การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.   โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวพิพาท จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและตึกแถวพิพาทจากโจทก์เป็นระยะเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทต่อไป แต่จำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สิน ส่งมอบที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามมิให้จำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินและดึกแถวดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนจำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาท จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้ผิดสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมากเกินความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่นายดำ ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายดำยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ให้วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ และนายดำมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทย์ร่วมได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือ บุคคลใดจะต้องให้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้โดยการร้องสอด

ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยจำเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตามคู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า

                        ในการนำคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทำได้เสมอไป ผู้ที่จะนำคดีเสนอต่อศาลได้จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1.         กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้

เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2.         กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่ามีความ

จำเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1)

ตามข้อเท็จจริง ขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งอยู่โดยละเมิดต่อโจทก์ได้ เพราะถือว่าได้มีข้อแย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 และแม้ภายหลังฟ้องคดีแล้ว โจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

                        ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า นายดำจะมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่ เห็นว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น ซึ่งหมายถึง จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคำพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีตามกฎหมายจะมีผลไปถึงตนด้วยนั่นเอง

                        เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่นายดำแล้ว นายดำซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จากโจทก์ ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) และเมื่อโจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้องต่อไป นายดำจึงมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้

สรุป โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้และนายดำมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้

 

ข้อ 2.   โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 นายเขียวขับรถยนต์ของผู้อื่นซึ่งประกันภัยไว้กับจำเลยชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย

จำเลยตกลงรับรถยนต์ของโจทก์เข้าทำการซ่อมแต่จำเลยไม่จัดการซ่อมจนถึงวันฟ้อง ซึ่งหากจำเลยจัดการซ่อมแล้วควรจะแล้วเสร็จภายใน 15 วัน ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้รถยนต์ของโจทก์ไปประกอบธุรกิจตามปกติต้องเช่ารถยนต์เสียค่าเช่าวันละ 1,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงวันละ 500 บาท นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท

ขอให้บังคับจำเลยจัดการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมแล้วส่งมอบแก่โจทก์หากไม่จัดการซ่อมให้ใช้ราคารถยนต์เป็นเงิน 200,000 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท และอีกวันละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะซ่อมหรือใช้ราคารถยนต์แทนเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากจำเลยไม่เข้าใจฟ้องโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับนายเขียวในฐานะใดและ จำเลยรับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากใคร

เหตุใดจึงต้องรับผิด เพราะแม้จำเลยจะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวแต่จำเลยจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันนั้นจะต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 172 วรรคสอง คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า คำฟ้องโจทก์จะเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์นั้น จะต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ถ้าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว อาจถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม อันเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้

กรณีตามอุทาหรณ์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคแรก บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้นคือสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดจากบุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” นั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยไว้ และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงถือเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้อง มิใช่เพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้

ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยและนายเขียวมีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไรอันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของนายเขียวฟ้องของโจทก์จึงถือเป็นคำฟ้องที่มิได้แสดงโดยชัดเจนซึ่งสถานภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม

สรุป ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม

 

ข้อ 3.   เอกฟ้องหนึ่งว่าขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของเอกเสียหายขอบังคับให้หนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เอกเป็นเงิน 200,000 บาท หนึ่งให้การและฟ้องแย้งว่าหนึ่งมิได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ แต่เอกต่างหากที่เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของหนึ่งเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับเอกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หนึ่งเป็นเงิน 300,000 บาท เอกให้การแก้ฟ้องแย้งว่าเอกมิได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานในวันนัดสืบพยาน หนึ่งมาศาลแต่เอกและทนายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดีทั้งหมดออกจากสารบบความ หนึ่งยื่นอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งไม่ชอบเพราะจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งมาศาลแล้วชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้พิจารณาคดีจำเลยในส่วนของฟ้องไปฝ่ายเดียว ส่วนเอกยื่นฟ้องหนึ่งเป็นคดีใหม่โดยปริยายฟ้องและมีข้อบังคับเช่นเดียวกับคดีก่อน หนึ่งยื่นคำให้การและฟ้องในคดีนี้เช่นเดียวกับคดีก่อน ดังนี้ฟ้องของเอกและฟ้องแย้งของหนึ่งในคดีใหม่เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 173 วรรคสอง นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

