ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1001 (LA 101),(LW 101) หลักกฎหมายมหาชน
ข้อ 1 การบริการสาธารณะหมายความว่าอย่างไร มีลักษณะเป็นอย่างไร และมีความเกี่ยวข้องกับศาลปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบการบริการสาธารณะ หมายถึง กิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรือในความควบคุมของฝ่ายปกครองที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน และกิจการเหล่านี้โดยสภาพแล้ว ไม่อาจทำให้บรรลุผลสำเร็จได้หากปราศจากกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้
การบริการสาธารณะมีลักษณะดังนี้– ต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้
– ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ
– ต้องกระทำอย่างเสมอภาค
– สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เสมอโดยกฎหมาย
การบริการสาธารณะมีความเกี่ยวข้องกับศาลปกครอง คือ การดำเนินกิจการบริการสาธารณะต้องมีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้และการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายมหาชนแล้วเกิดกรณีพิพาทขึ้นเรียกว่ากรณีพิพาททางปกครอง และเมื่อเกิดกรณีพิพาททางปกครองขึ้นแล้ว หากจะต้องนำกรณีพิพาทนั้นไปขึ้นศาลจะต้องนำไปขึ้นศาลปกครอง
เพราะศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาคดีปกครอง คือ คดีเป็นข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำ หรือละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น การบริการสาธารณะจึงมีความสัมพันธ์กับศาลปกครองดังกล่าว
ข้อ 2
(ก) กฎหมายมหาชนมีวิวัฒนาการอย่างไร
(ข) จงอธิบาย ความหมายของกฎหมายมหาชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างกฎหมายมหาชนมาอย่างน้อย 10 ฉบับ
ธงคำตอบ
(ก) วิวัฒนาการของกฎหมายมหาชน ก่อนที่จะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนใหญ่แล้วปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองสูงสุด ประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกปกครองที่ต้องปฏิบัติตามและไม่สามารถจะควบคุมการใช้อำนาจของผู้ปกครองได้ หลังจากปี ค.ศ.1788 แนวความคิดและวิธีการปกครองประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากอังกฤษ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นแนวทางในการปกครองประเทศ โดยยึดหลักที่ว่า
1. ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและมีความเสมอภาคกัน
2. ผู้ที่จะมาใช้อำนาจปกครองประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ และมีกฎหมายได้ให้
อำนาจหน้าที่ไว้
3. การใช้อำนาจของผู้ปกครองประเทศ จะต้องใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน.
4. การใช้อำนาจนั้นจะต้องสามารถตรวจสอบ เเละมีระบบการควบคุมการใช้อำนาจให้อยู่ในความเหมาะสมได้
หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว คือหลักการปกครองโดยกฎหมายที่เรียกว่า หลักนิติรัฐ
หลักนิติรัฐ หมายความว่าประชาชนจะไม่ถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยขาดความยุติธรรมเพราะรัฐและเจ้า หน้าที่ของรัฐมีอำนาจปกครองตามกฎหมาย แต่จะใช้อำนาจเกินเลยจากที่กฎหมายให้อำนาจไว้ไม่ได้ประชาชนมีสิทธิที่จะ เรียกร้องและขอความเป็นธรรมได้
หน้าที่หลักของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การบริการสาธารณะ
การบริการสาธารณะ คือ การบริหารงานปกครองที่จัดทำเพื่อสนองความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวม และการบริการสาธารณะโดยสภาพแล้วไม่อาจทำให้บรรลุผลสำเร็จได้ หากปราศจากการใช้อำนาจของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าแทรกแซง ซึ่งกฎหมายที่ให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบริหารการปกครองและการบริการสาธารณะนั้น เรียกว่า กฎหมายมหาชน
กฎหมายมหาชนจึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในการบริหารการปกครองและการบริการสาธารณะและการใช้อำนาจตามหน้าที่ดังกล่าวต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบได้
ข. กฎหมายมหาชน หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน หรือระหว่างเจ้าหน้าที่
หรือผู้ใช้อำนาจของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างองค์กรของรัฐกับเอกชนในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายปกครองมีอำนาจ ปกครองตามกฎหมาย และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือระหว่างเจ้า หน้าที่ของรัฐด้วยกัน ในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อเกิดกรณีพิพาททางกฎหมายมหาชนต้องสามารถตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจ ปกครองได้ตามนิติวิธีทางกฎหมายมหาชน
กฎหมายมหาชน เช่น
1. กฏหมายรัฐธรรมนูญ
2. พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พศ.2534
3. พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด
4. พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
5. พ.ร.บ. เทศบาล
6.พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
7. พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
8. พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยต่าง ๆ
9. พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ
10.พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯลฯ
ข้อ 3 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ได้บัญญัติการแบ่งส่วนการบริหารราชการแผ่นดินของไทยไว้อย่างไร และส่วนราชการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนอย่างไร
ธงคำตอบ
พระราชบัญญัติระเบียบราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนได้จัดระเบียบบริหาร
ราชการแผ่นดินเป็น 3 ส่วน คือ
1. การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีฐานะเป็น
นิติบุคคลตามกฎหมาย
2. การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดและอำเภอโดยกฎหมายบัญญัติให้จังหวัดเท่านั้น
ที่เป็นนิติบุคคล ส่วนอำเภอไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
3. การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่
– องค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.)
– เทศบาล
– องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
– เมืองพัทยา
– กรุงเทพมหานคร
การแบ่งส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534 เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ตามหลักกฎหมายมหาชน ดังนี้
นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของกฎหมายให้เป็นนิติบุคคล ได้แก่ หน่วยงานในการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ วัดในพระพุทธศาสนา และองค์การมหาชน
บุคคลธรรมดาตามกฎหมายมหาชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึงบุคคลหรือคณะบุคคลสำคัญในการบัญญัติจัดตั้งและให้อำนาจหน้าที่แก่องค์กรปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ตลอดจนให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดองค์กรดังกล่าว เพื่อดำเนินการในทางปกครองและการบริการสาธารณะ ซึ่งหากปราศจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็จะไม่เกิดองค์กรเหล่านี้ขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่สามารถใช้อำนาจทางปกครองได้ ทั้งนี้ เพราะการใช้อำนาจของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนและบุคคลธรรมดาตามกฎหมายมหาชนจะ กระทำได้ก็แต่โดยที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น