการตีความกฎหมายเอกชน)  มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง  คือ  ต้องตีความตามตัวอักษรประกอบเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ตัวอย่างเช่น  กฎหมายลักษณะมรดก  มาตรา  1627  บัญญัติว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งคำว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน  กล่าวคือ  ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย  เช่น  การจดทะเบียนรับรองบุตร  หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย

เช่น  การที่บิดาให้ใช้นามสกุล  อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน  และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมาย  หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกแล้ว  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกนั้น  หมายถึง  บุตรตามความเป็นจริง  กล่าวคือ  แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมาย  แต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

การตีความตามตัวอักษร  แบ่งออกเป็น

1       ศัพท์ธรรมดา  ที่มีความหมายเป็นธรรมดาทั่วไป  เช่นคำว่า  บุตร  บิดามารดา  ฯลฯ

2       ศัพท์เฉพาะ  ที่มีความหมายทางเทคนิค  หรือทางวิชาการ  เช่น  คำที่อยู่ในตำรา  กฎหมาย  บทความ  ฯลฯการตีความตามเจตนา  พิจารณาจาก

1       ที่มา  หรือประวัติความเป็นมาของกฎหมาย

2       ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย

3       ถ้อยคำของกฎหมาย

4       สถานการณ์ในขณะที่บัญญัติกฎหมายนั้น  รวมทั้งรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ



ข้อ   2  นายภาสกรเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของนายภานุมาศซึ่งหายไปจากบ้านที่อยู่โดยไม่มีใครพบเห็นหรือได้รับข่าวคราวเป็นเวลา  15  เดือนแล้ว  นายภาสกรจึงทำการขายรถยนต์ยี่ห้อ  HONDA  ของนายภานุมาศและซื้อบ้านพร้อมที่ดินราคา  10  ล้านบาทให้แก่ภรรยานายภานุมาศด้วย  อยากทราบว่าในการทำนิติกรรมทั้ง  2  อย่างของนายภาสกรมีผลในกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย

มาตรา  48  วรรค  2  เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไป  1  ปี  นับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี  หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็น  หรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี  เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้

มาตรา  54  ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ตามมาตรา  801  และมาตรา  802

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

(1) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

(2) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

(3) ให้

(4) ประนีประนอมยอมความ

(5) ยื่นฟ้องต่อศาล

(6) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัย

หลักกฎหมายเรื่องตัวแทนเกี่ยวกับผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ซึ่งหมายความรวมถึงผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ด้วยนั้น  ตามปกติผู้จัดการทรัพย์สินย่อมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินแทนผู้ไม่อยู่ได้ทุกประการ  ยกเว้นกิจการบางอย่างที่ต้องขออนุญาตต่อศาลก่อนจึงจะมีสิทธิทำได้ ตามมาตรา  801  ประกอบกับมาตรา  54  โดยนายภาสกร  เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของนายภานุมาศ  ซึงตามกฎหมายเรื่องสาบสูญยังถือว่านายภานุมาศเป็นเพียงผู้ไม่อยู่เท่านั้น  เนื่องจากระยะเวลายังอยู่ในกำหนดมาตรา 48  วรรค  2  อยู่  ดังนั้นตามปัญหาดังกล่าวนายภาสกรสามารถขายรถยนต์ยี่ห้อ  HONDA  ของนายภานุมาศได้เพราะเป็นการขายสังหาริมทรัพย์  (ไม่ใช่ขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา  801(1) )  อีกทั้งยังสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินราคา  10  ล้านบาท  ให้ภรรยานายภานุมาศได้เช่นกันเพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้

สรุป  การขายรถยนต์ยี่ห้อ  HONDA  และการซื้อบ้านพร้อมที่ดินที่นายภาสกรได้กระทำลงไปนั้นมีผลสมบูรณ์ทุกประการ

 

ข้อ  3  นายไก่อายุ  17  ปีบริบูรณ์  ได้รับอนุญาตจากนายเป็ดและนางปลาให้ประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร  หลังจากนั้นการทำธุรกิจของนายไก่รุ่งเรืองดี  จึงต้องการจะทำนิติกรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้โดยลำพัง  นายไก่มีสิทธิจะทำได้หรือไม่  และมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

1       ซื้อบ้านและที่ดินเพื่อใช้เป็นเรือนหอ

2       จดทะเบียนสมรสกับนางสาวจุ๋มจิ๋มแฟนสาว

3       ซื้อเครื่องถ่ายเอกสารประสิทธิภาพสูง  ราคา  1  ล้านบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  19  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์  และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้กระทำลงโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  27  ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น  หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้

ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจ  หรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่ง  ให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว

วินิจฉัย

นายไก่อายุ  17  ปี  ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  จึงเป็นผู้เยาว์อยู่เพราะอายุยังไม่ครบ  20  ปีบริบูรณ์ (มาตรา 19 )  โดยหลักแล้วจะทำนิติกรรมต่างๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (มาตรา  21  ดังนั้น)

1       หากนายไก่ต้องการจะซื้อบ้านและที่ดิน  ต้องได้รับความยินยอมจากนายเป็ดและนางปลา  บิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินจึงจะสมบูรณ์  ถ้าฝ่าฝืนผลจะเป็นโมฆียะ (มาตรา 21)

2       การจดทะเบียนสมรส  เมื่อนายไก่อายุครบ  17  ปีบริบูรณ์  จะสมรสก็ต้องได้รับความความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนจึงจะจดทะเบียนสมรสได้ (มาตรา 19 , 21)

3       นายไก่ได้รับอนุญาตจากนายเป็ดและนางปลาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมให้เปิดร้านรับถ่ายเอกสาร  ทำให้นายไก่บรรลุนิติภาวะในเรื่องรับถ่ายเอกสาร  ดังนั้นเมื่อนายไก่จะซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร  1  ล้านบาทนายไก่ก็มีสิทธิทำได้โดยลำพัง  (มาตรา  27)

Advertisement