การสอบไล่ ภาค 1 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ ข้อละ 25 คะแนนข้อ 1 บ่อเกิดของกฎหมายมีอะไรบ้าง และบ่อเกิดของกฎหมายไทยแตกต่างจากบ่อเกิดของกฎหมายจารีตประเพณี ( Common Law) อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมายมีดังนี้ คือ
1 ศีลธรรม เป็นเหตุผลภายในซึ่งเกิดจากสติปัญญาความรู้สึกรับผิดชอบ มนุษย์จะใช้เหตุผลความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังกล่าวมาปรับเข้ากับสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น และศีลธรรมนั้นเมื่อมนุษย์ในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ และติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจกลายมาเป็นที่มาของกฎหมายได้ในที่สุด เช่น การที่สามีมีภริยาหลายคน ในสังคมหนึ่งๆถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม จึงได้นำเอาหลักศีลธรรมนั้นมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามชายหรือหญิงที่มีคู่สมรสแล้ว จดทะเบียนสมรสซ้อนอีก หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน ผลคือตกเป็นโมฆะ เป็นต้น
2 จารีตประเพณี คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์ เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับเอากับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา ซึ่งจารีตประเพณีนั้นในบางกรณีนำมาบัญญัติไวเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีการนำมาตัดสินโดยผู้พิพากษา หรือศาลนำมาใช้ในการตัดสินคดีก็เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาได้
จารีตประเพณีที่จะเป็นที่มาของกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันเป็นเวลานานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นทางปฏิบัติหรือความเคยชิน หรือธรรมเนียม
(2) ประชาชนเห็นต้องกันว่า จารีตประเพณีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจะต้องปฏิบัติตามตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นที่มาของกฎหมาย เช่น จารีตประเพณีที่ว่าบิดามารดาสามารถเฆี่ยนตีอบรมสั่งสอนบุตรได้ และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก เป็นต้น
3 ศาสนา คือ ข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาได้กำหนดขึ้น เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว การร่างกฎหมายจึงมีการนำเอาข้อห้ามของศาสนาต่างๆ มาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายเช่นเดียวกัน เช่น ข้อห้ามในศีล 5 ของศาสนาพุทธ อาทิห้ามประพฤติผิดในกาม ก็คล้ายกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้ เป็นต้น
4 ความยุติธรรม ในทางนิติปรัชญา กฎหมายจีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความยุติธรรมหรือความถูกต้องเป็นธรรม การออกกฎหมายจึงต้องสอดคล้องกับความยุติธรรมด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี เช่น ศาลในประเทศอังกฤษก็ได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมที่เรียกว่า อิควิตี้ (Equity) มาใช้ในการแก้ไขเยียวยาและอุดช่องว่างของกฎหมาย ในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาในคดีก่อนๆมาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมได้
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจากลูกหนี้นั้น มีจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลอนุญาตให้เรียกค่าเสียหายที่เป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น การที่จะมาฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่ไม่ได้เป็นจำนวนเงินนั้น ไม่มีจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาขิงศาลให้ทำได้ หากเจ้าหนี้ไม่ต้องการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหาย แต่ต้องการตัวบ้าน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งสัญญา ก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้นศาลก็อาจจะนำเอาหลักความยุติธรรมซึ่งศาลได้คิดขึ้นมา นำมาใช้ตัดสินคดีนั้นๆได้ โดยอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเรียกให้ชำระหนี้ที่เป็นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ คือ ให้ลูกหนี้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จได้ เป็นต้น
5 คำพิพากษาของศาล ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law ) เช่น อังกฤษ มีการนำเอาคำพิพากษาที่ได้ตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้แล้วมา เป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อๆมาต้องผูกพันตัดสินเป็นอย่างเดียวกัน จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีก็คือบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย
ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ไทย ฯลฯ จะถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงการนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันศาลอื่นที่จะต้องพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงไม่ใช่บ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย
