การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ณ คลองแสนแสบเกิดเหตุชุลมุนขึ้นเมื่อเกิดระเบิดจากเรือโดยสารที่ติดตั้งระบบแก๊สเอ็นจีวี ซึ่งทำให้ผู้โดยสารทุกคนรีบวิ่งขึ้นจากเรือเพื่อหนีตาย นางสาวแสนแสบอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวกระชากกระเป๋าถือของนางสาวแสนซื่อ ทำให้นางสาวแสนซื่อล้มลง และถูกเหยียบจากผู้โดยสารที่กำลังวิ่งหนีตายกันอยู่ นายแสนรักเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้ก้มลงไปคว้าตัวนางสาวแสนซื่อให้หลบพ้นจากอันตราย แต่กลับถูกเหยียบไปด้วย ทำให้นายแสนรักและนางสาวแสนซื่อถึงแก่ความตาย

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางสาวแสนแสบจะต้องรับผิดต่อความตายของนายแสนรักและนางสาวแสนซื่อหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

ตามหลักของมาตรา 420 นั้น กรณีที่มีการทำละเมิดคือมีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย และผู้ทำละเมิดจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกทำละเมิดนั้น จะต้องปรากฏว่าผู้ถูกทำละเมิดจะต้องได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งอาจจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ที่สำคัญคือความเสียหายซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการกระทำนั้น จะต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำละเมิดนั้นด้วย

ที่ว่าผลของการกระทำจะต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำนั้น หมายความว่า ผลของการกระทำหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของผู้ทำละเมิดด้วยนั่นเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ถ้าไม่มีการกระทำ ความเสียหายย่อมไม่เกิด”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวแสนแสบกระชากกระเป๋าถือของนางสาวแสนซื่อนั้น ถือว่านางสาวแสนแสบได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อนางสาวแสนซื่อตามมาตรา 420 แล้ว เพราะเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย และแม้ว่าการกระทำของนางสาวแสนแสบจะเป็นการทำละเมิดต่อทรัพย์สินของนางสาวแสนซื่อก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อนางสาวแสนแสบกระชากกระเป๋าถือของนางสาวแสนซื่อ ทำให้นางสาวแสนซื่อล้มลงและถูกเหยียบจากผู้โดยสารที่กำลังวิ่งหนีตายกันอยู่ เมื่อนายแสนรักเห็นเหตุการณ์จึงได้ก้มลงไปคว้าตัวนางสาวแสนซื่อให้พลบพ้นจากอันตรายแต่กลับถูกเหยียบไปด้วย ทำให้นายแสนรักและนางสาวแสนชื่อถึงแก่ความตาย ดังนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า นางสาวแสนแสบจะต้องรับผิดต่อความตายของนายแสนรักและนางสาวแสนซื่อหรือไม่

กรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เมื่อนางสาวแสนแสบได้ก่อเหตุแรกขึ้นแล้ว ก็ได้เกิดเหตุการณ์หลังเกิดขึ้นตามมาจนทำให้ในที่สุดนายแสนรักและนางสาวแสนซื่อต้องถึงแก่ควานตาย ซึ่งเหตุการณ์ภายหลังที่ถือว่าเห็นเหตุการณ์สอดแทรกนั้นยังไม่เป็นจุดตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำออกจากกัน เนื่องจากช่องแห่งภัยยังไม่ขาดตอนลงไป ดังนั้น จึงยังคงถือได้ว่าผลที่เกิดขึ้นคือความตายของนายแสนรักและนางสาวแสนซื่อเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของนางสาวแสนแสบ (ในตอนแรก) ตามหลักที่ว่า “ถ้าไม่มีการกระทำความเสียหายย่อมไม่เกิด” นางสาวแสนแสบจึงต้องรับผิดต่อความตายของนายแสนรักและนางสาวแสนซื่อ

สรุป นางสาวแสบแสบจะต้องรับผิดต่อความตายของนายแสนรักและนางสาวแสนซื่อ

 

 

ข้อ 2. นายเอ นายบี และนายคิว ไปท่องเที่ยวและเข้าพักที่รีสอร์ทของนายโหน่ง โดยรีสอร์ทแห่งนี้จัดให้มีคอกม้าและสวนหย่อมเพื่อให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ในวันเกิดเหตุขณะที่นายเอกำลังเดินพักผ่อนในสวนหย่อมดูม้าในคอกอยู่นั้น นายคิวซึ่งมีเรื่องบาดหมางกับนายเอมาก่อนได้ปรบมือและตะโกนเสียงดังเพื่อแกล้งม้าให้ตกใจ ทำให้ม้าตัวหนึ่งตกใจมากเตลิดวิ่งหนีพุ่งชนรั้วคอกเตี้ย ๆ เก่า ๆ เมื่อออกมาได้ม้าก็วิ่งพุ่งชนและเหยียบขานายเอเป็นเหตุให้นายเอขาหัก เมื่อนายคิวเห็นดังนั้นจึงรีบชี้สั่งให้สุนัขตนเองที่เลี้ยงไว้เข้าไปกัดนายเอเป็นเหตุให้นายเอแขนฟกช้ำและมีบาดแผลต้องเย็บ 20 เข็ม และนายบีแขกผู้เข้าพักอาศัยอีกคนหนึ่งโดนยุงลายในสวนหย่อมของรีสอร์ทกัดเป็นเหตุให้นายบีเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรงอาการโคม่าต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาลกว่าสองเดือนจึงหายขาด

