การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  กฎหมายคืออะไร  และต้องมีลักษณะเช่นใด  อธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมาย  คือ  ส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีต่อกันภายในองค์กรทางสังคมที่มนุษย์เป็นสมาชิกสังกัดอยู่  นอกจากนี้กฎหมายยังหมายรวมถึงกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับองค์กรทางสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่และในหมู่ประเทศที่มีอารยะด้วย  ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านั้น  สำหรับกฎหมายในส่วนนี้ได้แก่  กฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง

สำหรับสิ่งที่เป็นกฎหมายต้องมีลักษณะ  ดังนี้

1       กฎหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์  คือ  มาจากบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐหรือของประเทศในการตรากฎหมาย

2       กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป  คือ  กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว  ย่อมมีผลใช้บังคับกับบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือในประเทศนั้นๆ  อย่างเสมอภาค  ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  แต่อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี  เช่น  ในกรณีของทูต  หรือกงสุลที่เข้ามาในประเทศไทย  เป็นต้น 

3       กฎหมายต้องใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก  คือ  เมื่อได้มีการประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว  ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก  กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับอยู่เสมอ  ซึ่งการยกเลิกกฎหมายอาจเป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติของกฎหมายนั้นเอง  หรือมีกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า  หรือมีการยกเลิกโดยปริยาย  เมื่อกฎหมายเก่าขัดกับกฎหมายใหม่

4       กฎหมายนั้นประชาชนจำต้องปฏิบัติตาม  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องให้กระทำการหรือเป็นเรื่องละเว้นกระทำการก็ได้  ซึ่งถ้ามีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ

5       กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ  ซึ่งสภาพบังคับตามกฎหมายนั้นมีได้ทั้งในอาญาและในทางแพ่ง

 –  สภาพบังคับในทางอาญา  คือ  โทษ  นั่นเอง  ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้มี  5  ชนิด  โดยเรียงจากโทษหนักที่สุดไปยังโทษเบาที่สุด  ได้แก่  1  ประหารชีวิต  2  จำคุก  3  กักขัง  4  ปรับ  5  ริบทรัพย์สิน

–   สภาพบังคับในทางแพ่ง  หรือความรับผิดในทางแพ่งนั้น  คือ  การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กัน  ได้แก่  การคืนทรัพย์  การชดใช้ราคาแทนทรัพย์  และรวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายด้วย 

 

 ข้อ  2  นายสุจริตและนางซื่อสัตย์  เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  ได้ออกเดินทางจาก กทม.  เพื่อไปเที่ยวกับเพื่อนๆสมัยเรียนมหาวิทยาลัยในวันที่  28  ก.ค.  2553  ต่อมาในตอนบ่ายของวันที่  31  ก.ค.  2553  ขณะที่นายสุจริตและนางซื่อสัตย์ไปเที่ยวที่น้ำตกวังตะไคร้กับเพื่อนๆอย่างสนุกสนานอยู่นั้น  เกิดน้ำป่าไหลหลากพัดพาคนทั้งสองและเพื่อนๆไปกับกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากทั้งหมด  และในวันที่  31  ก.ค.  2553  ตอนเย็นได้มีผู้พบศพนางซื่อสัตย์  แต่ไม่มีใครพบเห็นหรือได้ข่าวของนายสุจริตอีกเลย

อยากทราบว่า  นายคนดีบุตรชายนายสุจริตและนางซื่อสัตย์  จะไปร้องขอให้บุคคลทั้งสองเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และเมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสุจริตได้สูญหายไปเนื่องจากน้ำป่าไหลหลากซึ่งเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น  ถือเป็นการสูญหายไปในกรณีพิเศษตามมาตรา  61  วรรคสอง(3)  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายคนดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุจริตและนางซื่อสัตย์  จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้นายสุจริตเป็นคนสาบสูญได้

และเมื่อเป็นการสูญหายไปในกรณีพิเศษ  จึงมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตได้ผ่านพ้นไป  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและนายสุจริตได้สูญหายไปในวันที่  31  กรกฎาคม  2553  จึงครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่  31  กรกฎาคม  2555  ดังนั้นนายคนดีจะเริ่มไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ในวันที่  1  สิงหาคม  2555  ตามมาตรา  61  วรรคสอง (3)

