การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  มอบ  ข  ให้เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  วันหนึ่งมี ค  มาขอเช่าที่ดินกับ  ข  ข  ได้ทำสัญญาเช่ามีระยะเวลา  5  ปี  อยากทราบว่า

(1)  สัญญาเช่าที่  ข  ทำไปนั้นผูกพัน  ก  ตัวการกี่ปี

(2)  ข  มีอำนาจให้เช่าได้กี่ปี

(3)  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้  ค  เช่าที่ดินมีระยะเวลา  5  ปี  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(4)  ถ้า  ข  ทำสัญญาเกินอำนาจไป  ข  จะมีความรับผิดประการใด  และจะทำประการใดจึงจะทำให้สัญญาเช่านั้นผูกพัน  ก  ตัวการ  และมีความสมบูรณ์

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

2       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

มาตรา  822  ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

(1)    ตามบทบัญญัติมาตรา  801  การที่  ก  มอบ  ข  ให้เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  โดยหลักแล้ว  ข  จะทำการใดๆในฐานะตัวแทนก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง  แต่อาจมีข้อยกเว้นบางอย่างที่  ข  ไม่สามารถทำได้  เช่น  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่า  3  ปีขึ้นไป  ตามมาตรา  801  วรรคสอง(2)  ดังนั้น  สัญญาเช่าที่  ข  ให้เช่าไป  5  ปี  จึงผูกพัน  ก  ตัวการเพียง  3  ปีเท่านั้น  ตามอำนาจที่  ข  มี

(2)   บทบัญญัติมาตรา  801  วรรคสอง(2)  ได้กำหนดไว้ว่า  ตัวแทนจะจัดการแทนตัวการในการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ได้เพียง  3 ปีเท่านั้น  หากเกินกว่านั้นมิอาจทำได้  ดังนั้น  ข  จึงมีอำนาจให้เช่าได้เพียง  3  ปี

(3)   เมื่อ  ข  เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  ข  จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาให้  ค  เช่าที่ดิน  มีระยะเวลา  5  ปี  ตามมาตรา  801 วรรคสอง(2)  ซึ่งบัญญัติหลักไว้ว่า  การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่า  3  ปีขึ้นไป  ตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปหาอาจจะทำได้ไม่

(4)   การที่  ข  ทำสัญญาเช่าเกินไป  2  ปี  เท่ากับ  ข  ทำเกินอำนาจตามมาตรา  822  ซึ่งส่วนเกินนั้นให้ถือว่า  ข  ทำการโดยปราศจากอำนาจตามมาตรา  823  การนั้นจึงไม่ผูกพันตัวการ  ข  จะต้องรับผิดโดยลำพัง  เว้นแต่  ก  ตัวการจะให้สัตยาบัน

และหากจะให้สัญญาเช่า  5  ปี  ที่  ข  ทำไปนั้นผูกพันตัวการทั้ง  5  ปี  ก  จะต้องมอบอำนาจเฉพาะการตามมาตรา  800  เป็นการให้สัตยาบันว่า  ข  ทำสัญญาเช่า  5  ปีได้  สัญญาจึงจะใช้บังคับ  5  ปีได้  และผูกพัน  ก  ตัวการ

สรุป  จากคำถาม (1) – (4)  นั้น  วินิจฉัยได้ตามเหตุผล  และหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  2  ก  มอบให้  ข  ออกหน้าเป็นตัวการแทนตน  โดยให้เป็นผู้จัดการร้านค้า  โดยเป็นตัวแทนขายส่งสินค้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ข  ส่งสินค้าให้  ค  ที่สั่งสินค้าไว้หลายรายการ  เป็นเงินหลายแสนบาท  แต่  ข  ส่งให้ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญา  ทำให้ลูกค้าของ  ค  ยกเลิกสินค้าทั้งหมด  ค  ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนหลายแสนบาท  ขณะนั้น  ก  ตัวการยังไม่ได้เปิดเผยชื่อ  แค่  ค  ก็ไปรู้มาว่า  ข  เป็นเพียงตัวแทน  แต่  ก  คือตัวการ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  จะถือว่า  ก  เปิดเผยชื่อแล้วหรือยัง  ค  จะฟ้อง  ก  ตัวการได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และ  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  ก  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  มิได้ทำเป็นหนังสือ  จึงฟ้องไม่ได้  ข้ออ้างของ  ก  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  มอบให้  ข  ออกหน้าเป็นตัวการแทนตน  โดยเป็นตัวแทนขายส่งสินค้ายี่ห้อแบนด์เนม  และ  ก  ตัวการยังมิได้เปิดเผยชื่อนั้น  ถือเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อ  ตามมาตรา  806  โดยหลักแล้ว  เมื่อ  ค  บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย  ข  จะต้องรับผิดต่อ  ค  เช่นเดียวกับเป็นตัวการเอง

อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่า  ค  ได้รู้แล้วว่า  ข  เป็นเพียงตัวแทน  แต่  ก  คือตัวการ  ย่อมถือว่า  ก  ได้เปิดเผยชื่อแล้ว  ดังนั้น  เมื่อเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806  และบุคคลภายนอกรู้แล้วว่าตัวการคือใคร  ข  ตัวแทนจึงหลุดพ้นจากความรับผิด  ค  จึงฟ้อง  ก  ตัวการให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้  และ  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  ก  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนโดยมิได้ทำเป็นหนังสือไม่ได้  เพราะบทบัญญัติมาตรา  806  เป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798  นอกจากนี้  ก  ยังต้องรับผิดตามมาตรา  820  อีกด้วย  เพราะถึงอย่างไร  ก  ตัวการก็ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต  ดังนั้น  ข้ออ้างของ  ก  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ค  สามารถฟ้อง  ก  ตัวการได้  และ  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนโดยมิได้ทำเป็นหนังสือไม่ได้  ข้ออ้างของ  ก  ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  ก  มอบอำนาจให้  ข  ขายที่ดิน  โดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า  ข  นำเสนอขาย  ค  ค  ตกลงซื้อ  ข  นำ  ก  และ  ค  เข้าทำสัญญากัน  ภายหลังทำสัญญาแล้วปรากฏว่าการซื้อขายเลิกกัน  เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข  ยังจะได้ค่านายหน้าหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  845  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่า  ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง  หรือจัดการจนเขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอก  และนายหน้ารับกระทำการตามนั้น  และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทำสัญญากันแล้ว  นายหน้าย่อมจะได้รับค่าบำเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ได้ตกลงให้  ข  ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้านั้น  เมื่อปรากฏว่า  ข  ได้นำที่ดินเสนอขาย  ค  ค  ตกลงซื้อ  และ  ข  ได้นำ  ก  และ  ค  เข้าทำสัญญาซื้อขายกัน  ดังนี้  ย่อมถือว่า  ข  ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว  แม้ต่อมาภายหลังการซื้อขายได้เลิกกัน  เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาก็ตาม  ข  ก็ยังมีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าอยู่ตามมาตรา  845  วรรคแรก  (ฎ.517/2494)

สรุป  ข  ยังจะได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าอยู่

Advertisement