การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 จงอธิบายที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่ามาอย่างไร และใช้หลักอะไรเกี่ยวกับที่มาของอำนาจดังกล่าว
ธงคำตอบ
ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
1 อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ
(ก) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน โดยเป็นสมาชิก
– มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน
– มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ 125 คน
และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(ข) วุฒิสภา (ส.ว.)
วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก
– การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน
– การสรรหา รวม 74 คน
2 อำนาจบริหาร
อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย
1 นายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี
2 รัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 35 คน ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีนั้น นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะเป็น ส.ว. ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้
หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
1 อำนาจนิติบัญญัติ
หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ มีหลายประการ เช่น
(1) หลักความรู้ความสามารถ เช่น การกำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกวุฒิสภาว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นต้น
(2) หลักความชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัตินั้น จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ จะแตกต่างไปจากนั้นไม่ได้
(3) หลักความทั่วถึง หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม กล่าวคือ การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติจะต้องทั่วถึง โปร่งใส และชอบด้วยกฎหมาย จะต้องไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือใช้อิทธิพลใดๆทั้งสิ้น
(4) หลักความซื่อสัตย์สุจริต หมายความว่า การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติจะต้องเป็นการได้มาจากการกระทำที่ซื่อสัตย์สุจริต
(5) หลักความเหมาะสม เช่น การกำหนดว่า บุคคลที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นบุคคลติดยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
2 อำนาจบริหาร
หลักที่ใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจบริหาร มีหลายประการเช่นเดียวกัน เช่น
(1) หลักความรู้ความสามารถ เช่น การกำหนดให้รัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นต้น
(2) หลักความเหมาะสม เช่น การกำหนดว่า รัฐมนตรีจะต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เป็นต้น
(3) หลักเสียงส่วนใหญ่ เช่น การกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (โดยเสียงส่วนใหญ่) เท่านั้น เป็นต้น
(4) หลักความซื่อสัตย์สุจริต เช่น การกำหนดให้รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน เป็นต้น
ข้อ 2 จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้
(ก) อำนาจตุลาการของไทยปัจจุบันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลมีกี่ศาล อะไรบ้าง และการเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการของไทยใช้หลักอะไรบ้าง
(ข) จงอธิบายการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี พ.ศ.2550
ธงคำตอบ
ก. อำนาจตุลาการของไทยคือ “ศาล” ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันได้บัญญัติให้ศาลมีด้วยกัน 4 ศาลได้แก่
1 ศาลรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่ควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
2 ศาลยุติธรรม คือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ซึ่งมิได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร
ศาลยุติธรรมแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
3 ศาลปกครอง คือ องค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ซึ่งเป็นคดีที่เป็นข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งระหว่างเอกชนกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือระหว่างหน่วยงานเหล่านั้น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง
ศาลปกครอง แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ได้แก่ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด ส่วนศาลปกครองชั้นอุทธรณ์จะมีหรือไม่ก็ได้
4 ศาลทหาร คือ องค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีอาญาทหาร และคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัต
ศาลทหารแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารชั้นกลาง และศาลทหารชั้นสูงสุด
สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการของไทย ใช้หลักอยู่หลายประการ เช่น
1 หลักความรู้ความสามารถ เช่น ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง เป็นต้น
2 หลักประสบการณ์ คือ ต้องมีประสบการณ์ตามที่กฎหมายกำหนด
3 หลักความเหมาะสม เช่น การกำหนดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เป็นต้น
4 หลักความยุติธรรม คือ การพิจารณาพิพากษาคดี หรือการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม
5 หลักความซื่อสัตย์สุจริต
ข การถ่วงดุลและการตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย ฉบับปี พ.ศ.2550
1 อำนาจนิติบัญญัติ อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร เช่น การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้
2 อำนาจบริหาร อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เป็นต้น
3 อำนาจตุลาการ การใช้อำนาจตุลาการนั้น อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ
ข้อ 3 นายทองและพวกรวม 17 คนได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอจัดตั้ง “พรรคชูชาติไท” ปรากฏว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้ปฏิเสธการรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคดังกล่าว
โดยแจ้งเป็นหนังสือแก่นายทองและพวกว่า เนื่องจากนโยบายของพรรคตามเอกสารที่ยื่นมาพิจารณาแล้วเห็นว่า พรรคชูชาติไท ไม่สามารถจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ เพราะนโยบายและวัตถุประสงค์ทางการเมืองของพรรคต้องการให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และให้ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐ
