การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายมาโดยถูกต้องและครบถ้วน
ธงคำตอบ
“ช่องว่างของกฎหมาย” เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ในกรณีที่มีช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้น โดยหลักทั่วไปศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้นไม่ได้
กล่าวคือ ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นเสมอโดยศาลจะต้องใช้กฎหมายโดวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
อนึ่ง สำหรับกฎหมายอาญานั้น แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ ศาลก็ย่อมที่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายได้ แต่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นการลงโทษบุคคล หรือจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไปในทางที่จะลงโทษบุคลให้หนักขึ้นไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้ คือ
1. ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
กรณีนี้หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ
1. เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป
2. เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน
3. เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4. เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป
5. เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม
2. ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน
ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
1 พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่
2 พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้
3 พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้
4 กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ
3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป
กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้
ข้อ 2
1) ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดาและกรณีพิเศษ จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง จงอธิบาย
2) นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในวันที่ 1 มกราคม 2550 นายไก่เดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 เกิดพายุหยกทำให้บ้านเรือนเสียหายมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก 11 สิงหาคม 2550 นายไก่โทรศัพท์มาหานางไข่ เล่าให้นางไข่ฟังว่าตนรอดพ้นภัยพิบัติอย่างหวุดหวิด หลังจากนั้นนางไข่ก็ไม่ได้ข่าวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่อีกเลย
1 นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่
2 เป็นการสาบสูญกรณีใด วันครบกำหนดเมื่อใด และนางไข่เริ่มจะมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่เมื่อใด
ธงคำตอบ
(1) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตร 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
อธิบาย
ในการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีธรรมดา ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และ
(2) ไม่ได้รับข่าวคราวหรือไม่มีใครพบเห็นตัว หรือไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
(3) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
(4) ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น สามี ภริยา บิดามารดา ผู้สืบสันดาน ฯลฯ หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล
(5) ศาลอาจจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ (ตามมาตรา 61 วรรคแรก)
ส่วนกรณีพิเศษนั้น กำหนดระยะเวลาลดเหลือ 2 ปี นับแต่
(1) วันมีการรบ หรือสงครามสิ้นสุดลง หรือ
(2) วันที่ยานพาหนะซึ่งบุคคลนั้นโดยสารไปเกิดอุบัติเหตุ อับปาง ฯลฯ
(3) หรือเหตุอื่นๆนอกจากกรณี 1) หรือ 2) และมีการตายเกิดขึ้นเพราะบุคคลดังกล่าวอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่พบตัว หรือได้รับข่าวคราว
2) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตร 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
วินิจฉัย
(1) นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น จะต้องเป็น
1 ผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้มีสิทธิหรือได้รับสิทธิต่างๆ เนื่องจากการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ เช่น คู่สมรส บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง รวมทั้งหุ้นส่วนด้วย เป็นต้น หรือ
2 พนักงานอัยการ
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะคู่สมรส นางไข่ จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้
(2) ตามอุทาหรณ์ ภายหลังจากวันที่พายุหยก ในวันที่ 11 สิงหาคม 2550 นางขายังสามารถติดต่อกับนายไก่ได้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับข่าวคราวนายไก่อีกเลย ดังนี้ จึงไม่ถือว่านายไก่อยู่ในเหตุอันตรายแก่ชีวิต แต่เป็นเหตุที่นายไก่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครทราบแน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นกรณีสาบสูญธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคแรก มิใช่การสาบสูญกรณีพิเศษ
สำหรับวันครบกำหนดนั้น นายไก่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยติดต่อกับนางไข่ภริยาครั้งล่าสุดในวันที่ 11 สิงหาคม 2550 และไม่มีใครรู้แน่ว่านายไก่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ กรณีเป็นการสาบสูญธรรมดาระยะเวลาต้องติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2550 ตามมาตรา 61 วรรคแรก ดังนั้นจึงครบกำหนดในวันที่ 11 สิงหาคม 2555
และนางไข่จะเริ่มมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป
สรุป
(1) นางไข่ไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
(2) เป็นการสาบสูญกรณีธรรมดา ครบกำหนดวันที่ 11 สิงหาคม 2555 และนางไข่เริ่มจะมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป
ข้อ 3 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมต่างๆ จะมีผลอย่างไร
1) นายใสอายุ 18 ปีบริบูรณ์ทำสัญญาซื้อรถยนต์โดยลำพังจากนายดำ สัญญาซื้อขายรถยนต์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร
2) นายสุกคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนางสุขผู้อนุบาลให้ไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายแดง สัญญาซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนายสุกและนายแดงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
3) นายแสงคนวิกลจริตไปซื้อโทรศัพท์มือถือมูลค่า 2 หมื่นบาทจากร้านนางสีในขณะกำลังวิกลจริต และนางสีก็ทราบดีว่านายแสงวิกลจริต สัญญาซื้อขายโทรศัพท์มือถือระหว่างนายแสงและนางสีมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 29 การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ
มาตรา 30 การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต
วินิจฉัย
1) สัญญาซื้อขายรถยนต์เป็นโมฆียะ เพราะผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากฝ่าฝืน ผลทางกฎหมาย คือ เป็นโมฆียะตามมาตรา 21 ทั้งกรณีนี้ก็มิใช่นิติกรรมที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยลำพัง คือมิใช่นิติกรรมที่เป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิหรือหลุดพ้นจากหน้าที่ หรือที่ต้องทำเองเฉพาะตัว หรือที่เป็นการสมแก่ฐานานุรูปหรือจำเป็นในการดำรงชีวิตแต่อย่างใด
2) โดยหลักแล้ว คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ ย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ตามมาตรา 29 แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม เว้นแต่การทำพินัยกรรม ซึ่งจะมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1704 วรรคแรก ดังนั้น การที่นายสุกคนไร้ความสามารถไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายแดง ย่อมตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 29 ทั้งนี้ แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลก็ตาม
3) ตามมาตรา 30 การทำนิติกรรมของคนวิกลจริตจะมีผลเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ
1 ได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นมีอาการจริตวิกล
2 คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริตซึ่งการที่นิติกรรมนี้จะมีผลเป็นโมฆียะจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขหรือองค์ประกอบทั้ง 2 ข้อดังกล่าว จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า ในขณะที่นายแสงคนวิกลจริตทำนิติกรรมซื้อโทรศัพท์มือถือก็เป็นขณะที่กำลังวิกลจริตอยู่ ทั้งนางสีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็ทราบดีว่านายแสงวิกลจริต ดังนั้น เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 2 ข้อ สัญญาซ้อขายโทรศัพท์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 30
สรุป
1) ผลของสัญญาเป็นโมฆะ เพราะขาดความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
2) ผลของสัญญาเป็นโมฆะ เพราะคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆไม่ได้เลย ฝ่าฝืนเป็นโมฆียะ ผู้อนุบาลต้องทำแทน
3) ผลของสัญญาเป็นโมฆะ เพราะทำนิติกรรมขณะกำลังวิกลจริต และคู่สัญญาก็ทราบดีว่าวิกลจริต