การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้าน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. ธนาคารส่งสำเนาใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตไปถึงจำเลย ระบุกำหนดชำระหนี้โดยหักบัญชีตัดยอดภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน และผู้ใช้บัตรจะต้องชำระภายในหนึ่งเดือน เมื่อจำเลย
ใช้บัตรเบิกเงินสดครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559ให้ท่านตอบคำถามต่อไปนี้ โดยใช้หลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจนเกี่ยวกับมูลหนี้ วัตถุแห่งหนี้ กำหนดเวลาชำระหนี้ ผิดนัดและอายุความเริ่มนับ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193 วรรคสอง “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”
มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น”
มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้”
มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
- การที่ธนาคาร (เจ้าหนี้) ส่งสำเนาใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตไปถึงจำเลย และให้จำเลยต้องชำระหนี้ภายในกำหนด 1 เดือนนั้น ถือว่าหนี้ระหว่างธนาคารและจำเลยเป็นหนี้ที่มีมูลหนี้เกิดขึ้นจากสัญญา และมีวัตถุแห่งหนี้คือ การส่งมอบทรัพย์สิน
- หนี้ระหว่างธนาคารและจำเลย (ผู้ใช้บัตรเครดิต) เป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาในการชำระหนี้ลงไว้ ดังนั้นหนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้วโดยพลัน ซึ่งธนาคาร (เจ้าหนี้) ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันเช่นกันตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ใช้บัตรเบิกเงินสดครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 ธันวาคม 2559 ธนาคารตัดยอดบัญชีภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน และผู้ใช้บัตรต้องชำระภายใน 1 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2560 ดังนั้น วันครบกำหนดในการชำระหนี้ตามบัตรคือวันที่ 25 มกราคม 2560 (มาตรา 193 วรรคสอง) ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมถือว่า จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนแก่ลูกหนี้แล้วตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง
- ถ้าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด สิทธิเรียกร้องของธนาคารเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2560 และอายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า
“อายุความให้เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” (ซึ่งหนี้บัตรเครดิตนั้นจะมีอายุความ 2 ปี)
สรุป หนี้ดังกล่าวมีมูลหนี้เกิดจากสัญญา วัตถุแห่งหนี้คือการส่งมอบทรัพย์สิน กำหนดเวลาชำระหนี้คือวันที่ 25 มกราคม 2560 ถ้าจำเลยไม่ชำระภายในกำหนดจะถือว่าจำเลยผิดนัดและอายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
ข้อ 2. เพิ่มเป็นเจ้าหนี้หนึ่งอยู่สองล้านบาท ต่อมาหนึ่งได้รับมรดกเป็นที่ดิน น.ส.3 มายี่สิบไร่ แล้วหนึ่งยกมรดกที่ดินดังกล่าวให้สองและสามโดยเสน่หาทั้งที่รู้ว่าตนมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ สองและสามแยกที่ดินส่วนของตนคนละสิบไร่ สองนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองสี่ ส่วนสามนำที่ดินส่วนของตนไปขายให้ห้า ทั้งสี่และห้าสุจริต เพิ่มมาปรึกษาท่านว่าจากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ให้ท่านแนะนำ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 214 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย”
มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”
มาตรา 238 “การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน
อนึ่งความที่กล่าวม’ในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา ”
มาตรา 239 “การเพิกถอนนั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้หมดทุกคน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เพิ่มเป็นเจ้าหนี้หนึ่งอยู่ 2 ล้านบาท และต่อมาหนึ่งได้รับมรดกเป็นที่ดิน น.ส.3 จำนวน 20 ไร่ แล้วหนึ่งได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่สองและสามโดยเสน่หาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตนมีทรัพย์สิน
ไม่พอชำระหนี้นั้น ถือว่าเป็นการฉ้อฉลเพราะทำให้เพิ่มเจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งกรณีนี้เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว ก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ ดังนั้น เพิ่มเจ้าหนี้จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างหนึ่งกับสองและสามได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง
และเมื่อเพิ่มได้ร้องขอให้มีการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 แล้ว การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวจะมีผลต่อสี่และห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
- การที่สองได้นำที่ดินในส่วนของตนจำนวน 10 ไร่ไปจำนองแก่สี่นั้น เมื่อมีการเพิกถอนการฉ้อฉลแล้ว ที่ดินนั้นย่อมกลับมาเป็นของหนึ่ง และเจ้าหนี้ทุกคนย่อมได้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินแปลงดังกล่าว (มาตรา 239) เพิ่มจึงสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินแปลงดังกล่าวได้
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวติดภาระจำนองกับสี่ แม้เพิ่มจะสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินแปลงดังกล่าวได้ (ตามมาตรา 214) แต่เพิ่มก็จะบังคับชำระหนี้ได้ตามสิทธิของตนคือในฐานะเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น
