การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ดำเช่าบ้านหนึ่งหลังมีกำหนดเวลา  5  ปี  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายมีข้อความว่า  “หากผู้เช่าเช่าครบ  5  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก  5  ปี  หากผู้เช่าไม่ประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาที่ได้รับจากผู้เช่าเป็นจำนวนเงิน  150,000  บาท  ให้กับผู้เช่าด้วย”  ดำเช่าบ้านจากแดงได้เพียง  3  ปีเต็ม  แดงเจ้าของบ้านเช่าได้ยกบ้านให้กับเขียวบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ดำก็ยังคงอยู่ในบ้านเช่าโดยที่เขียวไม่ว่าอะไร  ปรากฏว่าในวันครบกำหนดสัญญาเช่าบ้าน  5  ปี  ซึ่งตรงกับวันที่  30  เมษายน  2555  นั้น  ดำได้พบกับเขียวและขอเช่าบ้านต่อไปอีก  5  ปี  เขียวกลับปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำมั่น  ดำจึงขอเงิน  150,000  บาท  ซึ่งเป็นเงินประกันสัญญาคืนจากเขียว  เขียวไม่ยอมคืนเงินให้ดำเช่นกัน

ให้วินิจฉัยว่า  การปฏิเสธของเขียวทั้ง  2  ประการดังกล่าว  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  (ให้วินิจฉัยแยกตอบทั้ง  2  ประการด้วย)

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  569  ได้กำหนดเอาไว้ว่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ระหว่างแดงกับดำซึ่งมีกำหนด  5  ปีได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  538  และสามารถใช้บังคับกันได้  5  ปี  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าดำเช่าบ้านหลังนี้มาได้เพียง  3  ปี  แดงได้ยกบ้านเช่าให้กับเขียวบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของตน  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับดำผู้เช่าระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยเขียวผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  เขียวต้องให้ดำเช่าบ้านหลังนั้นต่อไปจนครบกำหนด  5  ปีตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่มีข้อความว่า  “หากผู้เช่า  เช่าครบ  5  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก  5  ปี”นั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่นจะให้เช่า  ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  จึงไม่ผูกพันเขียว  ดังนั้น  การที่ดำได้พบเขียวและขอเช่าบ้านต่อไปอีก  5  ปี  และเขียวปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำมั่นนั้น  คำปฏิเสธของเขียวกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อสัญญาที่ว่า  “หากผู้เช่าไม่ประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาที่ได้รับจากผู้เช่าเป็นจำนวน  150,000  บาท  ให้กับผู้เช่าด้วย”นั้น  ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น  มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของ ผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  ผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพันตามข้อสัญญานี้  เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนจะต้องรับมาด้วยนั้น  คือสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  ดังนั้น  การที่ดำขอเงิน  150,000  บาท  ซึ่งเป็นเงินประกันสัญญาคืนจากเขียว  และเขียวไม่ยอมคืนเงินให้ดำนั้น  คำปฏิเสธของเขียวกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป  การปฏิเสธของเขียวทั้ง  2  ประการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2

(ก)   มืดทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าอาคารพาณิชย์มีกำหนดเวลา  4  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  6  ของแต่ละเดือนเป็นค่าเช่า  เดือนละ  25,000  บาท  (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)  โดยมืดได้รับเงินค่าเช่าจากม่วงไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นเงิน  350,000  บาท  (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)  และม่วงได้รับมอบอาคารที่เช่าในวันดังกล่าวด้วย  ปรากฏว่าในปี  พ.ศ.2554  ม่วงไม่ได้จ่ายค่าเช่าให้มืดอีกเลย  ตั้งแต่วันที่  6  มกราคม  2554  จนถึงเดือนมีนาคม  2555  ดังนั้นในวันที่  2  เมษายน  2555  มืดจึงบอกเลิกสัญญากับม่วงทันที  และให้ม่วงอยู่ในอาคารถึงวันที่  17  เมษายน  2555  เท่านั้น  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

