การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1001 หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

ข้อ 1. กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายเกี่ยวกับรัฐ อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการปกครอง หรือเป็น กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองภายในรัฐ กล่าวคือ กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎรในลักษณะที่รัฐหน่วยงานของรัฐรวมทั้งเจ้า หน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นฝ่ายปกครองมีเอกสิทธิ์หรือมีสถานะเหนือกว่าราษฎรซึ่ง เป็นเอกชน

จึงขอให้นักศึกษาอธิบายให้เข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้

ก. ความหมายของคำว่า รัฐ รัฐคืออะไร องค์ประกอบของรัฐมีอะไรบ้าง
ข. ลักษณะเฉพาะของอำนาจรัฐมีอะไรบ้างให้อธิบายมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

ก. ศาสตราจารย์ยอร์ช บูร์โด ได้อธิบายความหมายของ รัฐ ไว้ว่า รัฐคือ อำนาจที่ถูกจัดเป็นสถาบัน รัฐ คือผู้ถืออำนาจที่ เป็นนามธรรมและถาวร โดยมีผู้ปกครองซึ่งเป็นแต่เพียงเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการอันสำคัญที่ ผ่านไปเท่านั้น เนื่องจากรัฐ เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สมมุติให้มีขึ้น ดังนั้นรัฐจึงเป็นนามธรรมองค์ประกอบของรัฐที่อธิบายกันมาแบบดั้งเติมนั้นจะ มีอยู่เพียง 4 ประการคือ ดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล 

 โดยทั่วไป รัฐจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสลับซับซ้อนและจะประกอบไปด้วยองค์ ประกอบต่าง ๆ มากมาย ได้แก่

1. ดินแดน (territov)
2. ประชากร (population)
3. รัฐบาล (govemment)

4. อำนาจอธิปไตย (sovereignty)
5. ความต่อเนื่อง (continuity)
6. การดำเนินการทางด้านควานมั่นคง (security)
7. การรักษาความสงบเรียบร้อย (order)
8. การอำนวยความยุติธรรม (justice)
9. การสวัสดิการสังคม (welfare)
นอกจากนี้ รัฐยังจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือทรัพยากร (resources) การคลัง
(finances) ระบบราชการ (bureaucracy) และการดำรงอยู่ในสังคมแห่งรัฐต่าง ๆ หรือสังคมโลก (existence as part of a society ofstates )
ข. ลักษณะเฉพาะของอำนาจรัฐอำนาจรัฐ ก็คือ อำนาจมหาชน ซึ่งเป็นอำนาจเพื่อสาธารณประโยชน์ในประเทศประชาธิปไตยแบบตะวันตก อำนาจรัฐจะมีลักษณะเฉพาะคือ การเป็นอำนาจซ้อนและการรวมศูนย์อำนาจ การเป็นอำนาจทางการเมือง การเป็นอำนาจทางพลเรือนและการเป็นอำนาจทางอาณาจักร
1 อำนาจของรัฐเป็นอำนาจซ้อนและการรวมศูนย์ อำนาจลักษณะเฉพาะของอำนาจรัฐในส่วนนี้จะปรากฏเหมือนกันในทุกรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม
2 อำนาจรัฐเป็นอำนาจทางการเมือง ในรัฐทุกรัฐ นอกจากอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึง อำนาจในการควบคุมการผลิต และอำนาจในการกระจายทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในแต่ละรัฐยังมีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่ได้สืบเนื่องมาจากอำนาจในการควบคุมปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่เป็นอำนาจที่มีลักษณะทางการเมือง กล่าวคือประการแรก อำนาจรัฐเป็นอำนาจแห่งการตัดสินใจ ชึ่งอธิบายไดัว่าภารกิจและหน้าที่ของรัฐนั้นยิ่งนับวันก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น และทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความต้องการใหม่ๆ และรัฐจะอยู่ในฐานะผู้ตัดสินใจที่จะเลือกดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ประการที่สอง อำนาจรัฐสมัยใหม่จะไม่มีการปะปนกันระหว่างทรัพย์สินของรัฐและทรัพย์สินของผู้ปกครองซึ่งผิดกับสมัยศักดินาที่ไม่สามารถแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินของกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครได้ประการที่สาม สภาพบังคับที่ใช้โดยรัฐนั้น ต้องมีลักษณะทางการเมืองแท้ ๆ กล่าวคือ อำนาจที่ใช้กับผู้คนในสังคมนั้นจะมีอยู่สองแบบคือ อำนาจโดยตรง อันได้แก่ อำนาจที่เป็นคำสั่งต่อตัวบุคคลโดยตรง ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตาม บุคคลนั้นก็ย่อมจะมีโทษกับ อำนาจทางอ้อม อันได้แก่อำนาจในการถือครองสิ่งของที่บุคคลต้องการเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งถ้าไม่เคารพอำนาจนี้
ก็จะมีการเอาทรัพย์สินสิ่งของนั้นไป อำนาจทางอ้อมนี้จึงเรียกว่า อำนาจทางเศรษฐกิจ หรืออาจจะเป็น อำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง ส่วนอำนาจรัฐในรัฐเสรีนิยมไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของบุคคล ดังนั้น รัฐเสรีนิยมจึงใช้แต่อำนาจทางการเมืองแท้ ๆ ต่อบุคคลเท่านั้น

