การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ของแดงหนึ่งคูหา  มีกำหนดเวลา  10  ปี  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อสูดท้ายเขียนไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2555  แล้ว  ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าๆต่อไปอีก  10  ปี  และผู้ให้เช่าจะไปจดทะเบียนการเช่าให้กับผู้เช่าโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น  หากผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  คู่สัญญาตกลงว่าผู้ให้เช่าต้องขายอาคารพาณิชย์ให้กับผู้เช่า  หากผู้เช่าต้องการซื้ออาคารที่เช่าของผู้ให้เช่า”  ขาวเช่าอาคารหลังนี้ได้เพียง  3  ปี  แดงได้ยกอาคารนี้ให้กับมืดบุตรบุญธรรมของแดง  โดยการให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย  ขาวอยู่ในอาคารจนถึงวันที่  31 มกราคม  2555  ขาวจึงไปพบมืด  และขอเช่าอาคารต่อไปอีก  10  ปี  แต่ถูกมืดปฏิเสธ  ขาวจึงขอให้มืดขายอาคารให้ตนตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  แต่ถูกมืดปฏิเสธเช่นกัน

ให้วินิจฉัยว่า  การปฏิเสธของมืด  2  ประการนี้  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าอาคารระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกำหนด  10  ปี  ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  538  และสามารถใช้บังคับกันได้  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวเช่าอาคารหลังนี้มาได้เพียง  3  ปี  แดงได้ยกอาคารหลังนี้ให้กับมืดบุตรบุญธรรมของแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  มืดจะต้องให้ขาวเช่าอาคารนั้นต่อไปจนครบกำหนด  10  ปี  ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  วรรคสอง

สำหรับสัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่เขียนไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2555  แล้วผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าๆต่อไปอีก  10  ปี”  นั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่น  ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันมืด  ดังนั้น  การที่ขาวไปพบมืดและขอเช่าอาคารต่อไปอีก  10  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และมืดปฏิเสธมิให้ขาวเช่าต่อ  คำปฏิเสธของมืดกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนสัญญาข้อที่ว่า  “หากผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าต้องขายอาคารให้กับผู้เช่า”  นั้นก็เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น  มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  มืดจึงไม่ต้องผูกพันตามสัญญาข้อนี้  เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนต้องรับมาด้วยนั้น  คือสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  ดังนั้นการที่ขาวขอให้มืดขายอาคารให้ตนตามสัญญาเช่าข้อสุดท้ายแต่ถูกมืดปฏิเสธ  คำปฏิเสธของมืดกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป  คำปฏิเสธของมืดทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)   แสดทำสัญญาเป็นหนังสือให้ม่วงเช่ารถยนต์มีกำหนดเวลา  3  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือนของแต่ละเดือนเป็นค่าเช่าเดือนละ  50,000  บาท  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ในปี  2555  ม่วงไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับแสดเลย  ดังนั้นในวันที่  10  มีนาคม  2555  แสดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับม่วงทันที  และให้ม่วงนำรถยนต์มาคืนให้กับแสดภายใน  15  วัน  ให้วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบจะแตกต่างไปหรือไม่  และแสดจะเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ม่วงไม่ชำระ  100,000  บาท  (หนึ่งแสนบาท)  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่า  กำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  การที่ม่วงไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับแสดในปี  2555  นั้น  แสดจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้  แต่แสดจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ม่วงชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าม่วงยังไม่ยอมชำระอีก  แสดจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้น  การที่แสดบอกเลิกสัญญาเช่ากับม่วงทันที  และให้ม่วงนำรถยนต์มาคืนแสดภายใน  15  วัน  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าในสองเดือนแรกของปี  2555  นั้น  ย่อมถือเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัด  ไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกันแล้ว  ดังนั้น  แสดผู้ให้เช่าซื้อจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของแสดจึงชอบด้วยกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม  แสดจะเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ม่วงไม่ชำระ  100,000  บาท  ไม่ได้  เพราะตามหลักกฎหมายมาตรา  574  วรรคแรก  หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  และริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ใช้มาแล้วเท่านั้น  จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพราะผิดนัดหรือผิดสัญญาดังกล่าวไม่ได้

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีของแสดชอบด้วยกฎหมาย  แต่แสดจะเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ม่วงไม่ชำระ  100,000  บาท  ไม่ได้  ดังนั้น  คำตอบจึงแตกต่างกัน

 

ข้อ  3 

(ก)    นายขาวทำสัญญาจ้างนายเล็กเป็นลูกจ้าง  มีกำหนดเวลา  2  ปี  โดยชำระสินจ้างเดือนละ  15,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  นายเล็กได้ยื่นเรื่องขอลาไปจัดงานสมรสของลูกสาวที่ต่างจังหวัดตั้งแต่วันที่  19 ถึง  23  มีนาคม  2555  แต่นายขาวเห็นว่าบริษัทมีงานจำนวนมากจึงไม่อนุญาต  นายเล็กไม่ทราบว่าไม่ได้รับอนุญาตก็ได้เดินทางไปจัดงานสมรสของลูกสาวและกลับมาทำงานในวันจันทร์ที่  26  มีนาคม  2555  นายขาวจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนายเล็กทันที  ในวันที่  31  มีนาคม  2555  แต่นายเล็กต่อสู้ว่าสัญญาจ้างตนมีกำหนดเวลาอยู่ยังบอกเลิกสัญญาจ้างเช่นนี้ไม่ได้  ดังนั้นที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

(ข)    เมื่อวันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  นายหมีทำสัญญาจ้างนายช้างให้ก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่  31  มกราคม  2555  โดยตกลงที่จะจ่ายสินจ้างให้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นงวดๆ  ตามที่ระบุไว้ในสัญญา  และในสัญญาได้ระบุไว้ว่าให้นายหมีผู้ว่าจ้างเป็นผู้ส่งมอบประตูหน้าต่างที่สั่งทำเป็นพิเศษ  เพื่อนำมาประกอบในการก่อสร้างโรงงานโดยกำหนดให้ส่งมอบแก่นายช้างผู้รับจ้าง  ภายในวันที่  1  พฤศจิกายน  2554  แต่นายหมีได้ส่งมอบล่าช้าให้นายช้างในวันที่  15  ธันวาคม  2554 นายช้างได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบโรงงานได้ในวันที่  1  มีนาคม  2555  นายหมีได้ทักท้วงว่านายช้างส่งมอบงานล่าช้าจะต้องรับผิดชอบด้วย  เช่นนี้

1)       การส่งมอบงานไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้  ตามกฎหมายมาตรา  596  จะต้องรับผิดอย่างไร

2)      จากโจทย์  นายช้างจะต้องรับผิดหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายขาวทำสัญญาจ้างนายเล็กเป็นลูกจ้าง  มีกำหนดเวลา  2  ปี  โดยชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  และจะครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2556  นั้น  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ซึ่งโดยหลักแล้วนายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายเล็กได้ยื่นเรื่องขอลาไปจัดงานสมรสของลูกสาว  แต่นายขาวนายจ้างไม่ได้อนุญาต  และนายเล็กก็หยุดงานไปตั้งแต่วันที่  19  ถึง  23  มีนาคม  ดังนี้  แม้นายเล็กจะได้ยื่นหนังสือขอลาหยุดงานแล้ว  แต่เมื่อนายจ้างไม่อนุญาต  จึงต้องถือว่าการที่นายเล็กได้หยุดงานไปดังกล่าวนั้น  เป็นการละทิ้งงานไปเสียตามมาตรา  583  ซึ่งนายจ้างสามารถไล่นายเล็กออกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า  หรือให้สินไหมทดแทน  ดังนั้น  นายขาวจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนายเล็กในวันที่  31  มีนาคม  2555  ได้

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  591  ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี  เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี  ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

มาตรา  596  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี  ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา  ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1)       ในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้น  หากผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา  ตามกฎหมายมาตรา  596  กำหนดให้ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างลงได้  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา  ผู้ว่าจ้างก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

แต่อย่างไรก็ดี  ถ้าความชักช้าในการที่ทำเกิดขึ้นเพาะสัมภาระที่ผู้ว่าจ้างส่งให้  หรือเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้าง  กรณีเช่นนี้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด  เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ  หรือคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน  ตามมาตรา  591

2)      จากโจทย์  สัญญาก่อสร้างโรงงานดังกล่าว  เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างคือ  นายช้างตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับนายหมีผู้ว่าจ้าง  และนายหมีตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จที่ทำนั้น  จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ  ตามมาตรา  587  ดังนั้น  การที่นายช้างผู้รับจ้างทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบโรงงานล่าช้าไม่ทันเวลา  นายช้างจะต้องรับผิดตามมาตรา  596  คือ  นายหมีนายจ้างชอบที่จะลดสินจ้างที่ต้องจ่ายลงได้  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาก่อสร้างโรงงานอยู่ที่เวลา  นายหมีก็ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่า  ความชักช้าของการที่นายช้างทำดังกล่าวนั้น  เกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้  คือ  เกิดจากการที่นายหมีส่งมอบประตูหน้าต่างให้ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้  จึงทำให้นายช้างก่อสร้างโรงงานล่าช้าตามไปด้วย  ดังนั้น  นายช้างผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจากการที่ส่งมอบโรงงานไม่ทันเวลาดังกล่าว  ตามมาตรา  591

สรุป

(ก)    นายขาวสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างนายเล็กได้ทันที  ในวันที่  31  มีนาคม  2555

(ข)

1)  การส่งมอบงานไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้  ตามกฎหมายมาตรา  596  จะต้องรับผิดดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

2)  จากโจทย์  นายช้างไม่ต้องรับผิด  เพราะการส่งมอบงานไม่ทันเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้

Advertisement