- การที่สามได้นำที่ดินส่วนของตนจำนวน 10 ไร่ไปขายให้แก่ห้านั้น เมื่อปรากฏว่าห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไว้โดยสุจริตก่อนมีการฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉล ดังนั้นเมื่อ
มีการเพิกถอนการฉ้อฉลนิติกรรมการให้โดยเสน่หาของหนึ่งและสาม การเพิกถอนดังกล่าวจึงไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของห้า เพิ่มจึงไม่อาจบังคับเอากับที่ดินของห้าได้ตามมาตรา 238
สรุป เพิ่มสามารถเพิกถอนการฉ้อฉลนิติกรรมการให้โดยเสน่หาได้ แต่เพิ่มสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินของสี่ได้ตามสิทธิของตนเท่านั้น จะบังคับเอาจากที่ดินของห้าไม่ได้
ข้อ 3. จันทร์เป็นเจ้าหนี้และอังคารเป็นลูกหนี้ในหนี้เงิน 100,000 บาท โดยมีพุธและพฤหัสเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าว ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ อังคาร (ลูกหนี้) ผิดนัด จันทร์จึงเรียกให้พุธผู้ค้ำประกันชำระหนี้ พุธนำเงิน 100,000 บาท ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ แต่ปรากฏว่าจันทร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ พุธจึงนำเงิน 100,000 บาทนั้นไปวางที่
สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่จันทร์ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า พฤหัสยังต้องรับผิดต่อจันทร์ในหนี้รายดังกล่าวนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”
มาตรา 292 วรรคหนึ่ง “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย ”
มาตรา 331 “ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดีหรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดีหากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้
ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอน โดยมิใช่ความผิดของตน”
มาตรา 682 วรรคสอง “ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธและพฤหัสเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ที่อังคารเป็นลูกหนี้จันทร์จำนวน 100,000 บาทนั้น ย่อมถือว่าพุธและพฤหัสต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 682 วรรคสอง และเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ อังคารซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดและจันทร์เจ้าหนี้เรียกให้พุธผู้ค้ำประกันชำระหนี้ การที่พุธนำเงิน 100,000 บาท ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ แต่จันทร์บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้นั้น ย่อมถือว่าจันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 ดังนั้น พุธจึงมีสิทธินำเงิน 100,000 บาทนั้นไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่จันทร์เจ้าหนี้ได้และทำให้พุธเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้นั้นตามมาตรา 331
และเมื่พุธได้กระทำการวางทรัพย์ตามมาตรา 331 แล้ว การกระทำของพุธย่อมเป็นประโยชน์แก่พฤหัสซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมด้วยตามมาตรา 292 วรรคหนึ่ง ดังนั้นพฤหัสจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้รายดังกล่าวต่อจันทร์
สรุป พฤหัสไม่ต้องรับผิดต่อจันทร์ในหนี้รายดังกล่าว
ข้อ 4. จันทร์และอังคารเป็นหนี้ร่วมของพุธในหนี้เงินสองแสบบาท ต่อมาอังคารตาย และพุธได้เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของอังคาร โดยพินัยกรรม ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า จันทร์จะเรียกร้องให้พุทธชำระหนี้สองแสนบาทดังกล่าวนั้นได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 299 วรรคสอง “ถ้าสิทธิเรียกร้องและหนี้สินนั้นเป็นอันเกลื่อนกลืนกันไปในเจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง สิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ อันมีต่อลูกหนี้ก็ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป”
มาตรา 300 “ในระหว่างเจ้าหนี้ร่วมกันนั้น ท่านว่าต่างคนชอบที่จะได้รับชำระหนี้เป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา 353 “ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์และอังคารเป็นเจ้าหนี้ร่วมของพุธในหนี้เงิน 2 แสนบาทและต่อมาอังคารเจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่งตาย และพุธได้รับมรดกทั้งหมดของอังคารโดยพินัยกรรมนั้น เมื่อสิทธิเรียก
ให้ชำระหนี้จำนวน 2 แสนบาท กับหน้าที่ในการชำระหนี้จำนวน 2 แสนบาท ได้ตกมาอยู่กับพุธเพียงคนเดียว
จึงเป็นกรณีที่ถือว่าหนี้เกลื่อนกลืนกันตามมาตรา 353 ดังนั้นหนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไป จันทร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้พุธชำระหนี้ได้ เพราะถือว่าหนี้ระหว่างจันทร์กับพุธย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยตามมาตรา 299 วรรคสอง
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จันทร์จะเรียกร้องให้พุธชำระหนี้จำนวน 2 แสนบาทไม่ได้ แต่ก็ไม่ตัดสิทธิของจันทร์ในอันที่จะไล่เบี้ยเอาจากพุธได้ในจำนวนเงิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 300 เนื่องจากในระหว่างเจ้าหนี้ร่วมกันนั้นต่างคนชอบที่จะได้รับชำระหนี้เป็นส่วนเท่า ๆ กัน
สรุป จันทร์จะเรียกร้องให้พุธชำระหนี้จำนวน 2 แสนบาทไม่ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิของจันทร์ที่จะเรียกเอาจากพุธตามส่วนของตนจำนวน 1 แสนบาท ตามมาตรา 299 วรรคสอง และมาตรา 300