6 ความคิดเห็นของปราชญ์ ซึ่งอาจจะเป็นนักทฤษฎี นักวิชาการ หรืออาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย หรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเคยตัดสินเอาไว้ ก็อาจนำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นใช้เป็นหลักกฎหมายได้
ตัวอย่างเช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เคยมีความเห็นว่า การที่คนไทยพกพาอาวุธไปตามถนนหลวง ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็นความผิดอาญา น่าจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำการอย่างนั้นได้ต่อไปอีกต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา ก็ได้นำข้อห้ามในการถืออาวุธมาใส่ไว้ในกฎหมายอาญาด้วย เป็นต้น
7 ข้อตกลงระหว่างประเทศ เมื่อประเทศต่างๆ มาทำความตกลงหรือทำสนธิสัญญากันแล้ว ก็จะมีทำให้ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับเทียบเท่ากฎหมายเลยทีเดียว
จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงเห็นได้ว่า บ่อเกิดของกฎหมายไทย (ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร) แตกต่างจากประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี คือ คำพิพากษาของศาลไม่ใช่บ่อเกิดของกฎหมายไทย แต่คำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณีถือเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่สำคัญ
ข้อ 2 จงอธิบายหลักเกณฑ์และหลักกฎหมายในการเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษมาโดยถูกต้องและครบถ้วน
ธงคำตอบ
มาตร 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
4 ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนสาบสูญ
5 ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
ตัวอย่างเช่น นายแดงเดินทางโดยเรือเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2546 เรือได้เจอพายุซัดทำให้เรืออับปางลง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2546 ปรากฏว่านายแดงได้หายไป ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องขอให้นายแดงเป็นคนสาบสูญต่อศาลได้เมื่อนับแต่วันที่เรืออับปาง คือวันที่ 5 มกราคม 2546 ไปให้ครบ สองปี คือ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2548 ผู้มี่ส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ให้มีคำสั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้
ข้อ 3 นายแดนเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ อาศัยอยู่กับบิดามารดาซึ่งมีอาชีพรับราชการที่ย่านบางกะปิ ได้มาปรึกษากับท่านซึ่งเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์เกี่ยวกับนิติกรรมที่เขาได้ทำไป 3 อย่างคือ
1 เมื่ออายุครบ 12 ปี ได้รับเงินจากนายดำผู้เป็นลุง 1 แสนบาท
2 เมื่ออายุย่าง 15 ปี ได้ทำพินัยกรรมยกเงิน 5 หมื่นบาท ให้นายดีซึ่งเป็นน้องชาย
3 เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซื้อรถ FERRARI ราคา 50 ล้านบาท เพื่อขับมาเรียนหนังสือ โดยนายแดนได้รับมรดกจากนายดวงซึ่งเป็นปู่ เป็นเงิน 100 ล้านบาท ตามพินัยกรรมเมื่ออายุครบ 20 ปีแล้วท่านจงอธิบายให้คำปรึกษากับนายแดนในฐานะนักกฎหมายที่ดีว่านิติกรรมทั้ง 3 อย่างนั้นมีผลในกฎหมายอย่างไรบ้าง และเพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมายเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์ในการกระทำนิติกรรม มีดังนี้ คือ
มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์
มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้กระทำลงโดยปราศจากความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม การนั้นย่อมเป็นโมฆียะ
มาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง
มาตรา 23 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว
มาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามควร
มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์
มาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
วินิจฉัยได้ดังนี้
1 นิติกรรมที่ทำเมื่อนายแดนอายุ 12 ปี คือ การได้รับเงินจากนายดำนั้นสมบูรณ์ เพราะเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ได้มาซึ่งสิทธิโดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด (มาตรา 22)
2 นิติกรรมที่ทำไว้เมื่อมีอายุย่างเข้า 15 ปี คือการทำพินัยกรรมนั้น แม้จะถือว่าเป็นการเฉพาะตัว แต่เมื่อมีอายุยังไม่ครบ 15 ปี จึงทำให้พินัยกรรมที่ทำไว้เพื่อยกเงิน 5 หมื่นบาท ให้นายดีมีผลเป็นโมฆะ (มาตรา 25 มาตรา 1703)
3 นิติกรรมซื้อรถยี่ห้อ FERRARI ราคา 50 ล้านบาทนั้น เป็นการทำนิติกรรมเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว นายแดนมีความสามารถเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไป เพราะพ้นภาวะผู้เยาว์แล้ว ดังนั้นการซื้อรถคันดังกล่าวจึงสมบูรณ์ทุกประการ (มาตรา 19)สรุปได้ว่า การรับเงินจากนายดำ 1 แสนบาทสมบูรณ์ การทำพินัยกรรมยกเงินให้นายดีเป็นโมฆะ ส่วนการซื้อรถยนต์นั้นสมบูรณ์