การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายตี๋ลอบเสพยาบ้าในเวลากลางคืน มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง ตำรวจสายตรวจไปพบเข้า จึงล้อมจับ นายตี๋ดับไฟ แล้วหนีไป ดังนี้ นายตี๋มีความผิดต่อเจ้าพนักงานประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 138 วรรคแรก ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 138 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1 ต่อสู้หรือขัดขวาง
2 เจ้าพนักงาน หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
3 โดยเจตนา
ต่อสู้ หมายถึง การใช้กำลังขัดขืน เพื่อไม่ให้การกระทำของเจ้าพนักงานสำเร็จผล เช่น สะบัดมือให้พ้นจากการจับกุม หรือดิ้นจนหลุด
ขัดขวาง หมายถึง การกระทำด้วยประการใดๆ ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าพนักงานหรือทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพื่อไม่ให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นประสบความสำเร็จ เช่น ตำรวจจะวิ่งเข้าไปจับนาย ก นาย ก จึงเอาท่อนไม้ไปขวางไว้ เป็นต้น
โดยการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ อาจจะเป็นการต่อสู้อย่างเดียว หรือขัดขวางอย่างเดียว หรืออาจเป็นทั้งการต่อสู้และขัดขวางก็ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ตำรวจสายตรวจไปพบนายตี๋กำลังลอบเสพยาบ้าในเวลากลางคืนจึงล้อมจับ และนายตี๋ได้ดับไฟแล้วหนีไปนั้น การกระทำดังกล่าวของนายตี๋มิได้เป็นการต่อสู้หรือขัดขวางตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 138 แต่ประการใดเพราะนายตี๋เพียงแต่ดับไฟเพื่อหนีตำรวจไปเท่านั้น ดังนั้น นายตี๋จึงไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
สรุป นายตี๋ไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
ข้อ 2 นายเขียวไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านนายแดง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านนายแดงแต่ประการใด ซึ่งนายเขียวก็ทราบดี ดังนี้ นายเขียวมีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 173 นี้แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้ คือ
1 รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
2 แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
3 ว่าได้มีการกระทำผิด
4 โดยเจตนา
ความผิดฐานแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องปรับตามบทมาตรา 172 มิใช่มาตรา 173 นี้
การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
การแจ้งตามมาตรา 173 นี้ อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จ ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องได้กระทำโดยมีเจตนาด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายแดง ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายแดงแต่ประการใดนั้น ถือเป็นกรณีที่นายเขียวรู้ว่า มิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และได้กระทำไปโดยมีเจตนา การกระทำของนายเขียวจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ ดังนั้น นายเขียวจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173
สรุป นายเขียวมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173
ข้อ 3 จำเลยลอบเข้าไปในบ้านของนายแดง จำเลยจุดไฟเผาบ้านของนายแดง ปรากฏว่าไฟไหม้บ้านของนายแดง และลุกลามไปไหม้เศษหญ้าแห้งในบริเวณบ้านของนายขาวเหลืออีกเพียงหนึ่งเมตรจะถึงตัวบ้านของนายขาว ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ
มาตรา 218 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
ต้องระวางโทษ
มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 218 นั้นในเบื้องต้น การกระทำจะต้องครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 217 อันเป็นหลักทั่วไปก่อน คือ
1 วางเพลิงเผา
2 ทรัพย์ของผู้อื่น
3 โดยเจตนา
เมื่อการกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 217 แล้ว จึงมาพิจารณาว่าทรัพย์ที่วางเพลิงเผานั้นเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218 หรือไม่ ถ้าเป็นแล้ว ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 218 อันเป็นลักษณะฉกรรจ์ ต้องรับโทษสูงกว่าโทษที่ระบุไว้ในมาตรา 217
วางเพลิงเผา หมายถึง การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม แม้จะไหม้เพียงบางส่วนก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แต่ถ้าหากยังไม่เกิดไฟไหม้ขึ้น ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น
ทรัพย์ของผู้อื่น ถ้าเป็นทรัพย์ของตนเอง หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
โดยเจตนา หมายความว่า ผู้กระทำมีความต้องการที่จะเผาทรัพย์นั้น และรู้ว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่นด้วย
และความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุฯ ตามมาตรา 220 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
1 กระทำให้เกิดเพลิงไหม้
2 แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง
3 จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น
4 โดยเจตนา
กระทำให้เกิดเพลิงไหม้ หมายถึง เผาวัตถุใดๆให้ลุกไหม้ขึ้นมา ซึ่งถ้าเพลิงยังไม่ลุกไหม้ขึ้นมา ก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น จึงไม่ผิดตามมาตรานี้
แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง หมายถึง กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ ซึ่งวัตถุในที่นี้อาจจะเป็นทรัพย์ก็ได้ หรือไม่ใช่ทรัพย์ก็ได้ เป็นวัตถุของใครก็ได้ หรือเป็นวัตถุที่ไม่มีเจ้าของก็ได้ และแม้ว่าวัตถุนั้นจะเป็นของตนเองก็ตาม
จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น หมายถึง พฤติการณ์ของการกระทำไม่ใช่ผลของการกระทำ กล่าวคือ เพียงแต่มีเจตนากระทำให้เกิดเพลิงไหม้ แก่วัตถุ และเพลิงไหม้นั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่นก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยจุดไฟเผาบ้านของนายแดงและไฟได้ไหม้บ้านของนายแดงแล้วนั้น การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของนายแดงซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้อื่น และกระทำโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานวางเพลิงตามมาตรา 217 และเมื่อทรัพย์ดังกล่าวเป็นบ้านของนายแดง ซึ่งเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนของผู้อื่นตามมาตรา 218(1)
และเมื่อปรากฏว่า การที่ไฟไหม้บ้านของนายแดงนั้นได้เกิดลุกลามไปไหม้เศษหญ้าแห้งบริเวณบ้านของนายขาว เหลืออีกเพียงหนึ่งเมตรก็จะถึงตัวบ้านของนายขาว ดังนี้ จึงถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ จนน่าจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อจำเลยได้กระทำโดยเจตนา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 220 วรรคแรกด้วย
สรุป จำเลยมีความผิดฐานวางเพลิงตามมาตรา 218(1) และมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุตามมาตรา 220 วรรคแรก
ข้อ 4 นายเอกและนายโทเป็นครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ปกติแล้วทั้งสองคนไม่ถูกกันมาก่อน วันเกิดเหตุ นายเอกไปถึงโรงเรียนก่อน พอเซ็นชื่อเสร็จได้ลงมาทำงานโดยเขียนคำว่า “8.00 น.” เมื่อนายโทมาถึงโรงเรียน นายโทถือวิสาสะโดยไม่มีอำนาจใช้ยางลบ ลบเวลาที่นายเอกเขียนว่า “8.00 น.” ออกแล้วเขียนใหม่เป็น “7.30 น.” ให้ท่านวินิจฉัยว่า การกระทำของนายโทมีความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโทใช้ยางลบ ลบเวลาที่นายเอกเขียนว่า “8.00 น.” ออก แล้วเขียนใหม่เป็น “7.30 น.” นั้น ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริง โดยมีเจตนาและได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง แต่อย่างไรก็ตามการแก้เวลาดังกล่าว ไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายเอกแต่ประการใด ดังนั้น การกระทำของนายโทจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก (ฎ. 734/2530)
สรุป การกระทำของนายโทไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร