การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสุเทพเป็นเจ้าของเสือเชื่องตัวหนึ่ง ได้สั่งให้นายแทนบุตรชายวัย 15 ขวบ เลี้ยงไว้ในบ้านของตนโดยนายแทนได้ปล่อยให้เสือเดินไปมาในบ้านได้เพราะเห็นว่าเป็นเสือเชื่อง วันเกิดเหตุ นายเฉลิมได้เอาไม้ไปแหย่เสือและไล่ตีให้เสือวิ่ง ทำให้เสือตกใจวิ่งออกมานอกรั้วบ้านของนายสุเทพ และเหยียบย่ำแปลงผักของนายสุทินได้รับความเสียหาย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายสุทินจะเรียกร้องให้ใครรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณอย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอับมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้ คือ

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสุทินจะเรียกร้องให้ใครรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้บ้างหรือไม่นั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายสุทินในครั้งนี้เกิดจากการกระทำอันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 หรือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433

จากข้อเท็จจริง การที่นายสุเทพซึ่งเป็นเจ้าของเสือได้สั่งให้นายแทนบุตรขายเลี้ยงเสือไว้ในบ้านของตน โดยนายแทนได้ปล่อยให้เสือเดินไปมาในบ้านได้เพราะเห็นว่าเป็นเสือเชื่อง และวันเกิดเหตุนายเฉลิมได้เอาไม้ไปแหย่เสือและไล่ตีให้เสือวิ่ง ทำให้เสือตกใจวิ่งออกมานอกรั้วบ้านของนายสุเทพ และเหยียบย่ำแปลงผักของนายสุทินได้รับความเสียหายนั้น จะเห็นได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายสุทินในครั้งนี้มิได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของนายสุเทพ นายแทน และนายเฉลิม อันถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แต่อย่างใด ดังนั้นนายสุทินจะเรียกร้องให้นายสุเทพ นายแทน และนายเฉลิมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดตามมาตรา 420 ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เสือได้วิ่งออกไปเหยียบย่ำแปลงผักของนายสุทิน ทำให้นายสุทินได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าเป็นความเลียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามมาตรา 433 ซึ่งตามมาตรา 433 วรรคแรกได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของในขณะที่สัตว์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดขึ้นจากสัตว์นั้น ดังนั้น กรณีดังกล่าวนายสุทินจึงสามารถเรียกร้องให้นายสุเทพซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์และเป็นผู้รับเลี้ยงสัตว์ (คือเสือ) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายได้

และนายสุเทพจะต่อสู้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ก็ไม่ได้ เพราะเสือเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้าย ดังนั้นการเลี้ยงเสือโดยปล่อยให้เสือเดินไปมาในบ้านได้โดยไม่ได้เลี้ยงไว้ในกรงที่แข็งแรง จึงถือว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ แต่นายสุทินจะเรียกร้องให้นายแทนและนายเฉลิมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะนายแทนและนายเฉลิมไม่ได้เป็นเจ้าของสัตว์ หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ เพียงแต่เมื่อนายสุเทพต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่นายสุทินแล้ว นายสุเทพย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่นายเฉลิมซึ่งเป็นผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิดได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

สรุป นายสุทินสามารถเรียกร้องให้นายสุเทพรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ แต่จะเรียกให้นายแทนและนายเฉลิมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

 

