ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 การตีความกฎหมายคืออะไร และจงอธิบายหลักในการตีความกฎหมายแพ่งมาโดยถูกต้อง พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย
ธงคำตอบ
“การตีความกฎหมาย” คือ การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคำของกฎหมายนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายนั้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ต้องการวินิจฉัยได้ต่อไป
“หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง” มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น โดยแยกได้ดังนี้ คือ
1. การตีความตามอักษร ซึ่งจะต้องตีความทั้งศัพท์ธรรมดาที่มีความหมายเป็นธรรมดาทั่วไป เช่น คำว่า บุตร บิดา ฯลฯ และศัพท์เฉพาะที่มีความหมายทางเทคนิคหรือทางวิชาการ เช่น คำที่อยู่ในตำรากฎหมายหรือบทความทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อจะได้รับทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ
2. การตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ทางกฎหมาย จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้น ๆ หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้น ๆ ด้วย
ตัวอย่างเช่น กฎหมายลักษณะมรดก มาตรา 1627 บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งคำว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว” เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน กล่าวคือ ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย เช่น การจดทะเบียนการรับรองบุตร หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย เช่น การที่บิดาให้ใช้นามสกุล อุปการะ
เลี้ยงดูให้การ ศึกษาและเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของ กฎหมายลักษณะมรดกแล้ว จะเห็นได้ว่า กฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับ มรดกนั้น หมายถึง บุตรตามความเป็นจริง กล่าวคือ แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมายแต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับ มรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2552 นายไสวนอนหลับอยู่ในบ้าน ปรากฏว่ามีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากภูเขาพัดเอาบ้านพร้อมกับนายไสวหายไปกับสายน้ำและไม่มีใครทราบว่านายไสวเป็นตายร้ายดีอย่างไร ทั้งนี้ นายไสวมีภริยาแล้วชื่อนางสว่าง อยากทราบว่า
1 นางสว่างจะร้องขอต่อศาลให้นายไสวเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่
2 นางสว่างจะร้องขอต่อศาลให้นายไสวเป็นคนสาบสูญ กรณีปกติ หรือกรณีพิเศษ
3 นางสว่างจะร้องขอให้นายไสวเป็นคนสาบสูญได้ตั้งแต่เมื่อใด อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
(2) นับแต่วันที่พาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสาบสูญหายไป
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ
1. นาง สว่างจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไสวเป็นคนสาบสูญหรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมายบุคคลที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญจะต้องเป็น ผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นพนักงานอัยการเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายไสวกับ นางสว่างเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นางสว่างจึงมีฐานะเป็นคู่สมรสอันเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอต่อ ศาลสั่งให้นายไสวเป็นคนสาบสูญได้
2. เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากภูเขาพัดพาเอาบ้านพร้อมกับนายไสวหายตัวไปกับสายน้ำ ซึ่งถือเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิต และนายไสวได้ตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น จึงเป็นการสูญหายไป ในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง(3) นางสว่างจึงต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไสวเป็นคนสาบสูญในกรณีพิเศษ
3. นางสว่างจะร้องขอให้ศาลสั่งให้นายไสวเป็นคนสาบสูญได้ตั้งแต่เมื่อใดนั้น เห็นว่าเมื่อเป็นการสาบสูญหายไปในกรณีพิเศษ จึงมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ 2 ปีนับแต่วันที่เหตุอันตรายได้ผ่านพ้นไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและนายไสวสาบสูญหายไปในวันที่ 12 กันยายน 2552 จึงครบกำหนด 2 ปี ในวันที่ 12 กันยายน 2554 ดังนั้น นางสว่างจะเริ่มไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่ วันที่ 13 กันยายน 2554 เป็นต้นไปตามมาตรา 61 วรรคสอง (3)
สรุป
1 . นางสว่างสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไสวเป็นคนสาบสูญได้
2 . นางสว่างต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไสวเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ
3 . นางสว่างสามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้นายไสวเป็นคนสาบสูญได้ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2554
ข้อ 3 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมได้หรือไม่ และจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
1 นายไก่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ รับเงินจากปู่ 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่านายไก่ จะต้องไปสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
2 นางไข่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกม้า 4 ตัว เพื่อนำไปให้เด็กพิการทางสายตาขี่ เพื่อการเยียวยาทางจิตใจ โดยนายดำผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย
3 นายเป็ดคนวิกลจริตซื้อจักรยานยนต์จากนายห่านในขณะกำลังวิกลจริต และนายห่านก็รู้ว่านายเป็ดเป็นคนวิกลจริต
4 นางนกคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนายหนูผู้อนุบาลให้ไปซื้อโทรศัพท์มือถือมูลค่า 8,000 บาท จากร้านนายแดง
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”
มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”
มาตรา 34 “คนเสมือนคนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ บุคคลดังกล่าวทำนิติกรรมได้หรือไม่ และจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ
1. โดยหลัก ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์สามารถทำเองได้โดยลำพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่งโดยปราศจากเงื่อนไข เป็นต้น
ตามปัญหา การที่นายไก่ซึ่งเป็นผู้เยาว์รับเงินจากปู่ 1 ล้านบาทนั้น ไม่ถือเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว หรือนิติกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่งโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพังแต่อย่างใด เพราะการรับเงินดังกล่าวแม้จะทำให้นายไก่ได้สิทธิอันใดอันหนึ่ง แต่ก็มีเงื่อนไขด้วยว่านายไก่จะต้องไปสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดังนั้น เมื่อนายไก่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมการรับเงินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 21
2. โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมสำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ
ตามปัญหา การที่นางไข่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกม้านั้น เป็นเพียงการให้ยืมสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น ไม่ใช่กรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) ซึ่งเป็นนิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา 34(3) ดังนั้น ถึงแม้นางไข่จะให้เพื่อนยืมลูกม้าโดยลำพัง กล่าวคือ ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ สัญญาให้เพื่อนยืมลูกม้า 4 ตัวดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆียะ
3. โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อทำนิติกรรมนั้นในขณะที่จริตวิกลและคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต
ตามปัญหา การที่นายเป็ดคนวิกลจริตไปซื้อรถจักรยานยนต์จากนายห่านในขณะที่กำลังวิกลจริตและนายห่านก็รู้อยู่แล้วว่านายเป็ดเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายจักรยานยนต์ระหว่างนายเป็ดกับนายห่านจึงตกเป็นโมฆียะ
4. ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ
ตามปัญหา การที่นางนกคนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อโทรศัพท์มือถือจากร้านนายแดงนั้น ถึงแม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของนางนกจะได้รับอนุญาต คือ ได้รับความยินยอมจากนายหนูผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29
สรุป
1. นิติกรรมการรับเงินมีผลเป็นโมฆะ
2 . สัญญาให้เพื่อนยืมลูกม้ามีผลสมบูรณ์
3 . สัญญาซื้อขายจักรยานยนต์มีผลเป็นโมฆียะ
4 . สัญญาซื้อขายโทรศัพท์มีผลเป็นโมฆียะ