การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายมึนงงเข้าสอบกฎหมายอาญา 1 แต่ทําข้อสอบไม่ได้ จึงโมโหตำราที่อ่านมาทั้งคืน และไม่คิดจะอยู่ร่วมกับตําราอีกต่อไป เมื่อออกจากห้องสอบมาจึงคว้าตําราบนเก้าอี้หน้าห้องสอบไปโยนทิ้ง ที่บ่อน้ำหน้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ทันดูให้ดีเสียก่อน ปรากฏว่าเป็นตําราของนางสาวงงงวย ซึ่งเสียหายทั้งหมด จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายมึนงง

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้

กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่า นั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 62 วรรคสอง “ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือความสําคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคหนึ่ง ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทําความผิด ให้ผู้กระทํารับผิดฐานกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าการกระทํานั้นผู้กระทําจะต้องรับโทษ แม้กระทําโดยประมาท”

วินิจฉัย
โดยหลักแล้วบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติ ไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

การกระทําโดยเจตนา ได้แก่การกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็น องค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้ คือจะถือว่า ผู้กระทําได้กระทําโดยเจตนาไม่ได้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมึนงงได้เอาตําราบนเก้าอี้หน้าห้องสอบไปโยนทิ้งที่บ่อน้ำหน้ามหาวิทยาลัยนั้น เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึกจึงถือว่าเป็นการกระทําทางอาญาแล้ว แต่การกระทําดังกล่าวของนายมึนงงจะถือว่าเป็นการกระทําโดยเจตนาหาได้ไม่ เพราะนายมึนงงได้กระทําโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็น

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม คือไม่รู้ว่าตําราที่ตนเอาไปทิ้งที่บ่อน้ำนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่ตําราหรือทรัพย์ของตนเอง ดังนั้นนายมึนงงจึงไม่มีความรับผิดทางอาญาฐานทําให้เสียทรัพย์ (องค์ประกอบ ของความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 358 คือ 1. ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า หรือทําให้ ไร้ประโยชน์ 2. ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย 3. โดยเจตนา)

และแม้ว่าการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้น ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของนายมึนงงเนื่องจากการที่นายมึนงงได้เอาตําราไปทิ้งบ่อน้ำนั้น ได้กระทําโดยไม่ทันดูให้ดีว่าไม่ใช่ตําราของตนเอง แต่นายมึนงงก็ไม่ต้องรับผิดฐานประมาททําให้เสียทรัพย์ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทําโดย ประมาททําให้เสียทรัพย์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใดตามมาตรา 59 วรรคสี่ ประกอบกับมาตรา 62 วรรคสอง ดังนั้นนายมึนงงจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป นายมึนงงไม่มีความรับผิดทางอาญา

 

ข้อ 2. คุณหญิงแย้มเกลียดเย็นที่ได้รับความรักจากเจ้าคุณเพียงคนเดียว คุณหญิงแย้มจึงคิดจะฆ่าเย็นแต่กลับเห็นช้อยเป็นเย็น เมื่อใช้ปืนยิงช้อยถึงแก่ความตายแล้ว กระสุนยังเลยไปถูกชดที่กําลังทําอาหารในครัวที่อยู่ห่างออกไปได้รับบาดเจ็บสาหัส และทําให้ถ้วยลายครามสมัยอยุธยาตอนต้นของแช่มที่ชดถืออยู่ตกแตกอีกด้วย จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของคุณหญิงแย้ม

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

การกระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํากฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไป ตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ความรับผิดทางอาญาของคุณหญิงแย้ม แยกพิจารณาได้ดังนี้
ความรับผิดของคุณหญิงแย้มต่อช้อย
การที่คุณหญิงแย้มใช้ปืนยิงช้อยโดยเข้าใจว่าเป็นเย็นนั้น เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํา คือ ความตายของผู้ที่ตนยิง ดังนั้น การกระทําของคุณหญิงแย้มจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง และกรณีดังกล่าวนี้คุณหญิงแย้มจะยกเอาความสําคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้มีเจตนากระทําต่อซอยไม่ได้ตามมาตรา 61 ดังนั้น คุณหญิงแย้มจึงต้อง รับผิดทางอาญาต่อช้อยฐานกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