ข้อ 2. จำเลยไปเที่ยวชายทะเล ขณะเดินเล่นริมชายหาดเห็นนายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำ นายขาวตะโกนให้จำเลยช่วย จำเลยไม่ยอมช่วยทั้ง ๆ ที่จำเลยว่ายน้ำเป็น ปรากฏว่านายชาวจมน้ำถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจำต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทำละเมิดมี “การกระทำ” หรือไม่ หากบุคคลไม่มี “การกระทำ” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับการกระทำนั้น หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทำโดยรู้สำนึก นอกจากนี้การกระทำยังหมายความรวมถึงการงดเว้นการเคลื่อนไหวอันพึงต้องทำเพื่อบ้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทำตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เห็นว่าการที่นายขาวซึ่งกำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย และจำเลยสามารถช่วยได้แต่ไม่ยอมช่วย ปรากฏว่านายขาวจมน้ำตาย เช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อนายขาวโดยงดเว้น ทั้งนี้เนื่องจากการงดเว้นของจำเลยไม่ถือเป็นการกระทำ เพราะถึงแม้จำเลยจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก แต่การที่จำเลยต้องช่วยนายขาวหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย หน้าที่ตามระเบียบหรือคำสั่งในการปฏิบัติงานหน้าที่ตามสัญญา หรือหน้าที่ตามความสัมพันธ์ที่ก่อขี้นก่อนแล้ว เป็นเพียงหน้าที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะเป็นพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องทำเพื่อป้องกันผล คือ ความตายของนายขาว

เมื่อไม่ถือว่าเป็นการกระทำ จึงไม่เป็นละเมิดตามความในมาตรา 420 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด

สรุป จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางละเมิด

 

 

ข้อ 3. นางสาวขวัญตาบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเขียว แอบหยิบกุญแจรถยนต์ที่นายเขียวให้นางแจ่มภริยานำไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ แล้วขับรถยนต์ของนายเขียวพานายต้นบุตรของนางส้มไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่งจนถึงเวลา 2 นาฬิกาของวันใหม่ ทั้งนางสาวขวัญตาและนายต้นเมาสุราเดินทางกลับด้วยกัน โดยนางสาวขวัญตาเป็นคนขับ แต่นางสาวขวัญตาขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้ขับไปชนรถยนต์ของนายเอกได้รับความเสียหาย นางสาวขวัญตาขับรถหนีต่อไปได้อีกระยะหนึ่งแล้วรู้สึกกลัวไม่กล้าขับต่อไปอีก นายต้นจึงอาสาช่วยขับแทน แต่ด้วยความรีบร้อนประกอบกับมีอาการมึนเมาสุรา จึงขับไปชนท้ายรถยนต์ของนายโทที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุนายเขียวและนางส้มไม่ยอมมาเจรจาเรื่องค่าเสียหาย หากปรากฏว่าขณะเกิดเหตุนางสาวขวัญตาและนายต้นยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาและไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นางสาวขวัญตา นายเขียว นายต้น และนางส้มจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายเอกและนายโท อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิดรวมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นางสาวขวัญตา นายเขียว นายต้น และนางส้ม จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายเอกและนายโท หรือไม่ อย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายเอก การที่นางสาวขวัญตาได้ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้ขับไปชนรถยนต์ของนายเอกได้รับความเสียหายนั้น ถือว่า เป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา 420 และแม้นางสาวขวัญตาจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนั้นตามมาตรา 429

สำหรับนายเขียวซึ่งเป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวขวัญตา ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งรับดูแลนางสาวขวัญตาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเขียวมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเก็บล็อกกุญแจรถยนต์ ดังนั้น นายเขียวจึงต้องรับผิดในทางละเมิดร่วมกับนางสาวขวัญตาด้วยตามมาตรา 430 คือจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายเอก

กรณีของนายโท การที่นายต้นได้ขับรถด้วยความรีบร้อนประกอบกับมีอาการมึนเมาสุราไปชนท้ายรถยนต์ของนายโทได้รับความเสียหายนั้น ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา 420 และแม้นายต้นจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนได้ทำละเมิดนั้นตามมาตรา 429

สำหรับนางส้มซึ่งเป็นมารดาของนายต้น ย่อมต้องรับผิดร่วมกับนายต้นในผลของการทำละเมิดนั้นด้วยตามมาตรา 429 เว้นแต่นางส้มจะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

สรุป นางสาวขวัญตาและนายเขียว จะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเอก ส่วนนายต้นและนางส้มจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายโท

 

 

ข้อ 4. ในกรณีการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443ใครบ้างที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายพร้อมตัวอย่างประกอบกรณีละหนึ่งตัวอย่าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

อธิบาย

ในการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 เกี่ยวกับค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะนั้นบุคคลที่จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ คือ

ก. ค่าปลงศพ

คำว่า “ค่าปลงศพ” หมายถึง ค่าใช้จ่ายทุกชนิดในการจัดการศพของผู้ตาย เช่น ค่าโลงศพ ค่าฉีดยากันเน่า ค่าฌาปนกิจศพ ค่าเครื่องดื่มที่ใช้ในงานศพ เงินถวายปัจจัยให้พระที่มาสวดในงานศพ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่จะมีสิทธิเรียกค่าปลงศพ ได้แก่ ทายาทของผู้ตาย ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเท่านั้น (ฎีกาที่ 477/2514)

ดังนั้นถ้ามิใช่ทายาทของผู้ตาย หรือเป็นทายาทของผู้ตายแต่เป็นทายาทที่ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ก็จะไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพแต่อย่างใด

ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายนั้น อาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือทายาทโดยพินัยกรรมซึ่งเรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม” ก็ได้

สำหรับทายาทโดยธรรม ซึ่งมิสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติ ซึ่งมีอยู่ 6 ลำดับ ได้แก่

(1)       ผู้สืบสันดาน ซึ่งหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้หมายความรวมถึงบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว และบุตรบุญธรรมด้วย

(2)       บิดามารดา หมายความถึงเฉพาะบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเท่านั้น

(3)       พี่น้องรวมบิดามารดาเดียวกัน

(4)       พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5)       ปู ย่า ตา ยาย

(6)       ลุง ป้า น้า อา

  1. ทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส ซึ่งหมายความถึงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย คือที่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกันแล้วเท่านั้น

ตัวอย่าง นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรหนึ่งคนคือ ด.ช.แดง ซึ่งนาย ก. ได้อุปการะเลี้ยงดูและให้ ด.ช.แดงใช้นามสกุลของนาย ก. ดังนี้ถ้าต่อมานาย ก. ได้ถูกนายดำขับรถชนจนถึงแก่ความตาย ด.ช.แดงซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ย่อมถือว่าเป็นทายาทของนาย ก. และมีสิทธิรับมรดกของนาย ก. จึงมีสิทธิเรียกค่าปลงศพจากนายดำได้ ส่วนนาง ข. เมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนาย ก. จึงไม่ใช่ทายาทของนาย ก. และไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพจากนายดำ

ข. ค่าขาดไร้อุปการะ

คำว่า “ค่าขาดไร้อุปการะ” หมายถึง ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดให้แก่บุคคลซึ่งผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะไว้ตามกฎหมายครอบครัว โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าในทางข้อเท็จจริงจะได้มีการอุปการะกันหรือไม่ และไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือไม่ เพียงแต่การเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้ายนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ

  1. ผู้ถูกทำละเมิดจะต้องได้ถึงแก่ความตายเท่านั้น
  2. ผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลตามกฎหมายครอบครัว
  3. ความตายทำให้บุคคลนั้นต้องขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู

ดังนั้นจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ ได้แก่

  1. สามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ สามีภริยาที่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกันแล้ว
  2. บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมที่ทั้งบุตรบุญธรรม เฉพาะที่เป็นบุตรผู้เยาว์ หรือทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น
  4. ผู้รับบุตรบุญธรรม

ตัวอย่าง นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรหนึ่งคนคือ ด.ช.แดง ซึ่งนาย ก. ได้อุปการะเลี้ยงดูและให้ ด.ช.แดงใช้นามสกุลของนาย ก. ดังนี้ถ้าต่อมานายดำได้ขับรถโดยประมาทชน ด.ช. แดงถึงแก่ความตาย นาง ข. ซึ่งเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช.แดงย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายดำได้ (และสามารถเรียกค่าปลงศพได้ด้วย) ส่วนนาย ก. ซึ่งเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ (รวมทั้งค่าปลงศพ) จากนายดำได้ ทั้งนี้เพราะ ด.ช.แดงผู้ที่ถูกทำละเมิดจนถึงแก่ความตายนั้นมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูเฉพาะนาง ข. ซึ่งเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนาย ก. ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง

 

Advertisement