ดังนี้ใครจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายเอและนายบีบ้าง เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรันผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้ คือ

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ ใครจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายเอและนายบีบ้างหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

  1. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเอ การที่ม้าตกใจเตลิดวิ่งพุ่งชนนายเอและเหยียบขานายเอเป็นเหตุให้นายเอขาหักนั้น ถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง นายโหน่งเจ้าของม้าจึงต้องรับผิดในทางละเมิดและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอ เพราะถือว่านายโหน่งเจ้าของม้าไม่ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงม้า เพราะใช้แต่เพียงรั้วคอกเตี้ย ๆ เก่า ๆ ในการกั้นม้าเท่านั้น

แต่นายโหน่งอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับนายคิวซึ่งเป็นบุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วม้านั้นโดยละเมิดได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

ส่วนกรณีที่นายเอแขนฟกช้ำและมีบาดแผลต้องเย็บ 20 เข็ม เนื่องจากนายคิวสั่งให้สุนัขที่ตนเองเลี้ยงไว้เข้าไปกัดนายเอนั้น เป็นกรณีที่ถือว่านายคิวได้กระทำละเมิดต่อนายเอตามมาตรา 420 มิใช่กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายคิว ดังนั้น นายคิวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายเอ

  1. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายบี การที่นายบีโดนยุงลายในสวนหย่อมของรีสอร์ทกัดเป็นเหตุให้นายบีเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรงอาการโคม่าต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 2 เดือนจึงหายขาดนั้น มิใช่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง เนื่องจากยุงลายไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของนายโหน่ง และมิใช่กรณีเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 ด้วย ดังนั้นนายโหน่งจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายบี

สรุป นายโหน่งและนายคิวต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายเอ แต่นายโหน่งไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายบี

 

 

ข้อ. 3 นายช่วงเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกได้มอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่นายม่วงบุตรชายไปครอบครองและใช้สอย วันเกิดเหตุนายพ่วงลูกจ้างของนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเพื่อไปส่งของที่อำเภอปากช่องจังหวัดนครราขสีมา นายพ่วงขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากเร่งรีบเพื่อที่จะไปส่งของให้ถึงอำเภอปากช่องโดยเร็ว เพราะนายพ่วงนัดกับนางสาวบ่วงแพ่นสาวเอาไว้ปรากฏว่าเวลาดังกล่าวมีช้างป่าเดินข้ามถนนมาโดยที่นายพ่วงไม่ได้ระมัดระวังทำให้นายพวงต้องเหยียบเบรกกะทันหัน รถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้นายง่วงได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคัน ดังนี้จงวินิจฉัยว่า นายช่วง นายพ่วง และนายม่วง ต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์การที่นายพ่วงลูกจ้างของนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกเพื่อไปส่งของโดยนายพ่วงได้ขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อมีช้างป่าเดินข้ามถนนมาทำให้นายพ่วงซึ่งไม่ได้ระมัดระวังต้องเหยียบเบรกกะทันหัน รถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้นายง่วงได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคันนั้น ความเสียหายแก่ร่างกายและแก่ทรัพย์สินของนายง่วงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของนายพ่วงตามมาดรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายทำให้เขาได้รับความเสียหาย และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายพ่วง ดังนั้นนายพวง จึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วง

สำหรับนายม่วงนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายพ่วงทำละเมิดนั้น นายพ่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกของนายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อไปส่งของ จึงถือว่านายพ่วงได้ทำละเมิดในขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ดังนั้น นายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกันกับนายพ่วงลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งนายพ่วงได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วยตามมาตรา 425 ส่วนนายช่วงเมื่อมิใช่นายจ้างของนายพ่วงจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายง่วง

สรุป นายพ่วงและนายม่วงต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 ส่วนนายช่วงไม่ต้องรับผิด

 

 

ข้อ 4. นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคนหนงคือเด็กชายแดง หลังจากนาง ข. คลอดเด็กชายแดงแล้วนาง ข. ถึงแก่ความตาย เมื่อนาง ข. ตาย พี่สาวของนาง ข. ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าของเด็กชายแดงนำเด็กชายแดงไปอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่เกิด ส่วนนาย ก. เป็นผู้ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ แต่นาย ก. ไม่ได้ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลแต่อย่างใด

ต่อมาจำเลยซับรถโดยประมาทเลินเล่อชน นาย ก. ถึงแก่ความตาย ดังนี้ เด็กชายแดงจะเรียกค่าปลงศพจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตายซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1)) กล่าวคือ จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ เด็กชายแดงนั้น ดังนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย ก. แต่เมื่อนาย ก. ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนาย ก. ผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 และมาตรา 1629 (1) ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ถึงแก่ความตาย เด็กชายแดงจึงเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง

สรุป เด็กชายแดงเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้

Advertisement