การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1001  หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

ข้อ 1. กฎหมายมหาชนคืออะไร ลักษณะเฉพาะของกฎหมายมหาชนมีลักษณะอย่างไรบ้าง จงอธิบาย

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กล่าวกำหนดถึงกฎเกณฑ์ของกฎหมายรวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองเหนือพลเมืองซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชนลักษณะเฉพาะของกฎหมายมหาชน มี 6 ลักษณะ ดังนี้

1. กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ใช้ในการปฏิรูป ความหมายของคำว่า ปฏิรูป (ปะ- ติ- รูป) ตาม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน แปลว่า เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงให้สมควรหรือดีขึ้น เปลี่ยนรูปใหม่ ดัดแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น ไทยใช้เป็นคำกริยาตามความหมายที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูประบบกฎหมายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

2. กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ใช้กับนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนและบุคคลธรรมดา

3. กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่มีเพื่อสาธารณะประโยชน์ สาธารณะประโยชน์ คือ ประโยชน์สำหรับประชาชนส่วนรวม และเป็นผลดีแก่คนทั่วไปการประสานประโยชน์ระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ ส่วนตัวของเอกชนถือเป็นนิติปรัชญาอันสำคัญของกฎหมายมหาชน

4. กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค สามารถบังคับเอาได้ จากคำจำกัดความดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคของบุคคล 2 ฝ่าย คือ รัฐหรือหน่วยงานของรัฐฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งคือเอกชนหรือราษฎรซึ่งลักษณะของความไม่เสมอภาคจะปรากฏ ดังนี้

4.1 ความไม่เสมอภาคในที่นี้ปรากฏให้เห็นถึงเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองที่มีอยู่เหนือราษฎร โดยฝ่ายปกครองหรือฝ่ายของรัฐ จะมีสิทธิพิเศษเหนือราษฎรในการบริหารงานต่าง ๆ ของฝ่ายปกครอง เช่น การออกกฎหมายการเก็บภาษีการพิมพ์ธนบัตร การเกณฑ์ทหาร การเวนคืนที่ดิน ฯลฯ เป็นต้น

4.2 นอกจากนี้กฎหมายมหาชนยังเป็นกฎหมายที่มีลักษณะบังคับเพื่อที่จะให้การกระทำทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครองของตนบรรลุผลการบังคับการให้เป็นไปตาม นิติกรรมทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครองนั้น ฝ่ายปกครองมีเอกสิทธิ์ที่จะบังคับให้เอกชนปฏิบัติตามคำสั่งของตนได้เอง ซึ่งเป็นผลจากการที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจมหาชน จึงทำให้นิติกรรมทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครองนั้นมีสภาพบังคับต่อเอกชนโดย ทันที โดยที่ฝ่ายปกครองไม่ต้องไปร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งบังคับให้เอกชนปฏิบัติตาม การตรวจสอบของศาลว่านิติกรรมทางปกครองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จะทำกันในภาย หลัง กล่าวคือ หลังจากที่คำสั่งทางปกครองนั้นออกมาใช้บังคับแล้วนั่นเอง

4.3 ความไม่เสมอภาคดังกล่าวมาแล้วข้างต้นอาจจะปรากฏให้เห็นในรูปของสัญญาที่มีข้อความให้เอกสิทธิ์
แก่ฝ่ายปกครองในการบอกเลิกสัญญาหรือแก้ไข้สัญญาได้โดยฝ่าย เดียว โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของเอกชนคู่สัญญาสัญญาดังกล่าว ตามหลักกฎหมายปกครองเราเรียกสัญญาลักษณะนี้ว่าเป็น สัญญาทางปกครอง อย่างไรก็ตาม การจะบอกเลิกแก้ไขสัญญาแต่ฝ่ายเดียวของฝ่ายปกครองก็ต้องทำไปโดยคำนึงถึงหลัก ความถูกต้องตามกฎหมายและต้องทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจมหาชนไปกลั่นแกล้งเอกชน

5. กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมอำนาจรัฐและหน่วยงานของรัฐ ในคติเสรีนิยมประชาธิปไตย ถือว่าแม้รัฐมีอำนาจอธิปไตย แต่รัฐก็ต้องเคารพกฎหมาย ทฤษฎีที่ว่ารัฐต้องเคารพกฎหมายที่ตนเองเป็นผู้ออกทฤษฎีหลักๆ คือ

5.1 ทฤษฎีว่าด้วยการจำกัดอำนาจตนเองด้วยความสมัครใจ

5.2 ทฤษฎีนิติรัฐ

6. ลักษณะพัฒนาการของกฎหมายมหาชน จะไม่มีความต่อเนื่องเหมือนกฎหมายเอกชนซึ่งมีความต่อเนื่องและมีความสมบูรณ์ มีการวิจารณ์อย่างเป็นระบบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ประมวลสมัยโรมัน มีประมวลกฎหมายแพ่งที่เรียกว่าCorpus Juriilis Civilis ซึ่งมีผลต่อประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส ค.ศ. 1804 และประมวลกฎหมายแพ่งของเยอรมันค.ศ. 1900

 

ข้อ 2. จงยกตัวอย่างกฎหมายมหาชนมา 5 ฉบับ และอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นกฎหมายมหาชน

ธงคำตอบ

 กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่รัฐ แก่หน่วยงานของรัฐ และแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและเมื่อเกิดกรณีพิพาททางกฎหมายมหาชนจะต้องใช้นิติวิธีทางกฎหมายมหาชน ได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 700 ฉบับ

ตัวอย่างของกฎหมายมหาชน เช่น

1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
2. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
3. พระราชบัญญัติองค์กรบริหารส่วนจังหวัด
4. พระราชบัญญัติเทศบาล
5. พระราชบัญญัติการไฟฟ้า
6. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง
กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายมหาชน เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่
รัฐหรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเมื่อเกิดกรณีพิพาทตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องใช้นิติวิธีทางกฎหมายมหาชน หรือใช้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองในการพิจารณาคดี

 

ข้อ 3. คำกล่าวที่ว่า จุดเริ่มต้นของการบริหารราชการแผ่นดินในแบบราชการส่วนภูมิภาคนั้นมีจุดก่อเกิดมาจากในสมัยปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านเข้าใจคำกล่าวนี้อย่างไร และปัจจุบัน จากกระแสการปฏิรูปการเมืองในปัจจุบัน ทั้งจากลไกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ท่านคิดว่าทิศทางหรือการปรับบทบาทของราชการส่วนภูมิภาคในอนาคตควรเป็นเช่นใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

 คำกล่าวที่ว่า จุดเริ่มต้นของการบริหารราชการแผ่นดิน แบบราชการส่วนภูมิภาคนั้น มีจุดก่อเกิดมาจากในสมัยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของในหลวงรัฐกาลที่ 5 คำดังกล่าวเป็นความจริง ทั้งนี้ เพราะในสมัยของรัฐกาลที่ 5 ได้ชื่อว่า เป็นยุคแห่งการปฏิรูปทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน และระบบกฎหมายหลายประการ เช่น มีการยกเลิกระบบจัตตุสดมภ์ มาเป็นการจัดตั้งหน่วยราชการเป็นกรม 12 กรม ซึ่งเป็นรากฐานของกระทรวงในปัจจุบัน ยกเลิกระบบให้ราชการกินเมืองมาเป็นการรับเงินเดือนจากรัฐ ปฎิรูประบบการเงินการคลัง โดยมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน รวมทั้งการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ การปฏิรูประบบกฎหมาย มาใช้บังคับ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปสังคมมีการยกเลิกศาลและไพร่

สำหรับคำกล่าวที่ว่า รากฐานของราชการส่วนภูมิภาคนั้น มาจากแนวคิดของพระองค์ ก็คือ เป็นระบบที่พัฒนามาจากระบบเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.2537 เป็นระบบการบริหารราชการที่ประกอบด้วย ข้าราชการของพระมหากษัตริย์ไปทำหน้าที่แทนรัฐบาลกลางในส่วนภูมิภาคโดยแยกเป็น

มณฑลมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบ
เมือง – มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ
อำเภอ – มีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ
ตำบล – มีกำนันเป็นผู้รับผิดชอบ
หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบ

ซึ่งต่อมา ก็มีการตรากฎหมาย พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ.2457 อันเป็นรากฐานที่สำคัญและเป็นการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคอย่างเป็นระบบ อันเป็นรากฐานมาจนกระทั่งถึงในปัจจุบันนี้สำหรับทิศทางในอนาคตของราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคนั้น

หากพิจารณาจะเห็นได้ว่า กระแสการปฏิรูปการเมืองและการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 283-290) ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการปกครองตนเองของประชาชน (self Government) ได้แก่รูปแบบของ องค์การบิหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เทศบาล เมืองพัทยา แลกรุงเทพมหานคร

ดังนั้น บทบาทของราชการส่วนภูมิภาคในปัจจุบันจึงต้องลดบทบาทและความสำคัญลง โดยเปลี่ยนจากผู้ควบคุมบังคับบัญชามาเป็นผู้กำกับดูแล คอยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีอิสระทางการคลัง และสามารถดำเนินการบริหารจัดการท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ภายใต้การกำกับดูแล ทั้งของนายอำเภอผู้ว่าราชการจังหวัด และราชการส่วนกลาง โดยไม่ใช้อำนาจที่จะเอาไปควบคุมบังคับบัญชา และในอนาคตอาจจะเน้นไปที่สองส่วนราชการก็เป็นไปได้ นั้นคือ ราชการส่วนกลางกับราชการท้องถิ่น ดังเช่น กรณีของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น

Advertisement