 

3 อำนาจรัฐเป็นอำนาจทางพลเรือน ในรัฐสมัยใหม่การที่อำนาจทางพลเรือนอยู่เหนืออำนาจทางทหารได้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการอันยาวนานของระบบการปกครองของ รัฐตะวันตก เพราะรัฐในสมัยก่อน ๆ นั้นมีลักษณะที่เน้นควานสำคัญและความเข้มแข็งทางด้านทหารอย่างมาก แต่ในปัจจุบันอำนาจรัฐในประเทศแถบตะวันตกจะมีลักษณะเป็นอำนาจทางพลเรือน

กล่าวคือ อำนาจรัฐเป็นอำนาจที่มีเพื่อสันติภาพและใช้โดยผู้นำที่เป็นพลเรือน ในขณะเดียวกัน รัฐก็มีอำนาจทางทหาร ซึ่งเป็นอำนาจที่มีเพื่อการป้องกันประเทศ แต่อยู่ใต้อำนาจทางพลเรือนภายใต้ความสัมพันธ์ เช่นนี้ กองทัพในประเทศตะวันตกจึงเป็นผู้ที่เชื่อฟังและปฏิบัติกองทัพไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ

4. อำนาจรัฐเป็นอำนาจในทางอาณาจักร การแบ่งแยกระหว่างอำนาจในทางอาณาจักรกับอำนาจในทางศาสนา เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของเสรีภาพ ในยุคกลางโบสถ์ในคริสต์ศาสนามีบทบาททางสังคมสูงมาก เพราะนอกจากคริสตจักรจะเป็นองค์กรผู้นำทางด้านจิตวิญญาณและเป็นศูนย์กลางของ ความศรัทธาเชื่อมั่นในพระเจ้าแล้ว คริสตจักรยังเป็นองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งระบบการบริหารปกครองมาจากโรมัน และยังเป็นแหล่งที่เก็บรวบรวมบรรดาความรู้และวิทยาการในด้านต่าง ๆ 

รวม ทั้งศาสตร์และศิลปะในการปกครองในช่วงยุคกลาง พระหรือนักบวชในคริสต์ศาสนาจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อกษัตริย์และเจ้าผู้ ปกครองเมืองและแว่นแคว้นต่าง ๆ ในยุคดังกล่าวนี้บทบัญญัติและมาตรฐานความยุติธรรมของศาสนจักรได้เข้าไปก้าว ก่ายครอบงำอำนาจทางการเมืองและอำนาจพลเมืองของฝ่ายอาณาจักร ทั้งในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและในด้านการปกครอง ลักษณะเช่นนี้จึงไม่สามารถแยกอำนาจขออาณาจักรออกจากการครอบงำของศาสนจักรได้ ต่อมาเมื่อการค้าโพ้นทะเลและระบบทุนก้าวหน้ามากขึ้น แนวความคิดเสรีนิยมก็พัฒนาแพร่หลาย และเข้มแข็งมากขึ้นรวมทั้งเหตุการณ์การปฏิรูปศาสนา (The Reformation) ซึ่งนำไปสู่การแยกออกมาเป็นคริสต์ศาสนานิกายต่าง ๆ

