การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 สัญญายืมใช้คงรูปนั้น ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลายเพราะเหตุสุดวิสัยหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 643 ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง คือ ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งคือผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า โยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ และผู้ยืมก็ตกลงว่าเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ก็จะนำทรัพย์สินนั้นมาคืนให้ ดังนี้จะเห็นว่าผู้ยืมเป็นผู้ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือ ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมและยังไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอีกด้วย แต่การใช้ทรัพย์สินที่ยืมผู้อื่นเขามามิได้หมายความว่า จะใช้เอาประโยชน์ของตนตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้ให้ยืมนั้น
จากบทบัญญัติตามมาตรา 643 ดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้ 4 ประการ คือ ใช้ทรัพย์สินที่ยืมตามการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น ไม่เอาไปใช้นอกจากการอันปรากฏในสัญญา ไม่เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือไม่เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ และยังกำหนดอีกว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลาย ถึงแม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว หากความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม ผู้ยืมก็ไม่ต้องรับผิด
สำหรับกรณีที่จะถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม ตามมาตรา 643 มีดังนี้คือ
1 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์นั้น เช่น ขอยืมใบมีดโกนเขามาแทนที่จะโกนหนวดโกนเครา กลับเอาไปเหลาดินสอหรือหั่นเนื้อหั่นหมู หรือยืมม้าแทนที่จะเอาไปขี่กลับเอาไปลากรถ ลากซุง เป็นต้น
2 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา เช่น ขอยืมรถไปทำงานในกรุงเทพฯ แต่กลับขัยรถออกไปนอกเส้นทางไปเที่ยวชลบุรี เป็นต้น
3 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วเกิดความเสียหาย เช่น ขอยืมวัวไปไถนา 2 เดือน ผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้วภายใน 1 เดือน แต่ไม่ส่งคืน กลับเอาไปให้บุคคลใช้สอยจนเกิดความเสียหายขึ้น เช่นนี้ถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว
4 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ กล่าวคือ เป็นการที่ผู้ยืมส่งคืนทรัพย์ที่ยืมล่าช้า เช่น ขอยืมรถมาใช้ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่เอามาคืน หรือในกรณีที่สัญญามิได้กำหนดเวลาส่งคืน แต่ไม่ปรากฏว่ายืมเพื่อการใด หากผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้ว หรือเวลาล่วงเลยไปพอแก่การใช้ทรัพย์สินนั้นแล้วก็ยังไม่ส่งคืน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ยืมก็ต้องรับความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ แม้ความเสียหายนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม
อนึ่งคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ยืมรถยนต์นาย ข. ไปท่องเที่ยวพัทยา แต่นาย ก. กลับขับรถไปนครสวรรค์เพื่อไปรับเพื่อนก่อน ในระหว่างทางนั้นมีพายุฝนตกหนัก ฟ้าผ่ารถคันที่นาย ก. ยืมไปเสียหาย เช่นนี้ ถือว่านาย ก. ประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืม โดยเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญาแล้ว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม นาย ก. ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่ นาย ข. ผู้ให้ยืมด้วย
สรุป ผู้ยืมใช้คงรูปมีหน้าที่และความรับผิด ในกรณีการใช้สอยทรัพย์สิน ตามมาตรา 643 ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2 นายเจริญให้นายสุขยืมเงินเป็นจำนวน 1,000 บาท โดยทำเป็นหนังสือ นายสุขใช้ลายมือของตนเขียนสัญญากู้ความว่า “ข้าพเจ้านายสุขได้รับเงินยืมจากนายเจริญเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 บาทต่อเดือน กับนายเจริญด้วย ข้าพเจ้าจะส่งเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2550” หนังสือดังกล่าวไม่ได้ลงลายมือชื่อนายสุขในบรรทัดสุดท้ายของสัญญา ดังนี้ หากนายสุขคืนเงินในวันที่ 1 ธันวาคม 2550 นายสุขจะต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยและจะต้องมีหลักฐานการคืนเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
วินิจฉัย
การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่งตามมาตรา 650 และตามมาตรา 653 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินไว้ดังนี้
1 ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะฟ้องร้องคดีกันได้ กล่าวคือ หากเป็นกรณีการกู้ยืมเงิน 2,000 บาทหรือน้อยกว่านั้นหากไม่มีการทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องคดีกันได้ แต่หากเป็นจำนวนเงินมากกว่า 2,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ
2 ต้องลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ หากมีการทำหลักฐานกู้ยืมเป็นหนังสือ แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อผู้ยืม จะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้เลย