 (ข)   ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

(ก)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีก  จึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ม่วงได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับมืดตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นเงิน  350,000  บาทนั้น  ทำให้ม่วงมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้  14  เดือน  คือ  ตั้งแต่เดือนมกราคม  2554  ถึงเดือนกุมภาพันธ์  2555  แต่เดือนมีนาคม  2555  ม่วงจะต้องชำระค่าเช่าให้กับมืด  (ในวันที่  6  มีนาคม  2555)  ดังนั้นการที่ม่วงไม่ชำระค่าเช่าในเดือนมีนาคม  2555  มืดย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่านั้นได้ แต่เมื่อตามสัญญาเช่านั้น  มีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  ดังนั้นมืดจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ม่วงชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าม่วงยังไม่ยอมชำระอีก  มืดจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้  ตามมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้น การที่มืดบอกเลิกสัญญากับม่วงทันทีในวันที่  2  เมษายน  2555  และให้ม่วงอยู่ในอาคารถึงวันที่  17  เมษายน  2555  การกระทำของมืดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนมีนาคม  2555  ถือว่าม่วงผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว  14  คราว  ดังนั้น  มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้  เพราะการที่มืดจะบอกเลิกสัญญาได้จะต้องปรากฏว่าม่วงผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  ดังนั้น  การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของมืดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

สรุป

(ก)    การกระทำของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การกระทำของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  คำตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ  3  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านอาหารของตน  ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆวันที่  28  ของแต่ละเดือน  เดือนละ  12,5000  บาท  สัญญาจ้างเริ่มตั้งแต่ปี  พ.ศ.2553  โดยเป็นสัญญาที่ไม่มีข้อตกลงกันว่าจะจ้างเป็นเวลากี่ปี  ในปี  2555  เหลืองได้จ่ายค่าจ้างเพิ่มให้เป็นเงิน  400  บาทต่อเดือน  น้ำเงินทำงานมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์  2555  เหลืองเห็นว่าร้านอาหารทำการค้าขาดทุน  จึงขอเลิกสัญญาจ้างกับน้ำเงินในวันที่  29  กุมภาพันธ์  2555  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าน้ำเงินมีสิทธิทำงานไปจนถึงวันที่เท่าใด  และเหลืองจะต้องจ่ายเงินให้กับน้ำเงินตั้งแต่วันที่เหลืองบอกเลิกสัญญาไปจนถึงวันสิ้นสุดของการทำงานของน้ำเงินเป็นจำนวนเท่าใด  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  582  วรรคแรก  ได้กำหนดไว้ว่า  สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า  ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า  3  เดือน

กรณีตามอุทาหรณ์  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านอาหารของเหลือง  แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใด  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่  29  กุมภาพันธ์  2555  เหลืองได้ขอเลิกสัญญาจ้างน้ำเงิน  จึงถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในวันที่  28  มีนาคม  2555  (ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆวันที่  28  ของแต่ละเดือน)  ซึ่งจะมีผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่  28  เมษายน  2555  ตามมาตรา  582  วรรคแรก  ดังนั้น  น้ำเงินจึงมีสิทธิทำงานต่อจนถึงวันที่  28  เมษายน  2555    และเหลืองจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับน้ำเงินในวันที่  28  มีนาคม  2555  เป็นเงิน 12,900  บาท (12,500+400)  และจ่ายเงินค่าจ้างให้น้ำเงินในวันที่  28  เมษายน  เป็นเงิน  12,9000  บาทเช่นกัน  รวมเป็นเงินทั้งหมด  25,800  บาท  (12,900+12,900)   หรือเหลืองจะจ่ายเงินค่าจ้างให้น้ำเงินทั้งหมด  25,800  บาท  แล้วให้น้ำเงินออกจากงานในทันทีเลยก็ได้ตามมาตรา  582  วรรคสอง

สรุป  น้ำเงินมีสิทธิทำงานไปจนถึงวันที่  28  เมษายน  2555  และเหลืองจะต้องจ่ายเงินให้กับน้ำเงินตั้งแต่วันที่เหลืองบอกเลิกสัญญาไปจนถึงวันสิ้นสุดของการทำงานของน้ำเงินเป็นจำนวน  25,800  บาท

Advertisement