ซื่งแอบแฝงการสนับสนุนอยู่เบื้องหลังของฝ่ายอาณาจักรที่ต้องการหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของฝ่ายคริสตจักรโรมันคาธอลิค อำนาจอันมากล้นของศาสนจักรก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยลง พวกชนชั้นกลางก็ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้กษัตริย์เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อแยก รัฐ หรืออาณาจักรออกจากอิทธิพลของศาสนจักรให้เด็ดขาดไป

 

ข้อ 2. กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่รัฐ แก่หน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง

จงยกตัวอย่างว่า กฎหมายปกครองได้แก่กฎหมายอะไรบ้าง และกฎหมายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้อำนาจทางปกครองและศาลปกครองอย่างไร

ธงคำตอบ

พระราชบัญญัติสวนใหญ่เป็นกฎหมายปกครอง ถ้าพระราชบัญญัตินั้นบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐหรือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

เช่น พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายมหาชนที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฯลฯ

กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้อำนาจหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐ ได้แก่หน่วยงานในการบริหารราชการ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้อำนาจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับต่อสิทธิ สถานภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางปกครองหรือการออกกฎ เมื่อเกิดปัญหาในการใช้อำนาจทางปกครองเรียกว่า กรณีพิพาททางปกครองจะต้องนำคดีไปสู่ศาลปกครอง

ศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครอง คือ คดีที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ข้อ 3 การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ โดยการควบคุมแบบป้องกันคืออะไร และมีรูปแบบอย่างไร เหตุใดจึงมีคำกล่าวว่าการควบคุมแบบป้องกันมักไม่ค่อยได้ผลเมื่อเปรียบเทียบกับการควบคุมแบบแก้ไข ท่านเข้าใจคำกล่าวข้างต้นอย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

 การควบคุมแบบป้องกัน คือ การควบคุมในขั้นตอนตระเตรียมการก่อนที่องค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายบริหารจะมีคำสั่งหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

การควบคุมโดยการปรึกษาหารือองค์กรที่ปรึกษา เช่น การขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย หรือนิติกรรมในทางปกครอง หรือให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

การควบคุมโดยการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยอาจเป็นการโต้แย้งคัดค้านก่อนที่องค์กรของฝ่ายรัฐฝ่ายบริหาร จะมีคำสั่งทางปกครอง การปรึกษาหารือกับองค์กรหรือตัวแทนของกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย การไต่สวน การรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ และการให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครอง.

เหตุที่มีการระบุเช่นนั้น เนื่องมาจากรูปแบบของการควบคุมแบบป้องกันนั้นยังขาดหลักประกันในการดำเนินการหรือการเปิดโอกาสให้ประชาชน สามารถที่จะเข้ามามีส่วนในการควบคุมก่อนที่องค์กรของรัฐหรือ เจ้าหน้าที่รัฐจะมีคำสั่งหรือนิติกรรมในทางปกครองอันส่งผลกระทบถึงประขาชน จึงมักมีการละเลยหรือไม่ปฏิบิตตามของแต่ละหน่วยงาน ในการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งที่โดยทางกฎหมายและจะต้องดำเนินการเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการในทางปกครอง พ.ศ.2539 พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ.2540 ซึ่งต่างจากการควบคุมแบบแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยวิธีการทางศาล (ศาลปกครอง) ที่มีความชัดเจน ทั้งในแง่การดำเนินการวิธีพิจารณา หลักประกันความเป็นอิสระ และสภาพบังคับ อันจะเป็นการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวได้

Advertisement