การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติหมายถึงอะไร และมีผลในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันอย่างไร และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้นำแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวมาบัญญัติไว้หรือไม่ อย่างไร ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นั้นมาจากแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เป็นทฤษฎีที่เสนอโดย รุสโซ (Rousseau) ในวรรณกรรมชื่อ “สัญญาประชาคม” (Social Contract) โดยรุสโซ เชื่อว่า “สังคมเกิดขึ้นเพราะราษฎรในสังคมสมัครใจสละสภาพธรรมชาติอันเสรีของตน เพื่อมาทำสัญญาประชาคมขึ้น สังคมจึงเกิดจากการสัญญามิใช่การข่มขู่บังคับ ดังนั้นราษฎรทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของสังคมหรืออำนาจอธิปไตย มิใช่พระเจ้าหรือกษัตริย์ที่เป็นเจ้าของดั่งที่อธิบายกันมาตลอด” ตัวอย่างที่รุสโซอ้างก็คือ “สังคมหนึ่งมีสมาชิก 10,000 คน สมาชิกแต่ละคนย่อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยคนละ 1/10,000 ดังนั้น ราษฎรแต่ละคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตน โดยไม่มีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งหมดได้
จากทฤษฎีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ
1 ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครอง เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งส่วนแห่งอำนาจตน อันนำมาสู่หลักการคือ “การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง” เพราะถือว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิของทุกคน มิใช่หน้าที่จึงไม่อาจมีการจำกัดสิทธิได้ ดังที่รุสโซ กล่าวว่า “สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรที่จะมาพรากจากประชาชนได้”
2 การมอบอำนาจของราษฎรให้ผู้แทนเป็นการมอบอำนาจในลักษณะที่ผู้แทนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง
ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ นั้นหมายถึง แนวคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมีอยู่ในตัวของมนุษย์ และมนุษย์ได้ทำสัญญาหรือก่อพันธะผูกพันกันโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะโอนอำนาจอธิปไตยที่ตนมีอยู่ให้แก่สังคม และสังคมที่ว่านี้ก็คือชาตินั่นเอง
จากทฤษฎีดังกล่าวก่อให้เกิดผลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ
1 ชาติเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ปวงชนหรือราษฎร อำนาจเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ชาติมอบให้แก่ราษฎรในฐานะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่เลือกผู้แทนของชาติ ดังนั้นการเลือกตั้งของราษฎรจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิใช่การใช้สิทธิ ชาติจึงมีสิทธิที่จะต้องมอบอำนาจเลือกตั้งให้ราษฎรที่เห็นว่าเหมาะสมได้ การเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบทั่วถึง มีการจำกัดสิทธิการเลือกตั้งได้
2 คนแต่ละคนไม่ได้เป็นผู้แทนของราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งที่เลือกตนเท่านั้น ผู้แทนทั้งหมดถือเป็นผู้แทนของชาติและไม่อยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง
และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบัน ได้นำทฤษฎีทั้งสองมาบัญญัติไว้ร่วมกัน เช่น ในมาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ก็เท่ากับยอมรับทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และในขณะเดียวกันตามมาตรา 72 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและบุคคลซึ่งไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ” จึงเท่ากับเป็นการยอมรับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ เป็นต้น
ข้อ 2 จงอธิบายที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ และที่มาของอำนาจบริหาร และการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ธงคำตอบ
ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
1 อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ
(ก) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน โดยเป็นสมาชิก
– มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน
– มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ 125 คน
และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(ข) วุฒิสภา (ส.ว.)
วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก
– การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน
– การสรรหา รวม 74 คน
2 อำนาจบริหาร
อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย
1 นายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี
2 รัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 35 คน ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีนั้น นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะเป็น ส.ว. ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้
การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจทั้งสาม
1 อำนาจนิติบัญญัติ อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร เช่น การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้
2 อำนาจบริหาร อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เป็นต้น
3 อำนาจตุลาการ การใช้อำนาจตุลาการนั้น อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ
ข้อ 3 เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษทราบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่ง ปล่อยทิ้งอากาศเสีย ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 82(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษดำเนินการเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อตรวจสภาพระบบบำบัดอากาศเสีย
ปรากฏว่าโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานของนายสดใส นายสดใสเห็นว่า การที่พนักงานควบคุมมลพิษเข้าไปในโรงงานของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งอาศัยมาตรา 82(1) นั้น เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของตน นายสดใสจึงนำเรื่องดังกล่าวไปร้องขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยอ้างว่า
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 82(1) ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 33 ปรากฏว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิเสธไม่ยอมส่งข้อโต้แย้งของนายสดใสไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นายสดใสจึงยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 212
จงวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของนายสดใสไว้พิจารณาได้หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 211 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
มาตรา 212 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา 245 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้
(1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา 257 วรรคแรก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(2) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัย
แม้ว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 82(1) ที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษที่จะเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นกฎหมายที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 33 แต่กรณีผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติมาตรา 212 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ (คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2551) ดังนี้คือ
(1) ต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ อันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
(2) บุคคลนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ
(3) ต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว
ซึ่งกรณีตาม (3) ที่ว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วนั้น หมายความว่าประชาชนผู้โต้แย้งจะต้องได้ใช้สิทธิตามมาตรา 211, 245(1) และมาตรา 257 วรรคแรก (2) ครบทั้งสามขั้นตอนแล้วแต่ยังไม่มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนี้ประชาชนจึงจะใช้สิทธิตามมาตรา 212 วรรคแรกได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 212 วรรคสอง
กรณีตามอุทาหรณ์ คดีนี้แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะปฏิเสธไม่ส่งข้อโต้แย้งของนายสดใสไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 245(1) ก็ตาม แต่นายสดใสก็ยังสามารถที่จะใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้อีก กล่าวคือ ยังสามารถไปร้องขอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 254 วรรคแรก (2) ได้ และถ้าหากไม่มีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญอีก กรณีนี้นายสดใสจึงจะสามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยตนเองได้ตามมาตรา 212
ดังนั้นอาศัยเหตุและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อนายสดใสยังปฏิบัติไม่ครบหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ นายสดใสจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 212 ได้ เมื่อนายสดใสได้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายสดใสดังกล่าวได้
สรุป ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องของนายสดใสไว้พิจารณา
ข้อ 4 ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีประกาศกำหนดให้มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งในจังหวัดแพร่ใหม่ และมีคำวินิจฉัยไม่รับสมัครนายทองในการสมัครรับเลือกตั้งฯ เนื่องจากเคยถูกปลดออกจากราชการจึงขาดคุณสมบัติ ซึ่งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปรากฏว่า นายเงินเป็นผู้ได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุด ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่านายเงินมีส่วนให้บุคคลอื่นใช้อิทธิพลในการข่มขู่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งให้เลือกตน คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการสอบสวนและเห็นว่ามีมูลจริง จึงมีคำวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า หากนายทองเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตนไม่เคยถูกปลดออกจากราชการ และนายเงินเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในการสอบสวนได้ตัดพยานของตนที่อ้างออกไปทั้งหมด และประกาศการแบ่งเขตการเลือกตั้งฯก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครพรรคหนึ่งให้ได้เปรียบพรรคอื่นๆ ดังนี้ นายทองและนายเงินจะใช้สิทธิทางศาลในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่ และศาลใดที่จะมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณา
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 28 วรรคสอง บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
มาตรา 219 วรรคสาม ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา 223 วรรคแรก ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย
มาตรา 239 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 28 วรรคสอง เป็นสิทธิในทางศาลของบุคคลในรัฐ โดยสิทธิดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อมีการละเมิด (การกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายและการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น) สิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติรับรองไว้ ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นย่อมมีสิทธินำคดีไปฟ้องศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยดังนี้ คือ
ประเด็นที่ 1 การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยไม่รับสมัครนายทองในการสมัครรับเลือกตั้งฯ เนื่องจากเคยถูกปลดออกจากราชการจึงขาดคุณสมบัตินั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งทำให้นายทองไม่สามารถลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ได้ ถือว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของนายทอง ดังนั้นนายทองย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ตามมาตรา 28 วรรคสอง กล่าวคือนายทองสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้นั่นเอง
สำหรับศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณานั้น เป็นอำนาจของศาลฎีกาตามมาตรา 219 วรรคสาม เพราะเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ประเด็นที่ 2 เมื่อตามมาตรา 239 วรรคแรก ได้บัญญัติให้การวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด ดังนั้นกรณีของนายเงินซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุด แต่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการสอบสวนตามที่ได้มีการร้องเรียนและเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีคำวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งฯนั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวย่อมถือเป็นที่สุด นายเงินจะใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องเป็นคดีต่อศาลไม่ได้
ประเด็นที่ 3 การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศกำหนดให้มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งในจังหวัดแพร่ใหม่นั้น ก็มาจากการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็น “มติ” ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและมติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ประกาศฯดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็น “กฎ” และเป็นกฎที่เกิดจากการใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นเมื่อนายเงินเห็นว่าประกาศแบ่งเขตการเลือกตั้งฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลคือฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้ ทั้งนี้เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว และศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาในกรณีนี้คือศาลปกครองตามมาตรา 223 วรรคแรก
สรุป
1 คำวินิจฉัยไม่รับสมัครนายทองในการสมัครรับเลือกตั้งฯ นายทองสามารถใช้สิทธิทางศาลโดยการฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้ และศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาคือศาลฎีกา
2 คำวินิจฉัยที่สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งฯ ถือเป็นที่สุด นายเงินจะใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องเป็นคดีต่อศาลไม่ได้
3 ประกาศการแบ่งเขตการเลือกตั้งฯ เป็นกฎ ถ้านายเงินเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้ และศาลที่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาคือศาลปกครอง