การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ให้อธิบายถึงแนวคิดของมองเตสกิเออร์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสในการจัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมารองรับการใช้อำนาจอธิปไตย พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการของระบบการปกครองหลักทั้ง 3 ระบบ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ พร้อมยกตัวอย่างประกอบโดยสังเขป
ธงคำตอบ
มองเตสกิเออ (Montesquieu) เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า “เจตนารมณ์ทางกฎหมาย” หรือ De l’Esprit Lois ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 อำนาจคือ
1 อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา
2 อำนาจบริหาร เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล
3 อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ ได้แก่ ศาล
ซึ่งในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมารองรับการใช้อำนาจเหล่านี้ ควรจัดตั้งในลักษณะที่ให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันเพื่อป้องกันมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเหนืออำนาจอื่น และจากแนวคิดของมองเตสกิเออร์ทำให้เกิดรูปแบบของการปกครองขึ้นมา 3 ระบบ ได้แก่ ระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
ซึ่งแต่ละระบบการปกครองจะมีหลักการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ คือ
ระบบรัฐสภา
ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้ จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้ ล้มล้างในที่นี้คือ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
ระบบประธานาธิบดี
ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา การจัดตั้งองค์กรทั้ง 3 องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด
ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี
ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ
ส่วนแรก คือ ประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา นั่นคือ ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
ส่วนที่สอง คือ คณะรัฐบาล ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา
เพราะฉะนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้ ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกันนั่นเอง
ข้อ 2 การยุบสภาหมายถึงอะไร และการยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภาหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
การยุบสภา หมายถึง การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งการยุบสภาที่ว่านี้จะใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาเพราะไม่มีการยุบวุฒิสภา แต่การยุบสภานั้นจะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย
การยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศไทย ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เนื่องจากการปกครองในระบบนี้จะเพ่งเล็งถึงความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารที่อาจแนะนำให้ประมุขของรัฐยุบสภาได้ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการให้เครื่องมือแก่ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ในการต่อสู้กับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ต่อการที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ได้นั่นเอง
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้ในมาตรา 108 ดังนี้
“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการยุบสภาจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1 การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐและทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้วพระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น
2 การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
3 การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวคือ หากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง จะอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนไม่ได้
ข้อ 3 จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้
ก) จงอธิบายอย่างละเอียดว่าที่มาของอำนาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาอย่างไร
ข) จงอธิบายว่าหน้าที่ของท่านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอะไรบ้าง
ธงคำตอบ
ก) อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ
1 สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน โดยเป็นสมาชิก
– มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน
– มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ 125 คน
(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน
การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิก 1 คน ให้คำนวณจากราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง (หาร) ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 375 คน
จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้นำจำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ที่คำนวณได้นั้นมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ก็ให้มีสมาชิกฯได้ 1 คน จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน ให้มีสมาชิกฯในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกฯ 1 คน
จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกฯได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกฯที่พึงมี โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกฯ 1 คน (มาตรา 94)
(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้เลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 95)
บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 95 ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชีไม่เกินบัญชีละ 125 คน และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 96)
การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 98)
1 วุฒิสภา (ส.ว.)
วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก
– การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน
– การสรรหา รวม 74 คน
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา
การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(1) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
(2) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
(4) ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(5) ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย 1 คน
(7) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย 1 คน
หมายเหตุ
ปัจจุบันประเทศไทยเมื่อนับรวมกรุงเทพมหานครด้วยจะมี 77 จังหวัด ดังนั้นในการเลือกตั้งและสรรหาวุฒิสภาครั้งต่อไป จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน จึงมี 77 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจะมี 73 คน (150 – 77 = 73 คน)
ข) หน้าที่ของข้าพเจ้าตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้แก่
1 หน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (มาตรา 70)
2 หน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย (มาตรา 71)
3 หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 72)
4 หน้าที่รับราชการทหาร ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 73)
ข้อ 4 ตำรวจได้จับกุมนายแดงสัญชาติไทย จำเลยในคดีอาญาซึ่งหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา และนายดำสัญชาติอินเดียผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดในประเทศอินเดียได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิขณะที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ ต่อมาอัยการขอให้ศาลอาญามีคำสั่งให้ขังนายดำไว้เพื่อการส่งข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดีย ซึ่งศาลฯมีคำสั่งอนุมัติ นายดำเห็นว่าคำสั่งศาลฯไม่ชอบฯ จึงได้อุทธรณ์คำสั่งฯ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งศาลอาญาชอบฯแล้ว จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตาม พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ ระหว่างรอการส่งข้ามแดน นายดำได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และยื่นคำร้องว่ามาตรา 10 พ.ร.บ.ฯ ที่ศาลอาญาได้ใช้พิจารณากับคดีของตนขัดต่อมาตรา 30 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 จึงขอให้ส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ต่อมาในคดีของนายแดงหลังจากที่ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้นายแดงฟังแล้ว นายแดงเห็นว่าการที่ศาลฎีกาซึ่งพิจารณาคดีนี้ได้นำมาตรา 3 พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาใช้ตัดสินกับคดีของตนเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯมาตรา 40 เรื่องสิทธิจำเลย จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้ หากท่านเป็นศาลอาญาซึ่งรับคำร้องของนายแดงและนายดำในกรณีนี้ ท่านจะดำเนินการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 211 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
วินิจฉัย
การส่งเรื่อง (ความเห็นหรือคำร้อง) ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 211 วรรคแรก มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1 เป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับคดี
2 คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด คือต้องเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
3 เป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
4 จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 6 คือ ต้องเป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่เป็นการโต้แย้งเรื่องอื่นๆที่ไม่ใช่ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่น โต้แย้งว่าการกระทำของบุคคลหรือคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
5 ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น
6 ในระหว่างที่ศาลส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
ประเด็นที่ 1 กรณีคำร้องของนายแดง
การที่นายแดงโต้แย้งว่า การที่ศาลฎีกาซึ่งพิจารณาคดีของนายแดงได้นำมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้ตัดสินคดีของตนเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯมาตรา 40 เรื่องสิทธิของจำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 211 (ฎ. 9500/2542) อีกทั้งการที่ศาลซึ่งพิจารณาคดีนี้ ได้มีคำพิพากษาและศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้นายแดงฟังแล้ว ถือได้ว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้นการที่นายแดงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลอาญา ซึ่งรับคำร้องของนายแดง ข้าพเจ้าจะไม่ส่งคำร้องโต้แย้งของนายแดงไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายแดงร้องขอ
ประเด็นที่ 2 กรณีคำร้องของนายดำ
การที่นายดำได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่และยื่นคำร้องว่า มาตรา 10 พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ ที่ศาลอาญาได้ใช้พิจารณากับคดีของตนขัดต่อมาตรา 30 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้แม้ว่ากรณีคำร้องของนายดำ จะเป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว ตาม พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ และนายดำมิได้ร้องขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งของตนเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 211 แล้ว (ฎ. 623/2543) ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลอาญา ซึ่งรับคำร้องของนายดำ ข้าพเจ้าจะไม่ส่งคำร้องโต้แย้งของนายดำไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายดำร้องขอ
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลอาญา ซึ่งรับคำร้องของนายแดงและนายดำในกรณีดังกล่าว ข้าพเจ้าจะไม่ส่งคำร้องโต้แย้งของทั้งสองไปยังศาลรัฐธรรมนูญ