ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก. การตีความกฎหมายคืออะไร จงอธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายแพ่งมาพอสังเขป
ข หลักกฎหมายทั่วไปในทางแพ่งคืออะไร หลักกฎหมายทั่วไปสามารถนำมาใช้ในการอุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งได้อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก. การตีความกฎหมาย คือ การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคำของกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายไปปรับใช้ในการวินิจฉัยกับข้อเท็จจริงได้ต่อไป
หลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายแพ่ง มีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อมๆกัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น โดยเริ่มจาก
1 การตีความตัวอักษร ทั้งศัพท์ธรรมดาและศัพท์กฎหมาย เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ
2 การตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร เจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้นๆ หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้นๆด้วย
ข หลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักกฎหมายอันเป็นรากฐานหรือเป็นที่มาของบทบัญญัติกฎหมายใยเรื่องต่างๆในทางแพ่ง บทบัญญัติองกฎหมายในมาตราต่างๆ ของกฎหมายแพ่งมักจะบัญญัติขึ้นมาจากหลักทั่วไปดังกล่าว เช่น หลักสุจริต หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน หลักผู้ซื้อต้องระวัง หลักกฎหมายปิดปาก หลักบุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญา ฯลฯ หลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจมาจากหลักทั่วไปที่ใช้อยู่ในระบบกฎหมายไทยเอง คือระบบซีวิลลอว์ หรืออาจเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มาจากระบบกฎหมายอื่น เช่น ระบบคอมมอน ลอว์ ก็ได้
หลักกฎหมายทั่วไปอาจนำมาใช้ในการอุดช่องว่างของกฎหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรค 2 คือ หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับคดี และก็ไม่มีจารีตประเพณี รวมถึงไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ต้องนำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้ปรับกับข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้นแทน
ข้อ 2 นายภราดรเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารเพื่อไปทำธุรกิจที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2544 ปรากฏว่าเครื่องบินลำดังกล่าวได้สูญหายไประหว่างการเดินทาง และนับจากวันเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีใครได้รับข่าวคราวหรือพบเห็นนายภราดรอีกเลย นางสมสมรซึ่งเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมายของนายภราดรได้มาปรึกษาท่าน ว่าจะร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายภราดรเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และจะมีสิทธิร้องขอได้เมื่อใด อยากทราบว่า ท่านจะให้คำปรึกษาแก่นางสมสมรได้อย่างไร และเพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตร 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
4 ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนสาบสูญ
5 ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
กรณีตามอุทาหรณ์นั้น นายภราดรได้เดินทางโดยเครื่องบินโดยสารเพื่อไปทำธุรกิจที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2544 และปรากฏว่าเครื่องบินลำดังกล่าวได้สูญไประหว่างการเดินทางทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีใครได้รับข่าวคราวหรือพบเห็นนายภราดรอีกเลยนับจากวันที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น
ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นางสมสมรภรรยานายภราดรว่า นางสมสมรย่อมมีสิทธิของการเป็นผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้นายภราดรเป็นผู้สาบสูญได้แล้ว และนางสมสมรจะเริ่มใช้สิทธิดังกล่าวได้เมื่อครบ 2 ปีนับจากวันเกิดเหตุคือ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เพราะเป็นการสาบสูญในกรณีพิเศษระยะเวลาจะลดลงจาก 5 ปี เหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น ส่วนศาลจะมีคำสั่งตามคำขอหรือไม่ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาล
ดังนั้นข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่นางสมสมรว่า สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นายภราดรเป็นผู้สาบสูญได้ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2546 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ก . บุคคลธรรมดาประเภทใดบ้างที่ถูกจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมข ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ คนไร้ความสามารถ จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญๆอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก. บุคคลธรรมดาที่ถูกจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมคือ
1 ผู้เยาว์
2 คนเสมือนไร้ความสามารถ
3 คนไร้ความสามารถ
ข หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถจากมาตรา 32 วรรคแรก มีดังต่อไปนี้ คือ
1 ต้องมีเหตุบกพร่อง กรณีที่จะถือว่าเป็น “เหตุบกพร่อง” นั้น อาจจะเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กายพิการ คือ ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ขาดไปหรือไม่สมประกอบ ซึ่งอาจจะเกิดแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ ขาแขนขาด หรือเป็นอัมพาตง่อยเปลี๊ยเสียขา เป็นต้น
(2) จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คือ จิตใจไม่ปกติ เป็นโรคจิตแต่ไม่ถึงกับวิกลจิต คือ มีเวลาที่รู้สึกตัว มีสติรู้สึกผิดชอบธรรมดา แต่บางครั้งก็เลอะเลือนไปบ้าง
(3) ประพฤติสุลุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หมายถึง คนที่มีนิสัยใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างไม่มีประโยชน์เกินกว่ารายได้ที่ได้รับและเป็นอาจิณคือเป็นประจำ
(4) เป็นคนติดสุรายาเมา คือ คนที่เสพสุรา หรือของมึนเมาต่างๆ เมื่อเสพไปแล้ว ก็ต้องเสพเป็นนิจ ซึ่งขาดเสียมิได้
(5) เหตุอื่นใดทำนองเดียวกันกับข้อ (1) – (4) เช่น พวกหลงใหลในสิ่งของต่างๆหรือเป็นโรคประจำตัวจนไม่สามารถทำการงานของตนเองหรือจัดการเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เป็นต้น
- บุคคลนั้นไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เพราะเหตุบกพร่องนั้น เช่น นายดำเป็นอัมพาตอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถทำการงานของตนเองได้ เช่นนี้นายดำอาจถูกร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า แม้นายดำจะเป็นอัมพาต แต่นายดำก็สามารถขายล็อตเตอรี่หาเลี้ยงครอบครัวได้ เช่นนี้นายดำยังสามารถจัดทำการงานของตนได้ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้เป็นต้น
3 ผู้มีส่วนได้เสีย (บุคคลตามที่ระบุในมาตรา 28 ) ได้แก่ สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลอาจจะ สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้พิทักษ์ขึ้นมาดูแลตราบ ใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ บุคคลนั้นก็ยังไม่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นอย่างบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป และเมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว การเป็นคนไร้ความสามารถย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลสั่ง ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1 บุคคลนั้นเป็นคนวิกลจริต
2 คู่สมรส หรือบุพการี (บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื่อ) ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้ปกครองดูแลบุคคลนั้น หรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาลศาลอาจจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้อนุบาลเป็นผู้ดูแลบุคคลนั้น (หลักกฎหมาย มาตรา 19, 28 , 32)