ส่วนกรณีของนางซื่อสัตย์นั้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ในวันที่  31  กรกฎาคม  2553  ได้มีผู้พบศพแล้ว  จึงเป็นการสิ้นสุดสภาพบุคคลโดยการตายธรรมดา  นายคนดีจึงไม่สามารถจะไปร้องขอให้ศาลสั่งให้นางซื่อสัตย์เป็นคนสาบสูญได้

สรุป  นายคนดีร้องขอให้ศาลสั่งให้นายสุจริตเป็นคนสาบสูญได้  โดยร้องขอได้ในวันที่  1  สิงหาคม  2555  เป็นต้นไป  แต่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้นางซื่อสัตย์เป็นคนสาบสูญไม่ได้

 

ข้อ  3  นายไก่ลูกมหาเศรษฐีแห่งประเทศไทย  นำเงินส่วนตัวไปซื้อรถยนต์มา  1  คัน  มูลค่า  5  ล้านบาท  ในขณะนั้นอายุ  18  ปีบริบูรณ์  ต่อมามารดาร้องขอต่อศาลให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  เพราะจิตฟั่นเฟือน  ศาลตั้งมารดาเป็นผู้พิทักษ์  นายไก่ให้เพื่อนยืมลูกช้างไปแสดงโชว์ฝรั่ง  4  เชือกโดยลำพัง  ต่อมานายไก่ป่วยหนักขึ้นถึงขั้นวิกลจริต  ไปซื้อที่ดินจากนายขวดขณะกำลังวิกลจริต  แต่นายขวดไม่ทราบว่าวิกลจริต  ต่อมาศาลสั่งให้นายไก่เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งมารดาเป็นผู้อนุบาล  ผู้อนุบาลอนุญาตให้นายไก่ไปซื้อลูกสุนัขพันธุ์ดีมูลค่า  5  แสนบาท  1  ตัว  จากนายเขียวมาเลี้ยง

สัญญาซื้อขายรถยนต์  ให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือก  สัญญาซื้อขายที่ดิน  และสัญญาซื้อลูกสุนัข  ซึ่งนายไก่ทำขึ้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  จงอธิบาย 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา 34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

1       สัญญาซื้อขายรถยนต์

โดยหลัก  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  21  เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์สามารถทำเองได้โดยลำพังและมีผลสมบูรณ์ 

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายไก่นำเงินส่วนตัวไปซื้อรถยนต์นั้น  ไม่ถือเป็นนิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์จะได้ไปซึ่งสิทธิหรือเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังแต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อนายไก่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  สัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  21

2       สัญญาให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือก

โดยหลัก  คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ได้โดยลำพังตนเอง  และมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างตามมาตรา  34  ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายไก่คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกช้างนั้นเป็นเพียงการให้ยืมสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น  ไม่ใช่กรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า  (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่)  ซึ่งเป็นนิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา  34(3)  ดังนั้นถึงแม้นายไก่จะให้เพื่อนยืมลูกช้างโดยลำพัง  กล่าวคือ  ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์  สัญญาให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือกดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆียะ

3       สัญญาซื้อขายที่ดิน

โดยหลัก  นิติกรรมใดๆที่คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้นมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะที่จริตวิกล  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต  ตามมาตรา  30

ตามข้อเท็จจริง  แม้ว่านายไก่คนวิกลจริตได้ไปซื้อที่ดินจากนายขวดในขณะกำลังวิกลจริต  แต่เมื่อนายขวดคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ทราบว่านายไก่เป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินจึงมีผลสมบูรณ์  ไม่ตกเป็นโมฆียะ

4       สัญญาซื้อลูกสุนัข

โดยหลัก  คนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมใดๆได้  ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน  ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม  ถึงแม้จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาล  นิติกรรมนั้นก็ตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  29

ตามข้อเท็จจริง  การที่นายไก่คนไร้ความสามารถไปซื้อลูกสุนัขพันธุ์ดีจากนายเขียว  แม้ว่าจะได้รับความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้อนุบาล  สัญญาซื้อลูกสุนัขดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ

สรุป

1)    สัญญาซื้อขายรถยนต์มีผลเป็นโมฆียะ

2)    สัญญาให้เพื่อนยืมลูกช้าง  4  เชือกมีผลสมบูรณ์

3)    สัญญาซื้อขายที่ดินมีผลสมบูรณ์

4)    สัญญาซื้อลูกสุนัขมีผลเป็นโมฆียะ

Advertisement