การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ    ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเอกครอบครองทำประโยชน์ (น.ส.3) ในที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 450 ไร่ เป็นเวลาประมาณ 21 ปีแล้ว ต่อมาทางราชการได้ออกหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยกำหนดให้ผู้ครอบครองที่ดินขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ นายเอกขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อนายเอก ภริยาของนายเอก และบุตรของนายเอกที่บรรลุนิติภาวะอีก 6 คน คงเหลือที่ดินอีก 50 ไร่ นายเอกจึงให้นายโทจะโอนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่นายเอกในภายหลัง ต่อมานายโทโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่นายตรี นายเอกจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโทและนายตรีเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายเอกและเพิกถอนนิติกรรมหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

ให้วินิจฉัยว่า นายเอกมีอำนาจฟ้องนายโทและนายตรีหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                   มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

                   และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 5 “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต

วินิจฉัย      

                   ในการนำคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทำได้เสมอไป ผู้ที่จะนำคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

                   1.กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

                   2.กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่ามีความจำเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎสารบัญญัติให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1)

                   กรณีตามอุทาหรณ์ นายเอกมีอำนาจฟ้องนายโท และนายตรีหรือไม่ เห็นว่าเมื่อกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขว่าทางราชการจะออกหนังสือรับรอบการทำประโยชน์ที่ดินในบริเวณดังกล่าวให้แก่บุคคลถือครองได้ไม่เกินคนละ 50ไร่ ที่ดินที่พิพาทจึงเป็นที่ดินส่วนที่นายเอกไม่อาจขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ใส่ชื่อนายเอกได้ตามกฎหมาย การที่นายเอกสมคบกับนายโทขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่นายโทแทนนายเอก จึงเป็นการหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ดังนั้นนายเอกจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายเอกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างนายโทกับนายตรี และขอให้นายโทโอนที่ดินพิพาทแก่นายเอกได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 5 (เทียบแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6428/2456)

สรุป นายเอกไม่มีอำนาจฟ้องนายโทและนายตรี

 

ข้อ 2  ลำดวนกับทองดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ทองดีนำที่ดินพิพาทไปขายฝากไว้แก่เด่นชัย ลำดวนจึงยื่นฟ้องทองดีและเด่นชัยต่อศาล ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา เด่นชัยมายื่นฟ้องทองดีต่อศาลขอให้ขับไล่ทองดีออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย เพราะทองดีไม่ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนด ลำดวนจึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ อ้างว่าลำดวนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ทองดีไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายฝากโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลำดวน การขายฝากไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ หากท่านเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องสอดของลำดวนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                   มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)     หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

มาตรา 173 วรรคสอง นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1)     ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นและ..

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การฟ้องซ้อนมีบัญญัติไว้ในมาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.       คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา

2.       คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3.       คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4.       ห้ามโจทก์ฟ้อง

5.       ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลำดวนได้ยื่นฟ้องเด่นชัยและทองดีต่อศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา เด่นชัยมายื่นฟ้องทองดีต่อศาลขอให้ขับไล่ทองดีออกจากที่ดินพิพาทเพราะทองดีไม่ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนด ลำดวนจึงยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีอ้างว่าลำดวนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ทองดีไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายฝากโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลำดวน การขายฝากไม่ชอบ ดังนี้จะเห็นได้ว่า คำร้องสอดของลำดวนเป็นการตั้งสิทธิเข้ามาในคดีในฐานะคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(1) เพราะการพิพาทกันระหว่างเด่นชัยกับทองดีได้โต้แย้งสิทธิของลำดวน คำร้องสอดของลำดวนจึงเป็นคำฟ้อง และลำดวนผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นโจทก์

          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลำดวนได้ฟ้องเด่นชัยกับทองดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา เมื่อลำดวนนำเรื่องเดียวกันมาร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความและอยู่ในฐานโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) เพราะเป็นฟ้องซ้อน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 8995/2542) ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำร้องสอดของลำดวน

          สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำร้องสอดของลำดวน

 

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 นำโคของจำเลยที่ 1จำนวน 3ตัว จำเลยที่ 2 จำนวน 2 ตัว รวม 5ตัว เข้าไปปล่อยในสวนยางของโจทก์ซึ่งเพิ่งปลูกยางพารามาประมาณ 11 เดือน กำลังเจริญงอกงาม เป็นเหตุให้โคทั้งห้าตัวของจำเลยทั้งสองกัดกินต้นยางตายไปทั้งสิ้น 100ต้น ราคาต้นละ 500บาท รวมราคา 50,000 ทั้งนี้เป็นผลการประมาทของจำเลยทั้งสองโดยตรง และจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะทำลายทรัพย์ของโจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระให้ ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่า โคของจำเลยแต่ละคนทำให้โจทก์ต้องเสียหายเพียงใด และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างดังกล่าวตามคำให้การของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 172 วรรคสอง คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น

          วินิจฉัย

          ตาม ป. วิแพ่ง มาตรา 172 ได้บัญญัติไว้ว่า คำฟ้องโจทก์จะเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์นั้น จะต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาเช่นว่านั้น ถ้าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว อาจถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม อันเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้

          กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยทั้งสองให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

          กรณีแรก การที่จำเลยทั้งสองให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่า โคของจำเลยแต่ละคนทำให้โจทก์ต้องเสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุถึงการกระทำของจำเลยแต่ละคนที่ได้นำโคของตนปล่อยเข้าไปกัดกินต้นยางในสวนยางของโจทก์เป็นไปในลักษณะจำเลยแต่ละคนต่างคนทำละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าการกระทำอันเป็นการละเมิดของจำเลยแต่ละคนนั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนของแต่ละคนมากน้อยเป็นจำนวนเท่าใด ถือว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏชัดแจ้งซึ่งข้ออ้างแห่งการกระทำอันเป็นการละเมิดของจำเลยแต่ละคน และไม่ใช่หนี้ร่วมที่โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมได้ตามคำขอท้ายฟ้องจึงเป็นการขัดแย้งในตัว ยากที่จำเลยแต่ละคนจะต่อสู้คดีของตนได้ถูกต้อง การบรรยายฟ้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับเอากับจำเลยแต่ละคนให้รับผิดในส่วนของแต่ละคน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง(แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 959/2525) ข้ออ้างของจำเลยในข้อนี้จึงฟังขึ้น

          กรณีที่สอง การที่จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า อายุความไม่ใช่สภาพแห่งข้อหาโจทก์จึงไม่ต้องกล่าวมาในคำฟ้องว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด (เทียบแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 299/2545) ข้ออ้างของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

          สรุป ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าโคของจำเลยแต่ละคนทำให้โจทก์ต้องเสียหายเพียงใดนั้นฟังขึ้น ส่วนข้ออ้างที่ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว โดยพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยขอให้พิจารณาคดีใหม่ อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัด ศาลพิจาณาแล้วอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงวันนัดสืบพยานจำเลยขาดนัดพิจารณาอีก ศาลสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวในระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลและแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดีขอให้พิจาณาคดีใหม่ อ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 199 ตรี จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จำเลยนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่

(2)     คำขอให้พิจาณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย

มาตรา 206 วรรคสาม ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลไม่เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนตามมาตรา 199ตรี ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 207ด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่…

มาตรา 207 “เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และคู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199ตรี… มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

          กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยขาดนัดพิจารณาศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวโดยพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 207 ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงวันนัดสืบพยาน ปรากฏว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาอีก ศาลจึงสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ในระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลและแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดีขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคสามนั้น ได้บัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาซึ่งมาศาลในระหว่างพิจารณาฝ่ายเดียวมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ถ้าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจ หรือมีเหตุอันสมควร แต่คู่ความที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่นี้จะต้องมิใช่เป็นคู่ความที่เคยขาดนัดพิจารณาจนศาลพิพากษาให้แพ้คดี และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ และคู่ความนั้นขาดนัดพิจารณาอีก จึงต้องห้ามขอพิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199ตรี ประกอบมาตรา 207 ดังนั้นจำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคสาม และศาลจะมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

          สรุป ศาลจะมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

Advertisement