จากข้อเท็จจริงตามตัวอย่างข้างต้น การที่นายสุขทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,000 บาท จากนายเจริญ แต่เขียนข้อความในสัญญาด้วยลายมือของตนว่า “ได้รับเงินยืมจากนายเจริญเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 บาทต่อเดือน กับนายเจริญด้วย ข้าพเจ้าจะส่งเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2550” จากข้อความดังกล่าวจะเห็นว่า แม้นายสุขจะทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ ซึ่งมีความชัดเจนว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง อีกทั้งในหนังสือกู้ยืมเงินก็มีชื่อของนายสุขว่าเป็นผู้ยืมด้วย แต่เมื่อนายสุขไม่มีการลงลายมือชื่อท้ายสัญญา เช่นนี้ถือว่าไม่มีการลงลายมือชื่อ สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่สมบูรณ์ ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ อนึ่งการเขียนสัญญากู้ยืมเงินด้วยลายมือตัวเอง ก็มิใช่การลงลายมือชื่อตามนัยมาตรา 653 แต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติแล้วเงินต้น 2,000 บาท แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงินที่นายสุขได้รับนั้นเป็นเงินเพียง 1,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับข้อความในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว สัญญาการกู้ยืมเงินระหว่างนายสุขและนายเจริญจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด เพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย ถือว่า เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ ในส่วนของดอกเบี้ยจึงไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป แม้จะมีการคิดดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 654 และพ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายก็ตาม
เมื่อสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ ก็เสมือนว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกัน นายสุขจึงไม่มีหนี้ใดที่จะต้องชำระคืนแก่นายเจริญ ดังนั้นนายสุขจึงไม่ต้องคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่นายเจริญ และเมื่อไม่ต้องคืนเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานการคืนเงินแต่อย่างใด
สรุป นายสุขไม่ต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่นายเจริญตามสัญญากู้ยืมเงินแต่อย่างใด
ข้อ 3 นายอาทิตย์รับฝากรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าสีแดงคันหนึ่งของนายจันทร์ไว้เป็นเวลา 1 เดือน โดยจะมารับกลับวันที่ 17 มีนาคม 2550 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2550 นายอังคารมาหานายอาทิตย์ที่บ้านและอ้างว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว พร้อมทั้งได้นำรถกลับไปด้วย นายอาทิตย์ไม่ได้แจ้งให้นายจันทร์ทราบ จนกระทั่งวันที่ 17 มีนาคม 2550 เมื่อนายจันทร์มารับรถจักรยานยนต์จึงทราบว่ามีผู้มาแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของและนำจักรยานยนต์ไปแล้ว ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวถูกส่งไปขายต่อยังชายแดนไทย – พม่า ไม่สามารถติดตมกลับมาได้ ดังนี้ นายอาทิตย์จะต้องรับผิดต่อนายจันทร์ตามสัญญาฝากทรัพย์อย่างไรหรือไม่ และหากนายจันทร์จะฟ้องนายอาทิตย์จะต้องฟ้องภายในอายุความเท่าใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 661 ถ้าบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝากก็ดี หรือยึดทรัพย์สินนั้นก็ดี ผู้รับฝากต้องรีบบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน
มาตรา 671 มนข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายก็ดี ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา
วินิจฉัย
การที่นายอาทิตย์ละเลยไม่บอกกล่าวโดยพลันต่อนายจันทร์ผู้ฝากว่ามีบุคคลภายนอกมายึดทรัพย์ที่ฝากไป เป็นการทำผิดหน้าที่ของผู้รับตามมาตรา 661 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ผู้รับฝากต้องรีบแจ้งให้ผู้ฝากทราบ เมื่อมีบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์ซึ่งฝากนั้น เช่นนี้ ก็เพราะว่าผู้ฝากซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นย่อมจะรู้ถึงความเป็นมาแห่งทรัพย์สินนั้นได้ดีกว่าผู้ฝาก ซึ่งเขาอาจหาทางต่อสู้กับบุคคลภายนอกดังกล่าวได้ดีกว่าผู้รับฝาก ดังนั้น เมื่อปรากฏว่ารถจักรยานยนต์ที่นำมาฝากถูกส่งไปขายต่อชายแดนไม่สามารถติดตามกลับมาได้ นายอาทิตย์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจันทร์ เนื่องจากการที่ตนไม่รีบแจ้งผู้ฝากโดยพลัน จึงทำให้เหตุการณ์ล่วงเลยไปจนเกิดความเสียหายขึ้น และหากตนแจ้งต่อนายจันทร์เมื่อมีคนมาแอบอ้างเอาทรัพย์ที่ฝากไป นายจันทร์อาจรีบติดตามกลับคืนมาได้ไม่ได้รับความเสียหายถึงขั้นนี้ ดังนั้น อาทิตย์จึงต้องรับผิดต่อนายจันทร์
ส่วนอายุความนั้นยู่ภายใต้บังคับมาตรา 671 คือ เมื่อกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์ จึงต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา คือฟ้องภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ 17 มีนาคม 2550 นั่นเอง
สรุป นายอาทิตย์ต้องรับผิดต่อนายจันทร์ ตามสัญญาฝากทรัพย์ และต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา