การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007  กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ผู้กำกับการสถานีตำรวจสั่งให้  ร.ต.อ.สุเทพทำหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ  ร.ต.อ.สุเทพนำเงินดังกล่าวไปฝากพี่สาว  มิได้นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ  เวลาผ่านไป  2  เดือน  ผู้กำกับการสถานีตำรวจรู้เข้า  จึงสั่งให้  ร.ต.อ.สุเทพ  นำเงินมาคืนแก่ทางราชการ  ร.ต.อ.สุเทพก็นำเงินมาคืนจนครบ  ดังนี้  ร.ต.อ.สุเทพ  มีความผิดประการใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  147  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  มีหน้าที่  ซื้อ  ทำ  จัดการ  หรือ  รักษาทรัพย์ใด  เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน  หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต  หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

องค์ประกอบความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  147  ประกอบด้วย

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       มีหน้าที่ซื้อ  ทำ  จัดการ  หรือรักษาทรัพย์ใด

3       เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน  หรือเป็นของผู้อื่น  หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย

4       โดยทุจริต

5       โดยเจตนา

เจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือน  จากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่  ทำ  จัดการ  หรือรักษาทรัพย์  หากเจ้าพนักงานผู้นั้นไม่มีหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิด  ตามมาตรา  147

หน้าที่ซื้อ  เช่น  มีหน้าที่ซื้อพัสดุหรือเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้ในสำนักงาน

หน้าที่ทำ  เช่น  มีหน้าที่ประดิษฐ์เครื่องใช้เครื่องยนต์ขึ้นใหม่  หรือมีหน้าที่ซ่อมแซม  แก้ไข  เครื่องใช้เครื่องยนต์ที่ชำรุดให้ดีขึ้น

หน้าที่จัดการ  เช่น  หน้าที่ในการจัดการโรงงาน  จัดการคลังสินค้า  เป็นต้น

หน้าที่รักษา  เช่น  เป็นเจ้าหน้าที่การเงินก็ย่อมต้องดูแลรักษาเงินที่ได้รับมานั้นด้วย

เบียดบัง  หมายความว่า  การเอาเป็นของตน  หรือแสดงให้ปรากฏว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นตัวอย่างเช่น  เอาทรัพย์นั้นไปใช้อย่างเจ้าของ  หรือจำหน่ายทรัพย์นั้นไป

การเบียดบังที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการเบียดบังทรัพย์  ถ้าเบียดบังเอาอย่างอื่น  เช่น  แรงงาน  กรณีนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา  147  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นก็ตาม  และเป็นความผิดสำเร็จเมื่อเบียดบังเอาทรัพย์ไปแม้จะนำมาคืนในภายหลัง  ก็ยังคงมีความผิด

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์  หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้น  ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยมีเจตนา  ตามมาตรา  59  และต้องมีเจตนาพิเศษ  คือ  โดยทุจริต  เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น  ถ้าผู้กระทำขาดเจตนาโดยทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ร.ต.อ.สุเทพซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ  ได้นำเงินดังกล่าวไปฝากพี่สาว  มิได้นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการนั้น  เมื่อ  ร.ต.อ.สุเทพเป็นเจ้าพนักงาน  มีหน้าที่รักษาทรัพย์แล้วเอาทรัพย์  (เงินประกันตัวผู้ต้องหา)  นั้นไป  พฤติการณ์แสดงว่า  ร.ต.อ.สุเทพมีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นแล้ว  แม้ต่อมาในภายหลัง  ร.ต.อ.สุเทพจะได้นำเงินมาคืนแก่ทางราชการจนครบ  การกระทำของ  ร.ต.อ.สุเทพก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  147  ทุกประการ  ดังนั้น  ร.ต.อ.สุเทพจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา  147  (ฎ. 473/2527)

สรุป  ร.ต.อ.สุเทพมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  147

 

ข้อ  2  นายเดชไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมี  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  ไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมีแต่ประการใด  ซึ่งนายเดชก็ทราบดี  ดังนี้  นายเดชมีความผิดทางอาญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  173  ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  173  นี้แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้  คือ

1       รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

2       แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน  หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

3       ว่าได้มีการกระทำผิด

4       โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน  ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย  แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น  ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา  ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว  ต้องปรับตามบทมาตรา  172  มิใช่มาตรา  173  นี้

การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น  ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การแจ้งตามมาตรา  173  นี้  อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด  เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว  ย่อมเป็นความผิดสำเร็จ  ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องได้กระทำโดยมีเจตนาด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเดชไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมี  ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมีแต่ประการใดนั้น  ถือเป็นกรณีที่นายเดชรู้ว่า  มิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  และได้กระทำไปโดยมีเจตนา  การกระทำของนายเดชจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  นายเดชจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  173

สรุป  นายเดชมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา  173

 

ข้อ  3  นายสาและนางสีจดทะเบียนสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย  นายสาและนางสีได้ร่วมกันซื้อบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว  ขนาด  2  ห้องนอน  นายสาและนางสีนอนคนละห้อง  วันเกิดเหตุ  นายสาจุดบุหรี่สูบในห้องนอนแล้วเผลอหลับไป  ปรากฏว่าบุหรี่ไหม้พื้นห้องแล้วลุกลามไหม้ห้องของนายสา  นายสารู้สึกตัวตื่นขึ้นดับไฟได้ทัน  ก่อนที่จะลุกลามไปไหม้ห้องของนางสีซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในเวลานั้น  ดังนี้  นายสามีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  225  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายหรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225  ประกอบด้วย

1       กระทำให้เกิดเพลิงไหม้

2       โดยประมาท

3       เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

กระทำให้เกิดเพลิงไหม้  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆซึ่งทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้น  โดยสิ่งที่ไหม้นั้นจะเป็นวัตถุหรือทรัพย์ของผู้อื่น  ของตน  หรือที่ไม่มีเจ้าของ  ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้

โดยประมาท  หมายถึง  กระทำโดยไม่เจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่

เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หมายความว่า  จะต้องเกิดความเสียหายขึ้นจริงๆแล้วจึงจะเป็นความผิด  ถ้าไม่มีความเสียหายหรือเพียงน่าจะเสียหายก็ยังไม่เป็นความผิด  แต่ข้อสำคัญก็คือว่า  ทรัพย์ที่เสียหายนั้นจะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น  ถ้าเป็นทรัพย์ของตัวเอง  ไม่ผิดมาตรานี้

น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  หมายความว่า  เพียงแต่น่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต(ความตาย)  ของบุคคลอื่น  ก็เป็นความผิดแล้ว ดังนั้นถ้าน่าจะเป็นอันตรายแก่กาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของตนเอง  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสาจุดบุหรี่สูบในห้องนอนแล้วเผลอหลับไป  ทำให้บุหรี่ไหม้พื้นห้อง  แล้วลุกลามไหม้ห้องของนายสานั้น การกระทำของนายสาถือว่าเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทแล้ว  และแม้ว่านายสาจะรู้สึกตัวตื่นขึ้น  และดับไฟได้ทันก่อนที่จะลุกลามไปไหม้ห้องของนางสีซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในเวลานั้น  การกระทำของนายสาที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทนั้น  ได้เข้าองค์ประกอบความผิดที่ว่า  น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่นแล้ว  แม้ว่าตามข้อเท็จจริงนางสีจะไม่ได้รับอันตรายใดๆก็ตาม  ดังนั้นการกระทำของนายสาจึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  225  นายสาจึงมีความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา 225

สรุป  นายสามีความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225

 

ข้อ  4  นายแดงกู้เงินจากนาย  ก  จำนวน  100,000  บาท  นายแดงทำสัญญากู้ส่งมอบให้นาย  ก  เก็บรักษาไว้  วันเกิดเหตุ  นาย  ก  นำสัญญากู้ขึ้นมาอ่าน  นาย  ก  พบว่าสัญญากู้ไม่ได้ลงนามในสัญญา  นาย  ก  จึงขอให้นายขาวช่วยลงนามเป็นพยานในสัญญากู้  นายขาวจึงเซ็นชื่อลงไปในสัญญากู้และเขียนข้อความต่อท้ายว่า  “พยานผู้ให้การรับรอง”  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  การที่นายขาวเซ็นชื่อในฐานะพยานนั้น  นายแดงผู้กู้ไม่ได้ยินยอมด้วยแต่ประการใด  ดังนี้  นายขาวมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

 1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

 ในเรื่องการปลอมเอกสาร  ที่เป็นการเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หมายความว่า  มีเอกสารที่แท้จริงอยู่แล้ว  ต่อมามีการเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไขข้อความ  เพื่อให้เข้าใจว่ามีการกระทำนั้นๆมาก่อนแล้ว  ดังนั้นการเติม  ตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อกระทำต่อเอกสารที่แท้จริง  ถ้ากระทำต่อเอกสารปลอม  ย่อมไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร

เติม  หมายถึง  การเพิ่มข้อความในเอกสารที่แท้จริง

ตัดทอน  หมายถึง  ตัดข้อความบางตอนออกจากเอกสารที่แท้จริง

แก้ไข  หมายถึง  การกระทำทุกอย่างอันเป็นการแก้ไขข้อความให้ผิดไปจากข้อความเดิม

นอกจากนี้การเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไข  ข้อความในเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ  ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้  ถ้าหากว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

อย่างไรก็ตามจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ผู้กระทำต้องกระทำโดยเจตนา  และการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  หรือประชาชนด้วย  แม้ความเสียหายจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม  ทั้งนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายขาวได้เซ็นชื่อลงไปในสัญญากู้  และเขียนข้อความต่อท้ายว่า  “พยานผู้ให้การรับรอง”  ถือได้ว่าเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง  และนายขาวได้กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ  เพราะนายแดงผู้กู้ไม่ได้ยินยอมด้วยแต่ประการใด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  653  วรรคแรก  เรื่องหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายก็มิได้บังคับว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยานด้วยแต่อย่างใด  เมื่อมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมในหลักฐานนั้น  แม้ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยาน  ก็สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้  สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ดังนั้นการที่นายขาวเซ็นชื่อและเขียนข้อความเพิ่มเติมในภายหลัง  การกระทำดังกล่าวจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่นายแดงผู้กู้ยืมเงินได้ นายขาวจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  (ฎ. 1126/2505)

เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา  264  วรรคแรก  จึงไม่จำต้องพิจารณาบทบัญญัติ  มาตรา  265  แต่อย่างใด  แม้สัญญากู้ยืมจะเป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา  265  ก็ตาม

สรุป  นายขาวไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264265

Advertisement