การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

Advertisement

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอกพรยืมรถมอเตอร์ไซค์ของทองไทยมาใช้งานหนึ่งปี  โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน  ขณะที่ใช้งานตามปกตินั้นถูกบุญดีขับรถมาชนท้าย  ถ้าจะซ่อมต้องใช้เงินประมาณ  10,000  บาท  แต่บุญดีไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม  ดังนี้  ทองไทยผู้ให้ยืมจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกพรผู้ยืมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เอกพรยืมรถมอเตอร์ไซค์ของทองไทยมาใช้งาน  1  ปี  โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนนั้น  สัญญายืมระหว่างเอกพรและทองไทยเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ดังนั้น  เอกพรผู้ยืมจึงมีหน้าที่ตามมาตรา  643  และมาตรา  644  กล่าวคือ  เอกพรจะต้องไม่นำทรัพย์สินนั้นไปใช้เพื่อการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  และไม่เอาทรัพย์สินนั้นไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเอาทรัพย์สินนั้นไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  รวมทั้งจะต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองด้วย  ซึ่งหากเอกพรผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  ทองไทยผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  และเรียกร้องให้เอกพรผู้ยืมรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม

แต่จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เมื่อเอกพรได้ยืมรถมอเตอร์ไซค์ของทองไทยมาใช้นั้น  เอกพรได้ใช้งานตามปกติมิได้กระทำการใดๆ  อันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นเลย  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่าขณะที่เอกพรใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ตามปกติได้ถูกบุญดีขับรถมาชนท้าย  ซึ่งถ้าจะซ่อมรถมอเตอร์ไซค์จะต้องใช้เงินประมาณ  10,000  บาท  และบุญดีไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม  ทองไทยผู้ให้ยืมจึงมิอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกพรผู้ยืมได้  ทั้งนี้  เพราะเอกพรผู้ยืมมิได้กระทำผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  643  และมาตรา  644  แต่อย่างใด

สรุป  ทองไทยผู้ให้ยืมจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกพรผู้ยืมไม่ได้ 

 

ข้อ  2  นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันมีใจความว่า  “ตอนนี้เดือดร้อนมากเลย  อยากจะขอยืมเงินสักสองหรือสามหมื่นบาท  ถ้ามีก็ขอให้ส่งเงินมาให้ด้วยขอบคุณมากๆ”  ลงชื่อนายเอก  นายโทจึงฝากเงินจำนวนสามหมื่นมากับนายตรีเพื่อส่งมอบให้กับนายเอก  ผ่านไป  1  ปี  นายโทเห็นนายเอกเงียบเฉยไม่ชำระหนี้เงินที่ยืมไป  จึงขอให้นายจัตวาไปทวงหนี้ให้  นายเอกจึงเขียนจดหมายฝากนายจัตวามาถึงนายโท  ดังนี้  “โทที่รักยิ่ง  เราไม่เคยยืมเงินนายเลยทำไมมาทวงกันอย่างนี้  เป็นการดูถูกกันอย่างร้ายแรงนายต้องรับผิดชอบด้วย”  ลงชื่อ  เอก  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายโทจะใช้จดหมายดังกล่าวและให้นายตรีและนายจัตวาเป็นพยานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินสามหมื่นที่ยืมไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาท  ขึ้นไป  จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้  ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน  อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้  เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน  หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว  ย่อมถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์  จดหมายฉบับแรกที่นายเอกเขียนถึงนายโทนั้น  มีข้อความเพียงว่า  นายเอกจะขอยืมเงินนายโทสักสองหรือสามหมื่นบาท  แต่นายโทจะส่งมอบเงินจำนวนนั้นให้กับนายเอกหรือไม่  ไม่มีข้อความกล่าวถึง  ส่วนจดหมายฉบับที่สอง  ก็ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่านายเอกยอมรับว่าเป็นหนี้นายโท  ดังนั้น  จดหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปแต่อย่างใด  แม้จะมีลายมือชื่อนายเอกผู้กู้ยืมก็ตาม  นายโทจึงมิอาจใช้จดหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลบังคับนายเอกคืนเงินสามหมื่นที่ยืมไปได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

สำหรับกรณีนายตรีและนายจัตวานั้น  แม้จะรู้เห็นถึงการกู้ยืมเงินกันระหว่างนายเอกกับนายโท  แต่ก็ถือเป็นพยานบุคคล  ดังนั้นนายโทจึงไม่สามารถนำมาสืบว่ามีการส่งมอบเงินกันแล้วได้  เพราะกรณีการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  กฎหมายบังคับให้ต้องนำพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น

สรุป  นายโทจะใช้จดหมายทั้งสองฉบับ  และให้นายตรีและนายจัตวาเป็นพยานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินสามหมื่นที่ยืมไปไม่ได้

 

ข้อ  3  นายเอกไปเที่ยวที่จังหวัดเพชรบุรี  พักที่บ้านของฟ้าสวยที่ตกแต่งเป็นห้องพักรับนักท่องเที่ยวเข้าพัก  คิดค่าห้องเป็นรายวัน  วันละห้าร้อยบาท  ที่ประตูห้องด้านในของห้องพัก  มีป้ายติดประกาศไว้มีใจความว่า  “ผู้พักทุกท่านโปรดระมัดระวังทรัพย์สินของท่านด้วย  ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบในกรณีที่ทรัพย์สินของท่านเกิดเสียหายหรือสูญหายไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น”  ตอนค่ำนายเอกไปดื่มกาแฟที่โรงแรมเกษมสุขพบกับนางสาวสุดสวยคนคุ้นเคยกัน  นางสาวสุดสวยแอบล้วงกระเป๋าเอาเงินของนายเอกไปห้าหมื่นบาท  เมื่อนายเอกกลับมาที่บ้านของฟ้าสวยจึงรู้ว่าเงินสูญหายไปจึงแจ้งให้ฟ้าสวยทราบทันที  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ฟ้าสวยต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับนายเอกหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

มาตรา  677  ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้  เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675

และหากมีป้ายประกาศยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักปิดไว้ในโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ป้ายประกาศดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ  ถ้าคนเดินทางหรือแขกอาศัยมิได้ตกลงด้วยอย่างชัดแจ้งตามมาตรา  677

กรณีตามอุทาหรณ์  บ้านของฟ้าสวยตกแต่งเป็นห้องพักรับนักท่องเที่ยวเข้าพัก  คิดค่าห้องเป็นรายวัน  วันละห้าร้อยบาท  จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่อื่นทำนองเดียวกับโรงแรมหรือโฮเต็ล  ดังนั้น  การที่นายเอกเข้าพักที่บ้านของฟ้าสวย  ฟ้าสวยซึ่งเป็นเจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินของนายเอกหากได้พามาไว้ในสถานที่นั้น  ตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675  แม้ด้านในห้องพักของฟ้าสวยจะติดป้ายประกาศยกเว้นความรับผิดของตนไว้ก็ตาม  เพราะเมื่อไม่ปรากฏว่านายเอกได้ตกลงด้วยแต่อย่างใด  ป้ายประกาศดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา  677

แต่จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกไปดื่มกาแฟที่โรงแรมเกษมสุขพบกับนางสาวสุดสวย  และนางสาวสุดสวยได้แอบล้วงกระเป๋าเอาเงินของนายเอกไปห้าหมื่นบาทนั้น  เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายนอกบ้านของฟ้าสวย  ดังนั้น  ฟ้าสวยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเอก

สรุป  ฟ้าสวยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับนายเอก

Advertisement