การสอบไล่ภาคฤดุร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ปลาม้ายืมรถมอเตอร์ไซค์ของปลาดาวเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดหกเดือน ระหว่างนั้นมีชะเมาเพื่อนบ้านมาขอเช่ามอเตอร์ไซค์ที่ปลาม้ายืมมาจากปลาดาวเฉพาะตอนหลังเลิกงานไปใช้รับจ้าง รับคนโดยสารงานมีกำหนดสามเดือน ระหว่างที่ชะเมาเช่าอยู่นั้นเกิดน้ำท่วมเป็นเวลาสองเดือน ทำให้รถมอเตอร์ไซค์ที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าพันบาท ดังนี้ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้าคืนรถและรับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมแซมได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
มาตรา 641 การให้ยืมใช้คงรูปนั้นท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม
มาตรา 643 ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
มาตรา 645 ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ปลาม้ายืมรถมอเตอร์ไซค์ของปลาดาวเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดเวลาหกเดือน เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ประกอบมาตรา 641 ปลาม้าผู้ยืมจึงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถมอเตอร์ไซค์ตามที่ตกลงไว้กับปลาดาว คือ เอาไปใช้ขับขี่ไปทำงานเท่านั้น
และตามมาตรา 645 กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมได้ ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 เช่น การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย เป็นต้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปลาม้าได้นำรถมอเตอร์ไซค์ไปให้ชะเมาเช่ารับจ้างรับคนโดยสาร กรณีนี้จึงถือว่าปลาม้าได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 แล้ว คือ เป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินที่ยืม คือ รถมอเตอร์ไซค์ ปลาม้าผู้ยืมจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ถึงแม้ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย คือ น้ำท่วมก็ตาม ดังนั้น ปลาดาวผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิตามมาตรา 645 คือ เรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมแซมและบอกเลิกสัญญาให้ปลาม้านำรถมอเตอร์ไซค์มาคืนก่อนครบกำหนดได้
สรุป ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้าคืนรถและรับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมแซมได้
ข้อ 2 นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันโดยให้นายตรีบุตรชายเป็นผู้ถือจดหมายไปมีใจความว่า “ตอนนี้เดือดร้อนมากๆ ป่วยหนักอยากจะขอยืมเงินสักแปดหมื่นบาทไปใช้รักษาตัวและแบ่งให้ลูกชายลงทุนค้าขายต่อชีวิตกันไป ต้องรบกวนจริงๆนะ หวังว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้” ลงชื่อเอก นายโทเอาเงินให้นายตรีแปดหมื่นบาทตามที่นายเอกขอยืม 1 ปีผ่านไป นายเอกหายจากโรคร้าย นายตรีค้าขายมีกำไรมากแต่ไม่นำเงินไปใช้คืนให้กับนายโท แม้ว่านายโทมาทวงถามก็ไม่ยอมใช้คืน
ดังนี้ นายโทจะอ้างนายตรีเป็นพยานและใช้บันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินแปดหมื่นบาทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 653 วรรคแรก บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี คือ
1 หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ
2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ
สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้ ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน และต้องมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่กันแล้วด้วย ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้ เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว ย่อมถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทเพื่อขอยืมเงินโดยให้นายตรีเป็นผู้ถือจดหมายไป มีใจความว่า “ตอนนี้เดือดร้อนมากๆ ป่วยหนักอยากจะขอยืมเงินสักแปดหมื่นบาทไปใช้รักษาตัวและแบ่งให้ลูกชายลงทุนค้าขายต่อชีวิตกันไป ต้องรบกวนจริงๆนะ หวังว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้” ลงชื่อเอก และนายโทมอบเงินให้นายตรีแปดหมื่นบาทแล้วนั้น ข้อความของจดหมายที่นายเอกลงลายมือชื่อแล้วดังกล่าว เป็นเพียงการเสนอขอยืมเงินจำนวนแปดหมื่นบาท เนื้อความในจดหมายยังไม่อาจยืนยันได้ว่านายโทส่งมอบเงินให้นายตรีแปดหมื่นบาทตามที่นายเอกขอยืม แม้ว่าจะมีการส่งมอบเงินกันจริงแล้วก็ตาม ดังนั้น จดหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานเป็นหนังสือที่แสดงถึงการกู้ยืมแปดหมื่นบาท ที่จะใช้เป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีตามมาตรา 653 วรรคแรกได้
สำหรับกรณีนายตรีนั้น แม้จะรู้เห็นถึงการกู้ยืมเงินกันระหว่างนายเอกกับนายโท แต่ก็ถือเป็นพยานบุคคล ดังนั้น นายโทจึงไม่สามารถอ้างนายตรีเป็นพยานเพื่อนำสืบว่ามีการส่งมอบเงินกันแล้วเพื่อบังคับให้นายตรีคืนเงินแปดหมื่นบาทได้ เพราะกรณีการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น กฎหมายบังคับให้ต้องนำพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น ห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94)
สรุป นายโทจะใช้บันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีและอ้างนายตรีเป็นพยานบุคคลเพื่อขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินแปดหมื่นบาทไม่ได้
ข้อ 3 “สัญญาฝากทรัพย์ผู้รับฝากต้องทำให้เปล่าเท่านั้นจะเรียกบำเหน็จค่าฝากมิได้” คำกล่าวนี้ถูกต้องตามหลักกฎหมายฝากทรัพย์หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 657 อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้
มาตรา 659 ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง
ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย
ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น
วินิจฉัย
สัญญาฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้ฝาก” ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับฝาก” และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในความดูแลของตนแล้ว จะส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ฝาก เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการรับฝากหรือเมื่อผู้ฝากเรียกคืน ตามมาตรา 657
โดยปกติแล้ว สัญญาฝากทรัพย์นั้น จะเป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนหรือไม่มีค่าตอบแทนก็ได้ กล่าวคือ อาจจะเป็นกรณีที่ผู้รับฝากทำให้เปล่า หรืออาจจะเป็นกรณีที่ผู้รับฝากคิดเอาค่าบำเหน็จจากผู้ฝากก็ได้ เพราะตามมาตรา 657 มิได้บัญญัติว่าการรับฝากทรัพย์นั้นจะต้องเป็นการทำให้เปล่าแต่อย่างใด และจากบทบัญญัติในมาตรา 659 ซึ่งบัญญัติหลักไว้ว่า ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีค่าบำเหน็จ ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง แต่ถ้าหากการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจะต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้น เหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น รวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย หรือหากผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัญญาฝากทรัพย์นั้นอาจเป็นการทำให้เปล่า หรืออาจจะเรียกบำเหน็จค่าฝากก็ได้
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “สัญญาฝากทรัพย์ผู้รับฝากต้องทำให้เปล่าเท่านั้นจะเรียกบำเหน็จค่าฝากมิได้” จึงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายฝากทรัพย์ ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น