ความรับผิดของคุณหญิงแย้มต่อชด
การที่คุณหญิงแย้มใช้ปืนยิงช้อย และกระสุนยังได้เลยไปถูกชุดบาดเจ็บด้วยนั้น ถือเป็นกรณีที่คุณหญิงแย้มเจตนาจะกระทําความผิดต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําไปเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าคุณหญิงแย้มกระทําโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อคุณหญิงแย้มมีเจตนาฆ่า มาตั้งแต่ต้น เจตนาที่โอนมายังชดก็คือ เจตนาฆ่าเช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าชดเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ไม่ถึงแก่ความตาย คุณหญิงแย้มจึงต้องรับผิดต่อชดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามมาตรา 60 ประกอบมาตรา 80

ส่วนกรณีที่กระสุนเลยไปถูกชดและทําให้ถ้วยลายครามของแช่มที่ชดถืออยู่ตกแตกได้รับความเสียหายด้วยนั้น ถือเป็นกรณีที่คุณหญิงแย้มได้กระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ แต่เนื่องจากการ ทําให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นโดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด คุณหญิงแย้มจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา ในความเสียหายต่อถ้วยลายครามของแขม ทั้งนี้ตามหลักในมาตรา 59 วรรคหนึ่งที่ว่า บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญา เมื่อได้กระทําโดยประมาทก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท

สรุป
คุณหญิงแย้มต้องรับผิดทางอาญาต่อช้อยฐานฆ่าช้อยตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 61 และรับผิดทางอาญาต่อชดฐานพยายามฆ่าชดโดยพลาดตามมาตรา 60 ประกอบ มาตรา 80 แต่คุณหญิงแย้มไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อถ้วยลายครามของแช่ม

 

ข้อ 3. ส้มใช้ปืนขู่บังคับให้เงาะตีศีรษะมังคุด หากไม่ทําส้มจะยิงเงาะให้ตาย เงาะกลัวส้มยิงตน เงาะจึงใช้ไม้ตีมังคุด มังคุดเห็นเงาะเงื้อไม้ขึ้นตีมังคุด จึงใช้ไม้ที่ถืออยู่ตีไปที่เงาะ ไม้กระเด็นหลุดมือไปถูกส้มด้วย ดังนี้
ส้ม เงาะ และมังคุดจะมีความรับผิดทางอาญาและมีเหตุที่เป็นคุณทางกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งขัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํากฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของ โทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 89 “ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ ลดโทษ หรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทําความผิดคนใด จะนําเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทําความผิดคนอื่นในการกระทําความผิดนั้นด้วยไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ส้ม เงาะ และมังคุด ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของส้ม
การที่ส้มใช้ปืนขู่บังคับเงาะให้ตีศีรษะมังคุดนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิด ด้วยการบังคับขู่เข็ญแล้ว ส้มจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทําลง คือ เงาะได้ใช้ไม้ตีไปที่มังคุด ดังนั้นส้มผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง และกรณีนี้ส้มไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา 89 เพราะถึงแม้การที่เงาะใช้ไม้ตีมังคุดจะกระทําด้วยความจําเป็นและได้รับยกเว้นโทษ ตามมาตรา 67 ก็ตาม แต่การได้รับยกเว้นโทษดังกล่าวถือเป็นเหตุส่วนตัวของเงาะจะนํามาใช้กับส้มด้วยไม่ได้

ความรับผิดของเงาะ
การที่เงาะใช้ไม้ตีไปที่มังคุดถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของเงาะจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เงาะจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เงาะใช้ไม้ตีไปที่มังคุดนั้น เงาะได้กระทําไปเพราะอยู่ภายใต้อํานาจบังคับของส้ม ซึ่งเงาะไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ เมื่อเงาะได้กระทําไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทําของเงาะจึงเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67 (1) ดังนั้น เงาะจึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

