การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้
ก) จงอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง
– หน่วยงานทางปกครอง
– เจ้าหน้าที่ของรัฐ
– กฎหมายปกครอง
– การใช้อำนาจทางปกครอง
– การบริการสาธารณะ และ
– ศาลปกครอง
พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน
ข) เพราะเหตุใดจึงต้องตราพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ขึ้นมาใช้และมีความสำคัญอย่างไรกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
ก กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนใหญ่จะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติ หรืออาจจะอยู่ในชื่อของกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นต้น
ดังนั้นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งได้แก่หน่วยงานในการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานอื่นๆของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองด้วย และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้แก่ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่จะดำเนินการในทางปกครองหรือบริการสาธารณะได้จะต้องมีกฎหมายปกครองบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้ มิฉะนั้นไม่สามารถดำเนินการได้
การใช้อำนาจทางปกครอง คือ การใช้อำนาจตามกฎหมายปกครองของเจ้าหน้าที่เพื่อออกคำสั่งหรือดำเนินการอื่นใดในทางปกครอง หรือบริการสาธารณะ คือ กิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรืออยู่ในความควบคุมของฝ่ายปกครอง ซึ่งการใช้อำนาจทางปกครองและการบริการสาธารณะจะสำเร็จได้จะต้องมีกฎหมายปกครองบัญญัติให้อำนาจไว้ และเมื่อการใช้อำนาจทางปกครองหรือการบริการสาธารณะของเจ้าหน้าที่เกิดกรณีพิพาทตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ก็จะต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นกฎหมายปกครอง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ เช่น บัญญัติให้อำนาจหน้าที่แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงาน ที่ดินมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริม ทรัพย์ หรือมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน เป็นต้น
ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้วเกิดกรณีพิพาทขึ้น เช่น เจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ถือว่าข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อพิพาททางปกครอง หรือที่เรียกว่า คดีปกครอง ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงต้องนำคดีดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีปกครองตาม มาตรา 9 ดังกล่าว
ข เนื่องจากกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะอยู่ในชื่อของพระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ในชื่อของกฎหมาย หรืออยู่ในชื่อของพระราชกำหนด ซึ่งรวมแล้วมีมากกว่า 700 ฉบับ ซึ่งในการดำเนินการในทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่กฎหมายแต่ละฉบับได้บัญญัติไว้นั้น อาจจะแตกต่างกัน
ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ขึ้นมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานราชการและ เพื่อให้การดำเนินงานในทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายในแนวทางเดียวกัน ได้แก่ การวางกรอบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งทางปกครอง เช่น การวางหลักเกี่ยวกับการพิจารณาทางปกครอง รูปแบบและผลของคำสั่งการอุทธรณ์คำสั่ง การเพิกถอนคำสั่ง การขอให้พิจารณาใหม่ การบังคับทางปกครอง วิธีแจ้งคำสั่งรวมทั้งระยะเวลาและอายุความ เป็นต้น
ข้อ 2 กรณีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองจะต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครอง จงอธิบายว่ากรณีพิพาทใดบ้างที่จะต้องนำคดีไปฟ้องศาลปกครอง
ธงคำตอบ
กรณีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง และจะต้องนำคดีนั้นไปฟ้องยังศาลปกครองได้แก่ คดีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งมีดังนี้
(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
(2) คดี พิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อ หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า เกินสมควร
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
(5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำ หรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
(6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ข้อ 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยานั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 รูปแบบไว้อย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 รูปแบบ ดังนี้
(1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 284 วรรคแรก)
(2) สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 284 วรรคสอง)
(3) คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น (มาตรา 284 วรรคสาม)
(4) วิธีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ (มาตรา 284 วรรคสี่)
(5) วาระการดำรงตำแหน่ง ทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารหรือบริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรงตำแหน่งที่เท่ากัน คือคราวละ 4 ปี (มาตรา 284 วรรคห้า)
(6) คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น จะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นและจะมีผลประโยชน์ขัดกันกับการดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายบัญญัติมิได้ (มาตรา 284 วรรคหก)
(7) การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้กระทำได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 284 วรรคเก้า)
ข้อ 4 นายเข้มเป็นข้าราชการ ขณะปฏิบัติราชการได้ดื่มสุราและเกิดอุบิเหตุทำปืนลั่นแต่โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต นายเข้มจึงถูกดำเนินคดีอาญาเปรียบเทียบปรับ 500 บาท ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมชน ผู้บังคับบัญชาของนายเข้มจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยกล่าวหานาย เข้มกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยต้องหาคดีอาญาฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิด โดยใช่เหตุฯ
แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายเข้มว่านายเข้มเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนอง จากนั้นมีคำสั่งลงโทษปลดนายเข้มออกจากราชการ โดยระบุว่ามีความผิดเพราะเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนอง ดังนี้ คำสั่งปลดนายเข้มออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 วรรคแรก บัญญัติว่า
ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครองใด และคำสั่งทางปกครองนั้นอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองนั้นจะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และต้องให้คู่กรณีได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง และวรรคสาม
วินิจฉัย
การที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งปลดนายเข้มออกจากราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองและกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีคือนายเข้ม โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่านายเข้มเมาสุรายิงปืนด้วยความคึกคะนอง ซึ่งทำให้นายเข้มไม่มีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาอันนำไปสู่การลงโทษได้เพียงพอ และไม่มีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่จะไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 30 วรรคแรก ดังนั้น คำสั่งปลดนายเข้มออกจากราชการจึงขัดต่อมาตรา 30 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คำสั่งปลดนายเข้มออกจากราชการ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น