การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเมินอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางอมรามีอาชีพรับเลี้ยงเด็ก รับจ้างเลี้ยงเด็กหญิงนานาอายุห้าขวบ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนางกวาง วันเกิดเหตุ เด็กหญิงนานาเล่นซุกซนวิ่งไปชนแจกันแก้วของป้าญาแตกเสียหาย นางอมราไปขอโทษแต่ถูกป้าญาต่อว่าที่ไม่ดูแลเด็กให้ดี นางอมราโกรธจึงเอามือทุบโต๊ะอย่างแรง ทำให้โต๊ะของป้าญาแตกหักเสียหาย ดังนี้ให้ทำบวินิจฉัยว่า

(ก) เด็กหญิงนานาต้องรับผิดต่อป้าญาหรือไม่ เพราะเหตุใด และนางกวางกับนางอมราต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) นางอมราต้องรับผิดต่อป้าญาหรือไม่ เพราะเหตุใด และนางกวางต้องร่วมรับผิดกับนางอมราในฐานะผู้ว่าจ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 ‘‘ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 428 “ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่เด็กหญิงนานาบุตรสาวของนางกวางเล่นซุกซนวิ่งไปชนแจกันแก้วของป้าญาแตกเสียหายนั้น ถือว่าการกระทำของเด็กหญิงนานาเป็นการทำละเมิดต่อป้าญาตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายต่อทรัพย์สิน และการกระทำของเด็กหญิงนานามีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นเด็กหญิงนานาจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และแม้ว่าเด็กหญิงนานาจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดนี้ตามมาตรา 429

และเมื่อผู้กระทำละเมิดเป็นผู้เยาว์ ดังนั้น นางกวางซึ่งเป็นมารดาก็ต้องร่วมกันรับผิดกับเด็กหญิงนานาด้วยตามมาตรา 429 เว้นแต่นางกวางจะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเด็กหญิงนานาผู้เยาว์แล้ว

ส่วนนางอมรานั้น เมื่อปรากฏว่าการทำละเมิดของเด็กหญิงนานาซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ(ผู้เยาว์) ต่อป้าญานั้น ได้กระทำลงในขณะที่อยู่ในความดูแลของนางอมราและนางอมราก็ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ดังนั้น นางอมราซึ่งเป็นผู้รับดูแลจึงต้องรับผิดร่วมกับเด็กหญิงนานาในผลแห่งละเมิดนั้นตามมาตรา 430

(ข) การที่นางอมราโกรธป้าญา จึงได้เอามือทุบโต๊ะอย่างแรงทำให้โต๊ะของป้าญาแตกหักเสียหายนั้น การกระทำดังกล่าวของนางอมราถือว่าเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยจงใจและผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน และการกระทำของนางอมรามีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นนางอมราจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ป้าญา

ส่วนนางกวางซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างนั้น เมื่อการกระทำของนางอมราผู้รับจ้างซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลภายนอกนั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการทำการงานที่ผู้ว่าจ้างสั่งให้ทำ หรือในคำสังที่ผู้ว่าจ้างให้ไว้แต่อย่างใด ดังนั้นนางกวางจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างตามมาตรา 428

สรุป

(ก) เด็กหญิงนานาต้องรับผิดต่อป้าญาตามมาตรา 420 และ 429 ส่วนนางกวางกับนางอมราต้องร่วมรับผิดด้วยตามมาตรา 428 และ 430 ตามลำดับ

(ข) นางอมราต้องรับผิดต่อป้าญาตามมาตรา 420 ส่วนนางกวางไม่ต้องร่วมรับผิดกับนางอมราในฐานะผู้ว่าจ้างตามมาตรา 428

 

 

ข้อ 2. นางป้อมได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนายโจ๋ซึ่งคบหาชอบพอกับนางสาวแก้วบุตรสาวของนางป้อมว่านายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด เคยติดคุกติดตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว ด้วยความเป็นห่วงบุตรสาว นางป้อมจึงรีบกลับมาที่บ้านพักกล่าวต่อนางสาวแก้วว่า “อย่าคบหากับนายโจ๋ต่อไปเลยเพราะนายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติดเคยติดคุกติดตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว” นายแดงผู้ซึ่งแอบปีนเข้ามาในบริเวณบ้านของนางป้อมได้ยินข้อความดังกล่าว จึงนำไปกล่าวต่อนายพินิจเพื่อนของนายแดงว่า“นายโจ๋เป็นพ่อค้ายาเสพติด เคยติดคุกติดตะรางเพราะยาเสพติดมาแล้ว” แต่ในความเป็นจริง นายโจ๋ไม่เคยข้องแวะเกี่ยวกับยาเสพติดใด ๆ และไม่เคยติดคุกแต่อย่างใด

จงวินิจฉัยว่า นายโจ๋จะเรียกร้องให้นางป้อมและนายแดงรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 423 วรรคหนึ่ง (หมิ่นประมาททางแพ่ง) มีดังนี้

  1. เป็นการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง
  2. ทำให้แพร่หลาย กล่าวคือ กระทำต่อบุคคลที่สามคนเดียวก็ถือว่าแพร่หลายแล้ว โดยบุคคลที่สามต้องสามารถเข้าใจคำกล่าวหรือการไขข่าวนั้นได้
  3. มีความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของบุคคลอื่น
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางป้อมได้กล่าวต่อนางสาวแก้วบุตรสาวนั้น ถือได้ว่าเป็นการกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ทำให้ข้อความนี้แพร่หลายต่อบุคคลที่สาม คือ นางสาวแก้ว และเป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของนายโจ๋ อันถือเป็นการหมิ่นประมาทนายโจ๋ตามมาตรา 423 วรรคหนึ่งแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม นางป้อมนั้นเป็นมารดาของนางสาวแก้ว เมื่อได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนายโจ๋จึงรีบกลับบ้านมาบอกบุตรสาวด้วยความเป็นห่วง ถือเป็นกรณีที่นางป้อมส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง โดยนางป้อมมีทางได้เสียโดยชอบในการส่งข่าวสารนี้ เพราะมารดาย่อมมีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องคู่ครองของบุตร

ดังนั้น นางป้อมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโจํตามมาตรา 423 วรรคสอง

ส่วนกรณีที่นายแดงแอบปีนเข้ามาในบริเวณบ้านของนางป้อมและได้ยินข้อความดังกล่าวนั้น ไม่อาจถือได้ว่านายแดงเป็นบุคคลที่สาม เพราะนางป้อมกล่าวต่อบุตรสาวในบ้านตนเองมิได้ตั้งใจจะให้นายแดงรับรู้ในข้อความดังกล่าว จึงไม่ถือว่านางป้อมทำให้ข้อความนั้นแพร่หลายต่อบุคคลที่สาม อันจะถือเป็นการหมิ่นประมาท นายโจ๋ตามมาตรา 423 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นางป้อมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายโจ๋ในกรณีนี้เช่นกัน

กรณีที่นายแดงได้ยินข้อความดังกล่าวแล้วนำไปพูดต่อนั้นย่อมถือเป็นการกล่าวเช่นเดียวกันเมื่อได้กล่าวต่อบุคคลที่สามคือนายพินิจ และข้อความนั้นฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและเป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียง ของนายโจ๋ ดังนั้น นายแดงจึงต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อนายโจ๋ตามมาตรา 423 วรรคหนึ่ง

และในกรณีนี้นายแดงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 423 วรรคสองได้ เพราะนายแดงหรือนายพินิจไม่มีทางได้เสียโดยชอบในเรื่องดังกล่าว

สรุป นายโจ๋เรียกร้องให้นายแดงรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนได้ แต่จะเรียกร้องให้นางป้อมรับผิดฐานหมิ่นประมาทต่อตนไม่ได้

 

 

ข้อ 3. นายหล่อไม่ชอบนายเหลี่ยม จึงยุให้ลิงของนายเหล่ไปไล่กัดนายเหลี่ยม นายเหลี่ยมได้รับบาดเจ็บจึงวิ่งหนีกลับเข้าบ้าน แต่เนื่องจากยังโกรธนายหล่ออยู่ นายเหลี่ยมจึงได้ไปยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายเหล่ ลิงของนายเหล่ได้รับบาดเจ็บ จึงร้องโหยหวนได้วิ่งหนีไปบนหลังคารถยนต์ของยายแหยมที่จอดอยู่หน้าบ้าน ยายแหยมตกใจเสียงลิงร้องและเห็นลิงอยู่ที่หลังคารถยนต์ของตนจึงช็อกและขาดใจตายทันที

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าใครจะต้องรับผิดในความตายของยายแหยมและลิงของนายเหล่ที่ได้รับบาดเจ็บ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่รางกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรันผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้ คือ

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเหลี่ยมยุให้สุนัขของตนกัดลิงของนายเหล่จนได้รับบาดเจ็บนั้นการกระทำของนายเหลี่ยมถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายเหลี่ยม จึงถือว่านายเหลี่ยมได้กระทำละเมิดต่อนายเหล่ตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเหล่

และการที่ลิงของนายเหล่ได้วิ่งหนีไปบนหลังคารถยนต์ของยายแหยม และส่งเสียงร้องจนทำให้ยายแหยมตกใจช็อกถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นผลมาจากการกระทำของนายเหลี่ยมที่ยุสุนัขให้กัดลิงในตอนแรก เมื่อผลที่เกิดขึ้นกับยายแหยมสัมพันธ์กับการกระทำของนายเหลี่ยม ดังนั้นจึงถือว่านายเหลี่ยมกระทำละเมิดต่อยายแหยมและต้องรับผิดในความตายของยายแหยมด้วยตามมาตรา 420 ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวไม่ใช่ความรันผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เนื่องจากความรับผิดตามมาตรา 433 จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์นั้นเอง มิใช่มนุษย์ใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ

ส่วนการที่นายหล่อยุให้ลิงของนายเหล่ไปไล่กัดนายเหลี่ยมจนได้รับบาดเจ็บนั้น แม้จะถือว่านายหล่อกระทำละเมิดต่อนายเหลี่ยมและต้องรับผิดต่อนายเหลี่ยมตามมาตรา 420 แต่เนื่องจากภัยดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว นายเหลี่ยมจึงได้ยุให้สุนัขกัดลิงของนายเหล่เพราะความโกรธ ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยายแหยมและลิงของนายเหล่จึงไม่เกี่ยวกับความรับผิดของนายหล่อที่มีต่อนายเหลี่ยม

สรุป นายเหลี่ยมจะต้องรับผิดในความตายของยายแหยมและลิงของนายเหล่ที่ได้รับบาดเจ็บ

 

 

ข้อ 4. จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ได้รับบาดเจ็บสาหัส นาย ก. เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 เดือน จึงหายเป็นปกติ ข้อเท็จจริงได้ความว่าในช่วงที่นาย ก. เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นเวลา 3 เดือน นาย ก. ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้เป็นเหตุให้สอบไล่ตก นาย ก. จึงจำเป็นต้องลงทะเบียนสอบซ่อม โดยนาย ก. ต้องเสียค่าลงทะเบียนสอบซ่อมจำนวน 500 บาท

ดังนี้นาย ก.จะเรียกค่าเสียหายที่ต้องลงทะเบียนสอบซ่อมจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 438 วรรคสอง “อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 438 วรรคสอง ได้กำหนดถึงค่าสิบไหมทดแทนที่ผู้กระทำละเมิดจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มี 3 ประการ ได้แก่

  1. การคืนทรัพย์สิน
  2. การใช้ราคาทรัพย์สิน (ในกรณีที่ไม่สามารถคืนทรัพย์สินได้)
  3. การชดใช้ค่าเสียหาย (ในกรณีที่มีการคืนทรัพย์สิน หรือใช้ราคาทรัพย์สินไปแล้ว แต่ยังมีความเสียหายอยู่อีก)

ซึ่งการเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น จะต้องเป็นค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นนั้นด้วย (ตามมาตรา 438 วรรคสองตอนท้าย) กล่าวคือ จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

  1. จะต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิด และ
  2. จะต้องเป็นความเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ได้รับบาดเจ็บสาหัส นาย ก. เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 เดือน จึงหายเป็นปกติ และปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงที่นาย ก. เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 เดือนนั้น นาย ก.ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้เป็นเหตุให้สอบไล่ตก และนาย ก. ต้องลงทะเบียนสอบซ่อมและเสียค่าลงทะเบียนสอบซ่อมจำนวน 500 บาทนั้น จะเห็นได้ว่า ค่าลงทะเบียนสอบซ่อมจำนวน 500 บาท ที่นาย ก. ต้องเสียไปนั้น แม้จะเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นความเสียหายที่ไกลกว่าเหตุ ทั้งนี้เพราะแม้ว่านาย ก. จะไม่ถูกจำเลยขับรถชนและไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดยนาย ก. ได้ไปเรียนหนังสือตามปกติก็ตาม ก็ไม่แน่ว่านาย ก. จะสอบไล่ได้ อาจจะสอบตกก็ได้ ดังนั้น นาย ก. จะเรียกค่าเสียหายที่ต้องลงทะเบียนสอบซ่อมจากจำเลยจำนวน 500 บาท ไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1052/2506)

สรุป นาย ก. จะเรียกค่าเสียหายที่ต้องลงทะเบียนสอบซ่อมจากจำเลยไม่ได้

 

Advertisement