การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายดำถูกตำรวจจับกุมตัวดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องนายดำต่อศาลอาญา นายดำให้การปฏิเสธ ระหว่างถูกดำเนินคดีนายดำไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และในการควบคุมตัวนายดำมาที่ศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตีโซ่ตรวนนายดำ นายดำอ้างว่าการตีโซ่ตรวนตนเป็นการกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 26 ที่บัญญัติว่า
“การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” นอกจากนี้ในการพิจารณาคดีนายดำยังอ้างว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 3 เกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” เป็นข้อสันนิษฐานกฎหมายที่สันนิษฐานว่านายดำเป็นผู้กระทำความผิด จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” นายดำจึงขอให้ศาลอาญาส่งประเด็นซึ่งเป็นข้อต่อสู้ทั้งสองประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ท่านเห็นว่า ศาลอาญาควรส่งปัญหาทั้งสองประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 211 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคแรก กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 6
กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลอาญาควรส่งปัญหาทั้งสองประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
ประเด็นที่ 1 การที่นายดำอ้างว่าการตีโซ่ตรวนของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 211 ดังนั้น การที่นายดำได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งประเด็นซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลอาญาจึงไม่ควรส่งปัญหาประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ประเด็นที่ 2 การที่นายดำอ้างว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคท้าย เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง นั้นถือว่าเป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 211 ดังนั้นการที่นายดำได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งประเด็น ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลอาญาจึงต้องส่งปัญหาประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
สรุป ศาลอาญาจะต้องส่งปัญหาเฉพาะประเด็นที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนปัญหาประเด็นที่ 1 ไม่ต้องส่งตามมาตรา 211
ข้อ 2 การยุบสภาคืออะไร เหตุใดจึงต้องมีการยุบสภาและตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบสภาไว้อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
การยุบสภา หมายถึง การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งการยุบสภาที่ว่านี้จะใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาเพราะไม่มีการยุบวุฒิสภา แต่การยุบสภานั้นจะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย
เหตุที่ต้องมีการยุบสภา ก็เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้วินิจฉัยว่า ควรให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรี หรือสภานิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) โดยการเลือกบุคคลที่ตนเห็นชอบเข้ามาใหม่ ซึ่งการยุบสภานี้จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในประเทศที่มีการปกครองในระบบรัฐสภาหรือในประเทศที่มีการปกครองในระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา เช่น ประเทศฝรั่งเศสก็ได้ แต่การยุบสภาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีการปกครองในระบบประธานาธิบดี
การยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศไทย ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เนื่องจากการปกครองในระบบนี้จะเพ่งเล็งถึงความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารที่อาจแนะนำให้ประมุขของรัฐยุบสภาได้ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการให้เครื่องมือแก่ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ในการต่อสู้กับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ต่อการที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ได้นั่นเอง
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้ในมาตรา 108 ดังนี้
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการยุบสภาจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1 การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐและทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้วพระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น
2 การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
3 การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวคือ หากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง จะอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนไม่ได้
4 ในกรณีที่มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะมีการยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 158)
ข้อ 3
ก. รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากปัญหาและสาเหตุใด มีหลักการสำคัญว่าอย่างไร และมีเป้าหมายใด
ข. ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 มาถึงปัจจุบัน จงอธิบายว่า รัฐสภาไทยได้เปลี่ยนมาแล้วกี่แบบ อะไรบ้าง
ค. จงอธิบายว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีทั้งหมดกี่มาตรา แบ่งออกเป็นกี่หมวด หมวดพระมหากษัตริย์และหมวดรัฐสภาอยู่ในหมวดที่เท่าไร
ธงคำตอบ
ก รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากปัญหาทางการปกครองเนื่องจากแต่ก่อนอำนาจการปกครองจะอยู่กับผู้ปกครองเพียงคนเดียว ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการปกครอง และการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ปกครองไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งถือว่าเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