 (1)      ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…

วินิจฉัย

การที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1.         คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา

2.         คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3.         คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4.         ห้ามโจทก์ฟ้อง

5.         ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น    

กรณีตามอุทาหรณ์ ฟ้องของเอกและฟ้องแย้งของหนึ่งในคดีใหม่จะเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

            กรณีฟ้องของเอก การที่คดีเดิมเอกเป็นโจทก์ฟ้องหนึ่ง หนึ่งให้การและฟ้องแย้งเอก และในวันนัดสืบพยานหนึ่งมาศาล แต่เอกและทนายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดีทั้งหมดออกจากสารบบความนั้น ย่อมทำให้คดีของเอกเสร็จสิ้นไปจากศาลแล้วและถือว่าไม่มีคดีอยู่ระหว่างพิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อหนึ่งไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลในส่วนฟ้องของเอกในคดีเดิม คำฟ้องของเอกในคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

            กรณีฟ้องแย้งของหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเดิมออกจากสารบบความ แต่หนึ่งยื่นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องแย้งนั้น ย่อมทำให้คดีในส่วนของฟ้องแย้งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ดังนั้น การที่หนึ่งฟ้องแย้งใหม่ในเรื่องเดิม จึงถือเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

            สรุป เอกฟ้องใหม่ไม่เป็นฟ้องซ้อน ส่วนหนึ่งยื่นฟ้องแย้งใหม่เป็นฟ้องซ้อน

 

ข้อ 4.   โจทก์ฟ้องขอบังคับจำเลยชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าหนี้ระงับแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานและให้จำเลยนำสืบก่อน ในวันสืบพยานปรากฏว่าโจทก์และจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความในวันเดียวกันนั้นเองโจทก์ยื่นคำร้องว่าเหตุที่โจทก์มาศาลช้า เนื่องจากกลุ่มชุมนุมปิดถนนทุกสาย โจทก์ไม่จงใจขาดนัดขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือขอให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลสั่งจำหน่ายคดีไปแล้วไม่มีเหตุที่จะต้องสืบพยานต่อไปให้ยกคำร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                        มาตรา 200 วรรคแรก ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา

                        มาตรา 201 “ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

                        มาตรา 203 “ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา 201 และมาตรา 202 แต่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่

                        มาตรา 206 วรรคสาม ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความคดีฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลไม่เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนมาตรา 199 ตรี ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 207 ด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่…

วินิจฉัย

                        การขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 วรรคแรกนั้น หมายความว่า คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณาและหากคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ศาลก็ต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 201 โดยไม่มีข้อที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าคู่ความนั้นขาดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่จงใจ เพราะการขาดนัดโดยจงใจหรือไม่จงใจจะใช้กล่าวอ้างได้เฉาะเมื่อมีการพิจารณาฝ่ายเดียว (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202 และมาตรา 204) และมีการขอให้พิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม และมาตรา 207 เท่านั้น

                        กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาลไม่วันนัดสืบพยาน และศาลเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา (ตาม ป.ว.แพ่ง มาตรา 200 วรรคแรก) จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ(ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 201) ย่อมทำให้คดีเสร็จสิ้นไปจากศาล ไม่มีการพิจารณาฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องว่าเหตุที่โจทก์มาศาลช้าเนื่องจากกลุ่มชุมนุมปิดถนนทุกสาย โจทก์ไม่จงใจขาดนัด ขอให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปหรือขอให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไปก็คือการขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่นั่นเอง ศาลจึงสามารถยกคำร้องของโจทก์โดยอ้างเหตุว่าศาลสั่งจำหน่ายคดีไปแล้วไม่มีเหตุที่จะต้องสืบพยานต่อไปได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 203

สรุป คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement