การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ 25  คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1  ก  การตีความกฎหมายคืออะไร  เหตุใดจึงต้องมีการตีความกฎหมาย

         ข  จงอธิบายถึงหลักในการตีความกฎหมายแพ่ง  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ก.      การตีความกฎหมาย คือ  การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคำของกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร  เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นำเอากฎหมายไปปรับใช้ในการวินิจฉัยกับข้อเท็จจริงได้ต่อไป

หลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมายแพ่ง  มีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง  กล่าวคือ  จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อมๆกัน  จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น  โดยเริ่มจาก

1       การตีความตัวอักษร  ทั้งศัพท์ธรรมดาและศัพท์กฎหมาย  เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน  และ

2       การตีความตามเจตนารมณ์  เพื่อค้นหาความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร  เจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา  ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย  จากถ้อยคำของบทบัญญัตินั้นๆ  หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย รวมถึงจากรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายนั้นๆด้วย

ตัวอย่างเช่น  กฎหมายลักษณะมรดก  มาตรา  1627  บัญญัติว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งคำว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  เป็นถ้อยคำของกฎหมายที่มีความหมายกำกวมไม่ชัดเจน  กล่าวคือ  ไม่แน่ชัดว่าจะใช้ความหมายอย่างแคบ  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยนิตินัย  เช่น  การจดทะเบียนรับรองบุตร  หรือจะใช้ความหมายอย่างกว้าง  ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยพฤตินัย  เช่น  การที่บิดาให้ใช้นามสกุล  อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเด็กเป็นบุตรของตน  และเมื่อมีการตีความตามตัวอักษรประกอบกับความมุ่งหมาย  หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะมรดกแล้ว  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมรดกมีความประสงค์ที่จะให้บุตรที่จะเป็นผู้สืบสันดานและมีสิทธิรับมรดกนั้น  หมายถึง  บุตรตามความเป็นจริง  กล่าวคือ  แม้จะเป็นบุตรนอกกฎหมาย  แต่ถ้าหากบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้วก็มีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  นายจันทร์ได้จากภูมิลำเนาที่จังหวัดเชียงใหม่และไม่มีใครรู้แน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร  เป็นเวลา  นาน  15  เดือนแล้ว  ต่อมาศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายอังคารขึ้นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่คือนายจันทร์  ตามคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสีย  หลังจากนั้นไม่นานนายอังคารได้นำทรัพย์สินของนายจันทร์  คือ  บ้านพร้อมที่ดินไปขายให้กับนายพุธในราคา  20  ล้านบาท  เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของนายจันทร์

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายอังคารมีอำนาจกระทำการดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  48  วรรค  2  เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไป  1  ปี  นับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี  หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็น  หรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี  เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ  ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้

มาตรา  54  ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ตามมาตรา  801  และมาตรา  802

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

(1) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

(2) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

(3) ให้

(4) ประนีประนอมยอมความ

(5) ยื่นฟ้องต่อศาล

(6) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

ตามปัญหา  การที่ศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายอังคารเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของนายจันทร์ผู้ไม่อยู่ตามคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว นายอังคารย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่เสมือนเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 54  ประกอบกับมาตรา 801  ดังนั้นการที่นายอังคารได้นำบ้านพร้อมที่ดินของนายจันทร์ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปขายให้นายพุธ  แม้จะเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของนายจันทร์ก็ไม่อาจทำได้  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจกศาลก่อนเท่านั้น  แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายอังคารได้ขออนุญาตต่อศาลก่อนแต่อย่างไร  การกระทำของนายอังคารจึงขัดต่อ  ป.พ.พ. มาตรา  54  ประกอบกับมาตรา  801

สรุป  นายอังคารไม่สามารถที่จะนำบ้านพร้อมที่ดินของนายจันทร์ไปขายให้กับนายพุธได้ ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  3  คนวิกลจริตและคนไร้ความสามารถคือใคร  มีความสามารถเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  ในการทำนิติกรรม  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา 28  บุคคลวิกลจริตผู้ใด  ถ้าคู่สมรส  ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์  ผู้ซึ่งดูแลปกครองบุคคลผู้นั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการ  ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ  ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้  และบุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตและคนไร้ความสามารถคือบุคคลที่มีลักษณะดังนี้  คือ

คนวิกลจริต  หมายถึง  บุคคลที่สมองพิการ  คือ  จิตไม่ปกติหรือบุคลที่มีกิริยาอาการไม่ปกติเพราะสติวิปลาส  หรืออาจจะหมายความรวมถึงคนเจ็บป่วยทางจิตอย่างรุนแรง  ทำให้มีกิริยาอาการผิดปกติจนถึงขนาดที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบใดๆทั้งสิ้น

คนไร้ความสามารถ  หมายถึง  คนวิกลจริตดังกล่าวข้างต้นที่ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้สามารถแล้ว  โดยการที่ผู้มีส่วนได้เสีย  กล่าวคือ  คู่สมรส  ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์  หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถและศาลได้สั่งให้ตามคำขอ

ในการทำนิติกรรมของคนวิกลจริตและคนไร้ความสามารถนั้นจะมีความแตกต่างกันดังนี้

1       คนวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น  สามารถทำนิติกรรมใดๆ  ได้สมบูรณ์  เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำนิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต ส่วนคนไร้ความสามารถนั้นจะทำนิติกรรมใดๆไม่ได้  นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้กระทำลงนั้นจะตกเป็นโมฆียะ  ดังนั้นจึงต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน

2       คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม  พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ  ส่วนคนวิกลจริตทำพินัยกรรม   พินัยกรรมจะตกเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ทำพินัยกรรมนั้นในขณะจริตวิกล

สำหรับการสมรสนั้น  ไม่ว่าคู่สมรสจะได้ทำการสมรสในขณะที่เป็นคนวิกลจริตหรือเป็นคนไร้ความสามารถ  การสมรสนั้นก็ตกเป็นโมฆะเหมือนกัน

Advertisement