จากลักษณะการปกครองดังกล่าว จึงทำให้เกิดปัญหาทางการปกครอง คือ ประชาชนขาดสิทธิเสรีภาพจากการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ปกครอง ดังนั้นจึงมีการแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 อำนาจ คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งจากการแบ่งแยกอำนาจดังกล่าวก็ได้พัฒนามาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีหลักการสำคัญ คือ
1 ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน
2 ผู้ที่จะใช้อำนาจทางปกครอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ จึงทำให้เกิดกระบวนการเลือกตั้ง
3 การใช้อำนาจในทางปกครอง จะต้องใช้อำนาจเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน
4 การใช้อำนาจในทางปกครอง จะต้องสามารถควบคุมและตรวจสอบได้
ข หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ตั้งแต่ พ.ศ.2475 มาถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทยได้เปลี่ยนมาแล้ว 5 แบบ คือ
1 แบบสภาเดียวและมีสมาชิกประเภทเดียว คือสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เช่น รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ.2475 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ.2502 และ พ.ศ.2515 รัฐธรรมนูญฯพ.ศ.2519 รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ.2534 และ พ.ศ. 2549
2 แบบสภาเดียวมีสมาชิกสองประเภท คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2475
3 แบบสองสภามีสมาชิกสองประเภท คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา) ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯพ.ศ. 2511 พ.ศ.2517 พ.ศ.2521 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534
4 แบบสองสภามีสมาชิกประเภทเดียว คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภา ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540
5 แบบสองสภามีสมาชิกสองประเภท คือสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง (สมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภา) และสมาชิกที่มาจากการสรรหา (สมาชิกวุฒิสภา) ซึ่งได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 (ฉบับปัจจุบัน)
ค รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550
1 มีทั้งหมด 309 มาตรา
2 แบ่งออกเป็น 15 หมวด
3 หมวดพระมหากษัตริย์อยู่ในหมวดที่ 2 และหมวดรัฐสภาอยู่ในหมวดที่ 6
ข้อ 4 เพื่อสนับสนุนกิจการของรัฐสภาและเพื่อควบคุมตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้สิทธิพิเศษแก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ในการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ต่อมาจึงได้มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐทั้งหลายให้ปฏิบัติตาม ในกรณีการขอใช้เลขหมายโทรศัพท์ โดยให้พิจารณาขอเลขหมายโทรศัพท์ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นลำดับแรก เว้นแต่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถให้บริการได้ ต่อมา บริษัท ทรีย์ จำกัด และบริษัท ดีแมก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนและให้บริการเลขหมายโทรศัพท์เช่นกัน เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีที่ให้สิทธิพิเศษแก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว เป็นการเลือกปฏิบัติและทำให้การแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่ บริษัท ทรีย์ จำกัด และบริษัท ดีแมก จำกัด กล่าวอ้างในกรณีใด หรือไม่ เพราะเหตุใด และหากท่านเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ท่านจะดำเนินการในกรณีนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
มาตรา 244 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนดังต่อไปนี้
(ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
(ค) การตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล
(ง) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
(2) …..
(3) …..
(4) …..
การใช้อำนาจหน้าที่ตาม (1) (ก) (ข) และ (ค) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการ เมื่อมีการร้องเรียน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวม หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและสอบสวนโดยไม่มีการร้องเรียนได้
มาตรา 245 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้
(1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
(2) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา 244(1)(ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
วินิจฉัย
การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้สิทธิพิเศษแก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ และได้มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐทั้งหลายให้ปฏิบัติตามนั้น มติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวถือว่าเป็นกฎ และเป็นการออกกฎในลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และขัดต่อหลักความเสมอภาค ตามมาตรา 30
เมื่อ บริษัท ทรีย์ จำกัด และบริษัท ดีแมก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นการเลือกปฏิบัติและทำให้การแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องดำเนินการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนนั้น ตามมาตรา 244 (1) (ก) และวรรคท้าย
และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว ก็ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 245 (2)
สรุป มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นกฎที่ออกมาขัดต่อหลักความเสมอภาค ตามมาตรา 30 เพราะเป็นกฎที่ออกมาในลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และหากข้าพเจ้าเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย