การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายมาโดยถูกต้องและครบถ้วน
ธงคำตอบ
“ช่องว่างของกฎหมาย” เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ในกรณีที่มีช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้น โดยหลักทั่วไปศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้นไม่ได้
กล่าวคือ ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นเสมอโดยศาลจะต้องใช้กฎหมายโดวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
อนึ่ง…สำหรับกฎหมายอาญานั้น แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ ศาลก็ย่อมที่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายได้ แต่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นการลงโทษบุคคล หรือจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไปในทางที่จะลงโทษบุคลให้หนักขึ้นไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้ คือ
1. ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
กรณีนี้หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ
1. เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป
2. เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน
3. เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4. เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป
5. เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม
2. ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน
ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
1 พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่
2 พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้
3 พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้
4 กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ
3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป
กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้
ข้อ 2 นายไข่และนางไก่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นายไก่มีงานอดิเรกคือขับเครื่องบินขนาดเล็กในวันที่ 1 มกราคม 2550 นายไก่ได้ไปขับเครื่องบินจากโคราชจะกลับกรุงเทพฯ ในวันนี้เองเครื่องบินที่นายไก่ขับหายไปจากจอเรดาร์ของศูนย์ควบคุมการบินในช่วงที่นายไก่ขับบินผ่านเขาใหญ่
ในวันที่ 3 มกราคม 2550 นางไข่ซึ่งเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่งเดินทางกลับมาประเทศไทย และได้รับข่าวเครื่องบินที่สามีขับสูญหายไปที่เขาใหญ่ นางไข่จึงได้ติดตามค้นหาสามีร่วมกับทางราชการซึ่งค้นหามาตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้วจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครพบเห็นนายไก่และเครื่องบิน และไม่มีใครได้รับข่าวจากนายไก่เลย
1) นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
2) ถ้าได้นางไข่จะไปศาลได้เมื่อใดจงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 61 ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี
1 นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2 นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3 นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2550 ขณะที่นายไก่ขับเครื่องบินขนาดเล็กจากโคราชจะกลับกรุงเทพฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เครื่องบินที่นายไก่ขับหายไปจากจอเรดาร์ของศูนย์ควบคุมการบินในช่วงที่นายไก่ขับบินผ่านเขาใหญ่ จากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเครื่องบินและไม่มีใครได้รับข่าวคราวจากนายไก่อีกเลย เห็นว่าเป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ
ศาลจะสั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ จะต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1 ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
2 ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป โดยไม่มีใครพบเห็นตัว หรือไม่มีใครได้รับข่าวคราว
3 ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล
4 ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
1) นางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้มีสิทธิที่ร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงายอัยการ เมื่อนางไข่เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้
2) นางไข่จะร้องขอต่อศาลได้เมื่อใด เห็นว่า กรณีของนายไก่นั้น เป็นกรณีสาบสูญพิเศษอันมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ 2 ปี นับแต่นายไก่สูญหายไปกับยานพาหนะที่โดยสารไปมิใช่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบข่าวการสูญหาย ดังนั้นนางไข่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่ 2 มกราคม 2552 ตามมาตรา 61 วรรคสอง(2)
สรุป 1) นางไข่ร้องขอต่อศาลได้เพราะนางไข่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย
2) นางไข่จะร้องขอต่อศาลได้ในวันที่ 2 มกราคม 2552 ตามมาตรา 61 วรรคสอง(2)
ข้อ 3 มดจิ๋วอายุย่างเข้า 15 ปี ต้องการทำนิติกรรมดังต่อไปนี้ให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงมาปรึกษาท่านว่าต้องทำอย่างไร จงอธิบาย1) ถอนเงินส่วนตัวจากธนาคารซื้อรถยนต์ราคา 2 ล้านบาท
2) ทำพินัยกรรมยกเงินสดจำนวน 1 ล้านบาทให้มูลนิธิสุนัขจรจัด
3) สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โครงการ พรีดีกรี
4) คุณตามดจิ๋วจะให้เงินมดจิ๋วเป็นทุนการศึกษา 10 ล้านบาท
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะเว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง
มาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนแล้เป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามควร
มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์
มาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
วินิจฉัย
1) มดจิ๋วต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน จึงจะซื้อรถยนต์ได้โดยสมบูรณ์ตามมาตรา 21
2) มดจิ๋วต้องรอให้อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์เสียก่อนจึงจะทำพินัยกรรมได้ ถ้าทำขณะนี้อายุยังไม่ครบผลก็จะเป็นโมฆะ ตามมาตรา 25 ประกอบมาตรา 1703
3) มดจิ๋วสามารถสมัครเรียนได้เลยเพราะเป็นการทำสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพตามควรแก่ฐานานุรูป ตามมาตรา 24
4) มดจิ๋วสามารถรับเงินที่คุณตาให้เป็นทุนการศึกษา 10 ล้านบาท ได้โดยลำพังและสมบูรณ์เพราะเป็นการได้มาซึ่งสิทธิโดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด ตามมาตรา 22