การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา 2545

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ 25  คะแนน)

ข้อ 1  ก.  การตีความกฎหมายแพ่ง  มีความแตกต่างกับการตีความกฎหมายอาญาอย่างไร

ข  สิทธิตามกฎหมายเอกชนคืออะไร  สิทธิตามกฎหมายเอกชนมีบ่อเกิดจากอะไรบ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ก. การตีความกฎหมายแพ่งมีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่งคือ  ต้องตีความตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมายพร้อมกันไป  โดยมีหลักในการตีความดังนี้

1  การตีความตามตัวอักษร  ต้องพิจารณาความหมายของตัวอักษรว่ามีความหมายอย่างไร  ถ้อยคำหรือคำศัพท์ของตัวอักษรนั้นเป็นศัพท์ธรรมดาหรือศัพท์ทางวิชาการ  เมื่อได้ความหมายของตัวอักษรแล้วจึงพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ประกอบต่อไป

 2 การตีความตามเจตนา  พิจารณาจาก

1       ที่มา  หรือประวัติความเป็นมาของกฎหมาย

2       ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย

3       ถ้อยคำของกฎหมาย

4       สถานการณ์ในขณะที่บัญญัติกฎหมายนั้น  รวมทั้งรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ

ส่วนการตีความกฎหมายอาญานั้น  จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด  คือจะต้องพิจารณาตามตัวอักษร  โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  2  บัญญัติว่า  บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญา  ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น  บัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  ดังนั้น  การใช้กฎหมายอาญาจึงต้องพิจารณาจากตัวอักษรโดยไม่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด  ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  ก็จะเอาโทษทางอาญาและลงโทษบุคคลนั้นไม่ได้

ข. สิทธิตามกฎหมายเอกชน  คือ  สิทธิที่เอกชนมีต่อกันเอง  กล่าวคือเป็นสิทธิที่เอกชนคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือบุคคลอื่นในฐานะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินก็ดี  หรือผู้เป็นเจ้าหนี้ก็ดี  มีอำนาจที่จะบังคับให้บุคคลอื่นซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้มีหน้าที่ชำระหนี้โดยการกระทำการ  งดเว้นกระทำการ  หรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ตน

สิทธิตามกฎหมายเอกชนมีบ่อเกิด 5 ทางด้วยกันคือ

1 นิติกรรมสัญญา

2  ละเมิด

3  จัดการงานนอกสั่ง

4  ลาภมิควรได้

5  บทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

ข้อ  2  จงอธิบายว่า  การตายพร้อมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล (มาตรา 17 ) นั้น หมายความว่าอย่างไร  มาโดยถูกต้องและครบถ้วน

ธงคำตอบ

มาตรา  17  บัญญัติว่า  ในกรณีที่บุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน  ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง  ให้ถือว่าตายพร้อมกัน

มาตรา  17  ต้องการแก้ไขปัญหาในกรณีไม่แน่ชัดว่าใครตายก่อนหรือหลัง  ในเหตุภยันตรายเดียวกัน  ซึ่งอาจก่อปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการรับมรดกได้  เพรากฎหมายเรื่องรับมรดกได้กำหนดให้คนตายทีหลังได้มรดกของคนตายก่อน  ดังนั้นเมื่อกำหนดให้ตายพร้อมกัน  หากเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดผลคือไม่มีใครรับมรดกใครได้เลย

แต่การตายตามมาตรา  17  จะถือว่าเป็นการตายพร้อมกันเมื่อครบเงื่อนไข 2 ประการคือ

1       บุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน  ตัวอย่างเช่น  การเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารลำเดียวกันแล้วเกิดเหตุเครื่องบินตก

2       ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่า  ใครตายก่อนตายหลัง  ตัวอย่างเช่น เมื่อเครื่องบินตกและมีการเข้าไปช่วยเหลือในภายหลังมีภยันตรายแล้วปรากฏว่าผู้โดยสารตายหมดแล้ว

 

ข้อ 3  นายไก่เป็นคนร่างกายพิการมาแต่กำเนิด มีอาชีพขายล็อตเตอรี่เลี้ยงชีพ  เมื่อมีอายุย่างเข้า 15 ปี  ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน  1  แปลง ให้แก่จุ๋มจิ๋มคนที่ตนหลงรัก  หลังจากนั้นเมื่อมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ ได้จดทะเบียนสมรสกับนางไข่  และมีลูกด้วยกัน 1 คน  คือนางสาวเป็ด เมื่อนางสาวเป็ดเรียนจบมหาวิทยาลัย  รู้สึกอับอายที่บิดาหาเลี้ยงครอบครัวโดยขายล็อตเตอรี่  บอกให้เลิกก็ไม่เลิก  ต้องการจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่บิดาของตนเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และถ้านายไก่ถึงแก่กรรม  พินัยกรรมที่นายไก่ทำไว้  จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์

มาตรา  1703  พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  28  บุคคลวิกลจริตผู้ใด  ถ้าคู่สมรสก็ดี  ผู้บุพการี  กล่าวคือ  บิดามารดา  ปู่ย่าตายาย  ทวดก็ดี  ผู้สืบสันดาน  กล่าวคือ  ลูกหลานเหลนลื่อก็ดี  ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี  ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี  หรือพนักงานอัยการก็ดี  ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ  ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

มาตรา  32  วรรคแรก  บัญญัติว่า  บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  หรือติดสุรายาเมา  หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้นจนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้  หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา  28  ร้องขอต่อศาล  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

วินิจฉัย

นายไก่ทำพินัยกรรมเมื่อมีอายุยังไม่ครบ  15  ปีบริบูรณ์  ผลจึงเป็นโมฆะ (มาตรา 25, 1703 )

นางสาวเป็ดลูกสาวจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่บิดาของตนเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้  เพราะแม้นายไก่จะเป็นคนที่ร่างกายพิการ  แต่สามารถจัดทำการงานโดยตนเองได้และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัวแต่อย่างใด  ทำให้นางสาวเป็ดจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้ (มาตรา 28 , 32)

ดังนั้นพินัยกรรมที่นายไก่ทำขึ้นเป็นโมฆะ  และนางสาวเป็ดจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้

Advertisement