การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้าน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. พุฒิภัทร ศัลยแพทย์หนุ่มฝีมือดีผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดสมองที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์จนมีชื่อเสียงโด่งตัง ได้นั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าลูกค้าของร้านอีกคนหนึ่งคือมารตีซึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะใกล้กันเกิดอาการสำลักเพราะมีเศษอาหารติดคอ และล้มลงช็อกหายใจไม่ออกพุฒิภัทรลุกขึ้นชะโงกหน้าไปดู แต่ก็’ไม่ได้ทำอะไร เพราะนึกขึ้นมาได้ว่ามีนัดไว้กับกรองแก้วซึ่งเป็นคู่รัก
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าหากมารตีถึงแก่ความตาย พุฒิภัทรจะมีความผิดฐานละเมิดต่อมารตีหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่’ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ตี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
วินิจฉัย
การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้
- บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
- ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
- มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
- มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ
ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจำต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมี “การกระทำ” หรือไม่ หากบุคคลไม่มี “การกระทำ” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับการกระทำนั้น หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุฒิภัทร ศัลยแพทย์หนุ่มฝีมือดีผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดสมอง ได้นั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ปรากฏว่ามารตีซึ่งเป็นลูกค้าของร้านอีกคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะใกล้กันเกิดอาการสำลักเพราะมีเศษอาหารติดคอ และล้มลงช็อกหายใจไม่ออก พุฒิภัทรลุกขึ้นชะโงกหน้าไปดูแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรนั้น หากมารตีถึงแก่ความตาย พุฒิภัทรจะมีความผิดฐานละเมิดต่อมารตีหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ก่อนที่มารตีจะถึงแก่ความตาย พุฒิภัทรอาจสามารถช่วยได้แต่ไม่ช่วยนั้น ไม่ถือว่าความตายของมารตีเกิดจากการทำละเมิดของพุฒิภัทรโดยการงดเว้น เนื่องจากการงดเว้นของพุฒิภัทรไม่ถือว่าเป็นการกระทำ เพราะถึงแม้พุฒิภัทรจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก แต่การที่พุฒิภัทรจะต้องช่วยเหลือมารตีหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของพุฒิภัทรไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย หน้าที่ตามระเบียบหรือคำสั่งในการปฏิบัติงาน หน้าที่ตามสัญญา หรือหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นก่อนแล้ว เป็นเพียงหน้าที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะเป็นพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องทำเพื่อป้องกันผล คือ ความตายของมารตี
เมื่อไม่ถือว่าเป็นการกระทำ จึงไม่เป็นละเมิดตามความในมาตรา 420 ดังนั้นพุฒิภัทรจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดเกี่ยวกับการตายของมารติ
สรุป หากมารตีถึงแก่ความตาย พุฒิภัทรไม่มีความผิดฐานละเมิดต่อมารตี
ข้อ 2. นายช่วงเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกได้มอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่นายม่วงบุตรชายไปครอบครองและใช้สอย วันเกิดเหตุนายพ่วงลูกจ้างของนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเพื่อไปส่งของที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นายพ่วงขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากเร่งรีบเพื่อที่จะไปส่งชองให้ถึงอำเภอปากช่องโดยเร็ว เพราะนายพ่วงนัดกับนางสาวบ่วงแพ่นสาวเอาไว้ปรากฏว่าเวลาดังกล่าวมีช้างป่าเดินข้ามถนนมาโดยที่นายพ่วงไม่ได้ระมัดระวังทำให้นายพ่วงต้องเหยียบเบรกกะทันหัน รถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้นายง่วงได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคัน ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายช่วง นายพ่วง และนายม่วง ต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายพ่วงลูกจ้างชองนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกเพื่อไปส่งของ โดยนายพ่วงได้ขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อมีช้างป่าเดินข้ามถนนมาทำให้นายพ่วงซึ่งไม่ได้ระมัดระวังต้องเหยียบเบรกกะทันหันรถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้นายง่วงได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคันนั้น ความเสียหายแก่ร่างกายและแก่ทรัพย์สินของนายง่วงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของนายพ่วงตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาได้รับความเสียหาย และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายพ่วง ดังนั้นนายพ่วงจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วง
สำหรับนายม่วงนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายพ่วงทำละเมิดนั้น นายพ่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกของนายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อไปส่งของ จึงถือว่านายพ่วงได้ทำละเมิดในขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ดังนั้น นายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกันกับนายพ่วงลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งนายพ่วงได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วยตามมาตรา 425 ส่วนนายช่วงเมื่อมิใช่นายจ้างของนายพ่วงจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายง่วง
สรุป นายพ่วงและนายม่วงต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 ส่วนนายช่วงไม่ต้องรับผิด
ข้อ 3. สุนัขของนายทองได้นำมาให้นางนาคเลี้ยงชั่วคราว วันเกิดเหตุสุนัขตัวนี้ซึ่งมีความซุกซนมากได้วิ่งไปชนกระถางต้นไม้ที่วางอยู่ตรงระเบียงบ้านชั้นสองของนางพลอยซึ่งได้ให้นางมุกเช่าอยู่อาศัยทำให้กระถางตกหล่นใส่ศีรษะของนางสาวเพชรได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสมองฟั่นเฟือน ไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไป ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายทอง นางนาค นางมุก และนางพลอยจะต้องมีความรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆอันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”
มาตรา 436 “บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สุนัขของนายทองได้วิ่งไปชนกระถางต้นไม้ตกหล่นใส่ศีรษะของนางสาวเพชรได้รับบาดเจ็บนั้น ถือเป็นกรณีที่นางสาวเพชรได้รับความเสียหายอันเกิดจากสัตว์ ซึ่งตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือผู้รับเลี้ยงสัตว์ต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่าสัตว์ดังกล่าวได้ก่อความเสียหายในขณะที่อยู่ในความดูแลของนางนาคซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงสัตว์นั้น นางนาคจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวเพชร ส่วนนายทองเจ้าของสัตว์ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี นางนาคอาจแก้ตัวให้พ้นผิดได้หากพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่ชนิด วิสัย และพฤติการณ์ของสัตว์นั้นแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่านางนาคได้มีการใช้ความระมัดระวังดังกล่าว นางนาคจึงต้องรับผิด
และเมื่อปรากฏว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกระถางต้นไม้หล่นลงมาจากโรงเรือนและเป็นโรงเรือนของนางพลอยซึ่งนางมุกเช่าอาศัยอยู่ จึงถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนตามมาตรา 436 และเมื่อนางมุกเป็นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือน นางมุกจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนางสาวเพชรตามมาตรา 436 ส่วนนางพลอยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด
สรุป นางนาคและนางมุกจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชร ส่วนนายทองและนางพลอยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อนางสาวเพชร
ข้อ 4. ในวันเกิดเหตุ นายอ๊อดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายบัวขาวที่เดินอยู่บนทางเท้า เป็นเหตุให้นายบัวขาวได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องบอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 150,000 บาท เมื่อนายบัวขาวฟื้นขึ้นมาพบว่าตนเองเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงไปไม่สามารถขยับร่างกายใด ๆ ได้ ทำให้ปัจจุบันนายบัวขาวไม่สามารถทำงานได้ปกติดังเดิม จงวินิจฉัยว่า
(ก) นายบัวขาวจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย 150,000 บาท และค่าเสียหายที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมานและซึมเศร้าจากการเป็นอัมพาตไม่สามารถขยับตัวจากนายอ๊อดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) เด็กหญิงแจงบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบัวขาวจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายอ๊อดเนื่องจากปัจจุบันนายบัวขาวไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงเด็กหญิงแจงได้ดังเดิมได้หรือไม่เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 443 วรรคสาม “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
ฆาตรา 444 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาบสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย”
มาตรา 446 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทำให้เขาเสียหายแกร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอ๊อดขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายบัวขาว เป็นเหตุให้นายบัวขาวได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น การกระทำของนายอ๊อดถือเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย ดังนั้น นายอ๊อดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
และการที่นายบัวขาวได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์เสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 150,000 บาท และเมื่อนายบัวขาวฟื้นขึ้นมาพบว่าตนเองเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงไปไม่สามารถขยับร่างกายใด ๆ ได้ ทำให้ปัจจุบันนายบัวขาวไม่สามารถทำงานได้ปกติดังเดิมนั้น
(ก) นายบัวขาวสามารถฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย 150,000 บาท จากนายอ๊อดได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่นายบัวขาวซึ่งเป็นผู้ที่ต้องได้รับความเสียหายต้องเสียไปตามมาตรา 444 วรรคหนึ่งส่วนค่าเสียทายที่นายบัวขาวต้องทนทุกข์ทรมาน และซึมเศร้าจากการเป็นอัมพาตไม่สามารถขยับตัวได้นั้น นายบัวขาวสามารถฟ้องเรียกเอาจากนายอ๊อดได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นกรณีที่นายบัวขาวผู้ต้องเสียหายแก่ร่างกายได้ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามมาตรา 446 วรรคหนึ่ง และการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายบัวขาวนั้น ก็เป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดและเป็นความเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุ
(ข) การที่นายบัวขาวไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงเด็กหญิงแจงซึ่งเป็นบุตรได้ดังเดิมนั้นเด็กหญิงแจงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายอ๊อดไม่ได้ ทั้งนี้เพราะสิทธิในการฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้ถูกทำละเมิดถึงแก่ความตายเท่านั้น (ตามมาตรา 443 วรรคสาม) ดังนั้นเมื่อนายบัวขาวผู้ที่ถูกนายอ๊อดทำละเมิดได้รับความเสียหายแก่ร่างกายมิได้ถึงแก่ความตาย เด็กหญิงแจงจึงไม่สามารถฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายอ๊อดผู้ทำละเมิดได้
สรุป
(ก) นายบัวขาวสามารถฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย 150,000 บาท และค่าเสียหายที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมานและซึมเศร้าจากการเป็นอัมพาตไม่สามารถขยับตัวจากนายอ๊อดได้
(ข) เด็กหญิงแจงจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายอ๊อดไม่ได้