ความรับผิดของมังคุด
การที่มังคุดใช้ไม้ตีไปที่เงาะถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของมังคุดจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง มังคุดจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่มังคุดได้ใช้ไม้ตีไปที่เงาะนั้น มังคุดได้กระทําไปเพื่อป้องกันสิทธิของตน ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของเงาะ และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อมังคุดได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของมังคุดจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 68 ดังนั้น มังคุดจึงไม่ต้องรับผิดต่อเงาะ

และเมื่อการกระทําของมังคุดเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าไม้ได้หลุดจากมือมังคุด เลยไปถูกส้มด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีที่มังคุดเจตนากระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไปและกฎหมายให้ถือว่ามังคุดเจตนากระทําต่อส้มโดยพลาดไปตามมาตรา 60 ก็ตาม แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของมังคุดเป็นการกระทําป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปก็ถือเป็นผลที่เกิดจากการกระทําป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ด้วย ดังนั้น มังคุดจึงไม่ต้องรับผิดต่อส้มเช่นเดียวกัน

สรุป ส้มต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 และรับโทษเสมือนตัวการ
เงาะต้องรับผิดทางอาญา แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 67 เพราะเป็นการกระทํา ความผิดด้วยความจําเป็น

มังคุดไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. นงเยาว์ได้บอกกับนงลักษณ์ลูกน้องว่า นงนุชกําแหงมากสมควรตายได้แล้ว นงลักษณ์ได้ยินเช่นนั้นก็ทราบทันทีว่านงเยาว์ต้องการให้ฆ่านงนุช นงลักษณ์ได้ร่วมกับนงคราญที่เป็นเพื่อนสนิทกันวางแผนฆ่านงนุช โดยนงลักษณ์ไปขอยืมอาวุธปืนจากนงนภา โดยบอกกับนงนภาว่าจะนําอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวเพราะมีคนปองร้าย นงนภาทราบดีว่านงลักษณ์จะนําปืนไปฆ่าคนแต่ไม่ยอมบอกกับตน นงนภาเองก็อยากให้นงนุชตายอยู่แล้ว จึงให้นงลักษณ์ยืมอาวุธปืน นงลักษณ์ได้ปืนมาก็นั่งซ้อนท้าย รถจักรยานยนต์ที่นงคราญเป็นผู้ขับขี่ นงลักษณ์ใช้ปืนของนงนภายิงนงนุชตาย ดังนี้ นงเยาว์ นงคราญ และนงนภา ต้องร่วมรับผิดในการกระทําของนงลักษณ์อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้เก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการ ที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นงลักษณ์ใช้อาวุธปืนยิงนงนุชตาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนงลักษณ์จึงเป็นการ กระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง นงลักษณ์จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประเด็นที่ต้อง วินิจฉัยมีว่า นงเยาว์ นงคราญ และนงนภา ต้องรับผิดในการกระทําของนงลักษณ์อย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของนงเยาว์
การที่นงเยาว์ได้บอกกับนงลักษณ์ลูกน้องว่า นงนุชกําแหงมากสมควรตายได้แล้ว เมื่อนงลักษณ์ ได้ยินเช่นนั้นจึงทราบทันทีว่านงเยาว์ต้องการให้ฆ่านงนุชนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดแล้ว นงเยาว์จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง และเมื่อผู้ถูกใช้คือนงลักษณ์ ได้ลงมือกระทําความผิด ตามที่ก่อ นงเยาว์ผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง

ความรับผิดของนงคราญ
การที่นงคราญได้ร่วมวางแผนกับนงลักษณ์เพื่อฆ่านงนุช และได้ขี่รถจักรยานยนต์ให้นงลักษณ์ ซ้อนท้ายไปฆ่านงนุชนั้น การกระทําของนงคราญถือเป็นการร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันกับนงลักษณ์ ดังนั้น นงคราญจึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับนงลักษณ์ตามมาตรา 83

ความรับผิดของนงนภา
การที่นงนภาให้นงลักษณ์ยืมอาวุธโดยรู้อยู่แล้วว่านงลักษณ์จะไปยิงนงนุชนั้น การกระทําของนงนภาถือเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด ดังนั้น นงนภาจึงต้องรับผิดฐาน เป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

สรุป นงเยาว์ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และต้องรับโทษเสมือนตัวการ
นงคราญต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ นงนภาต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

Advertisement