การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

 คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. สมชายครอบครองที่ดินมือเปล่าอันเป็นมรดกของมารดาที่ถึงแก่ความตาย สมศักดิ์อ้างต่อสมชายว่าเป็นบุตรผู้ตายขอแบ่งที่ดินอันเป็นมรดก สมชายเป็นโจทก์ฟ้องสมศักดิ์ต่อศาลขอให้พิพากษาว่าสมศักดิ์ไม่ใช่บุตรผู้ตายไม่มีสิทธิได้รับมรดก คดีอยู่ระหว่างพิจารณาสมทรงบิดาผู้ตายยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความขอให้ศาลสั่งแบ่งที่ดินมรดกดังกล่าวให้ตนในฐานะทายาท 1 ใน 3ส่วน ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องสอดของสมทรงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)       ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1749 วรรคแรก ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้

วินิจฉัย

            กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องสอดของสมทรงหรือไม่ เห็นว่าการที่สมชายเป็นโจทก์ฟ้องสมศักดิ์ต่อศาลขอให้พิพากษาว่าสมศักดิ์เป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่นั้น ไม่มีประเด็นกรณีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก อันทำให้สมทรงผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทและมีสิทธิในทรัพย์มรดกมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 วรรคแรกแต่อย่างใด อีกทั้งการพิพาทกันระหว่างสมชายกับสมศักดิ์ก็มิได้โต้แย้งสิทธิของสมทรง สิทธิของสมทรงจึงไม่เป็นการจำเป็นที่จะได้รับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(1) สมทรงจึงร้องสอดเข้ามาในคดีไม่ได้ ดังนั้นการที่สมทรงยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำร้องสอดของสมทรง

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำร้องสอดของสมทรง

 

ข้อ 2 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนโดยไม่สุจริตอันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ต่อนายเสกสมซึ่งรับจำนองโดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายเสกสม จำเลยที่ 2 ให้การว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นโจทก์ไม่นำค่าธรรมเนียมในการส่งหมายมาวางภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความและพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ดังนี้ คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

            มาตรา 145 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและกรพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี

            ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก…

            มาตรา 174 “ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ

(2)       โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว

มาตรา 176 “การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใดๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

วินิจฉัย

            ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายเสกสมนั้น โจทก์ก็จะต้องฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมที่ขอให้เพิกถอนเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ศาลจึงจะมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เนื่องจากเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่นำค่าธรรมเนียมในการส่งหมายมาวางภายในเวลาที่ศาลกำหนด ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้ทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174(2) และจะมีผลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 176 คือ ถือว่าโจทก์มิได้มีการฟ้องจำเลยที่ 1 เลย ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

            ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายเสกสมนั้น โจทก์มิได้ฟ้องหรือขอให้ศาลหมายเรียกนายเสกสมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย หากศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและเพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง ย่อมมีผลกระทบถึงสิทธิของนายเสกสมบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 ดังนั้นโจทก์จึงมิอาจฟ้องคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่า นายบุญสร้างได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินมีโฉนดที่พิพาทให้โจทก์ จำเลยแจ้งเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยยังเป็นภริยานายบุญสร้างอยู่ เจ้าพนักงานหลงเชื่อได้ทำนิติกรรมโอนที่พิพาทเป็นของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านิติกรรมโอนมรดกที่พิพาทเป็นโมฆะขอให้เพิกถอนการโอนและแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ว่าโจทก์จะทำนาในที่พิพาทซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วว่าเป็นของโจทก์ จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทำและจำเลยเข้าแย่งทำนาเสียทั้งหมดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ดังนี้ โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่เรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…

            มาตรา 173 วรรคสอง นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1)       ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1.         คดีนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว

2.         คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด

3.         ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

4.         ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

5.         ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

 กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1.         คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา      

2.         คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน

3.         คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

4.         ห้ามโจทก์ฟ้อง

5.         ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่า นายบุญสร้างได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินมีโฉนดที่พิพาทให้โจทก์ จำเลยแจ้งเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยยังเป็นภริยานายบุญสร้างอยู่ เจ้าพนักงานหลงเชื่อได้ทำนิติกรรมโอนที่พิพาทเป็นของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านิติกรรมโอนมรดกที่พิพาทเป็นโมฆะขอให้เพิกถอน การโอน และแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ต่อมาโจทก์ก็ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ว่าโจทก์จะทำนาในที่พิพาท ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วว่าเป็นของโจทก์ จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทำ และจำเลยเข้าแย่งทำนาเสียทั้งหมดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายนั้น โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่เรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การฟ้องคดีใหม่ของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนหรือไม่

            ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จะเห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์คดีก่อนเป็นเรื่องการขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมโอนมรดกที่พิพาทเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนการโอนกับขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ส่วนฟ้องของโจทก์คดีหลังเป็นเรื่องที่โจทก์จะทำนาในที่ดินพิพาทรายนี้ของโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมให้ทำและจำเลยเข้าแย่งทำนารายนี้เสียเองทั้งหมดนั้น เมื่อการฟ้องคดีใหม่ของโจทก์ในคดีหลังได้ฟ้องในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา กล่าวคือ คดีก่อนนั้นยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังจึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148

            และมูลฟ้องในคดีใหม่ของโจทก์เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้ฟ้องคดีแรก และแม้คู่ความทั้งสองในคดีเดิมและคดีหลังจะเป็นคู่ความเดียวกัน แต่เมื่อปรากฏว่าคดีเดิมกับคดีหลังไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเป็นการฟ้องอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังจึงไม่เป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังนั้นโจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่เรียกค่าเสียหายได้

            สรุป โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่เรียกค่าเสียหายได้

 

ข้อที่ 4 คดีแพ่งโจทก์ฟ้องจำเลย จำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลแจ้งกำหนดวันนับสืบพยานให้โจทก์และจำเลยทราบโดยชอบแล้ว ครั้นถึงวันนัดสืบพยาน ปรากฏว่าโจทก์และทนายไม่มาศาลมาแต่ทนายจำเลย ทนายจำเลยแจ้งต่อศาลให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความดังนี้ โจทก์และจำเลยจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างไรได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 27 วรรคแรก ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐานหรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร

            มาตรา 202 “ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความเว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิพากษาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว

            มาตรา 203 “ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา 201 และมาตรา 202 แต่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่

วินิจฉัย

            ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์และทนายความไม่มาศาลในวันสืบพยานมาแต่ทนายจำเลยนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202 ซึ่งศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความเว้นแต่จำเลยจะแจ้งต่อศาลให้ดำเนินพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า ทนายจำเลยได้แจ้งต่อศาลให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ถือว่าจำเลยได้แจ้งต่อศาลให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แต่ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ดังนี้ สำหรับโจทก์จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ประการเดียวกันคือ จะต้องเสนอคำฟ้องของตนใหม่ภายในอายุความ แต่จะอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 203

            ส่วนในกรณีของจำเลยนั้น สามารถอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีได้ เพราะตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 203 ได้บัญญัติห้ามเฉพาะโจทก์ มิได้ห้ามจำเลย หรือจำเลยอาจขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 27

            สรุป โจทก์สามารถเสนอคำฟ้องของตนใหม่ได้ภายในอายุความ แต่จะอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีไม่ได้ ส่วนจำเลยสามารถอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีได้ หรืออาจขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้

Advertisement