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเหตุใด และหากนายทองและพวกเห็นว่า การปฏิเสธดังกล่าวของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายทองและพวกจะใช้สิทธิในทางศาลต่อศาลใดได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 28 วรรคสอง บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
มาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550
มาตรา 13 วรรคท้าย ผู้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียน อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งตามวรรคสามต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยออกได้ 2 ประเด็น ดังนี้คือ
ประเด็นที่ 1 การปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของพรรคชูชาติไท ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
การที่นายทองและพวกได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอจัดตั้ง พรรคชูชาติไทนั้น นายทองและพวกย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ตามมาตรา 65 วรรคแรก และการที่พรรคชูชาติไทมีนโยบายและวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยต้องการให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และให้ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐนั้น จะเห็นได้ว่า แม้นโยบายและวัตถุประสงค์ของพรรคจะเป็นการส่งเสริมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศจะไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่การที่พรรคมีนโยบายและวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐนั้น นโยบายและวัตถุประสงค์ของพรรคกรณีนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 65 ประกอบมาตรา 1 ซึ่งได้บัญญัติให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ และมาตรา 2 ซึ่งได้บัญญัติให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้น การปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของพรรคชูชาติไทยจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 2 หากนายทองและพวกเห็นว่า การปฏิเสธดังกล่าวของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายทองและพวกจะใช้สิทธิในทางศาลต่อศาลใดได้หรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองปฏิเสธไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวของนายทองและพวกนั้น เป็นเพราะนโยบายและวัตถุประสงค์ทางการเมืองของพรรคนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 65 ดังนั้น การกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทองและพวก
และเมื่อไม่ถือว่านายทองและพวก ถูกละเมิดเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ดังนั้นนายทองและพวกจึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลได้ ตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 13 วรรคท้าย
สรุป การปฏิเสธของนายทะเบียนพรรคการเมืองชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายทองและพวกไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลได้
ข้อ 4 นายแดงถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นายแดงให้การปฏิเสธและให้การโต้แย้งต่อศาลว่า มาตรา 32 พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งได้บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม” และในวรรคสามได้บัญญัติว่า “บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร” นายแดงเห็นว่าการที่มาตรา 32 วรรคสาม มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำหนดนอกราชอาณาจักรอย่างกรณีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมนั้น ย่อมขัดหรือแย้งต่อมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติให้ “บทบัญญัติกฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันใช้บังคับมิได้” และขัดต่อมาตรา 43 รัฐธรรมนูญฯ ซึ่งบัญญัติให้ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม” ขอให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ หากท่านเป็นศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งพิจารณาคดีนี้จะดำเนินการในกรณีนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
มาตรา 211 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคแรก กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6
กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจังหวัดสงขลาซึ่งพิจารณาคดีนี้จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 211 วรรคแรกหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตรา 32 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 หรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติในหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไปซึ่งบัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ซึ่งจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติของมาตรานี้มิได้บัญญัติรับรองสิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ เพียงแต่กำหนดสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้เท่านั้น จึงไม่อาจจะมีบทบัญญัติของกฎหมายใดมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ได้
ดังนั้น จึงไม่ถือว่า พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตรา 32 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6
ประเด็นที่ 2 พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตรา 32 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 หรือไม่
การที่ พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯมาตรา 32 วรรคสามบัญญัติว่า “บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมมาจากต่างประเทศซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมและการโฆษณานั้นย่อมสิ้นสุดไปพร้อมกับการถ่ายทอดสดรายการนั้นๆ มิได้ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดไปเหมือนดังเช่นการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดภายในราชอาจักร
ดังนั้น พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯมาตรา 32 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 43
และเมื่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คือ พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯมาตรา 32 ซึ่งจะใช้บังคับแก่คดีนั้น มิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ศาลจังหวัดสงขลาซึ่งพิจารณาคดีนี้จะไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย