การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของจันทร์ ขณะทำสัญญามีคนอื่นอยู่ในที่ดินหลายครัวเรือนจึงทำสัญญาตกลงกันว่า จันทร์จะต้องขับไล่หรือจัดการให้คนที่อยูในที่ดินออกไปให้หมดภายในวันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่ออังคารจะได้เข้าทำการก่อสร้างทันที ปรากฏว่าสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 จันทร์ไม่ได้ขับไล่ใครเลย ยังคงมีคนอื่นอยู่ในที่ดินเหมือนเดิมดังนี้ให้วินิจฉัยว่า จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 209 “ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด ”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการใด หากเจ้าหนี้มิได้กระทำการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ และถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้หาได้ไม่
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของจันทร์ โดยมีการทำสัญญาตกลงกันว่า จันทร์จะต้องขับไล่หรือจัดการให้คนที่อยู่ในที่ดินออกไปให้หมดภายในวันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่ออังคารจะได้เข้าทำการก่อสร้างทันทีนั้น ถือเป็นเรื่องการชำระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยมีการตกลงกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการไว้เป็นที่แน่นอน เมื่อปรากฏว่าสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 จันทร์ไม่ได้ขับไล่ใครเลย ยังคงมีคนอื่นอยู่ในที่ดินเหมือนเดิม ถือว่าจันทร์เจ้าหนี้มิได้กระทำการตามข้อตกลงภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น จึงถือว่าจันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นตามมาตรา 209 โดยที่อังคารลูกหนี้ไม่ต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้แต่ประการใด
สรุป จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 นางทัศนีย์มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายสุทธิได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินมีโฉนดของเด็กชายสุทธิให้แก่นายสิน กำหนดวันจดทะเบียนและชำระราคาที่ดินในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ถ้าผิดสัญญายินยอมให้นายสินปรับ 200,000 บาท ขณะตกลงซื้อขายกันนายสินซึ่งมีอาชีพทนายความทราบว่าที่ดินที่ตนจะซื้อเป็นของบุตรผู้เยาว์ของนางทัศนีย์ จึงได้ตกลงกันว่า ทำสัญญาแล้วนางทัศนีย์จะไปร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายที่ดิน ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 นางทัศนีย์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขออนุญาตขายที่ดินดังกล่าวให้นายสินศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขาย คดีถึงที่สุด นางทัศนีย์จึงไม่ได้โอนขายที่ดินให้นายสินตามสัญญา นายสินเป็นโจทก์ฟ้องนางทัศนีย์และเด็กชายสุทธิต่อศาลชั้นต้นกรณีผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดิน เรียกเบี้ยปรับ 200,000 บาท
ให้วินิจฉัยว่า นางทัศนีย์และเด็กชายสุทธิต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับแก่นายสินหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางทัศนีย์มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายสุทธิ ได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินมีโฉนดของเด็กชายสุทธิให้แก่นายสินในวันที่ 20 มกราคม 2559 และได้กำหนดวันจดทะเบียนและชำระราคาที่ดินกันในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่ตกลงซื้อขายที่ดินกัน นายสินซึ่งมีอาชีพทนายความทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของเด็กชายสุทธิบุตรผู้เยาว์ขอนางทัศนีย์ ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้เยาว์จะต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ขายได้เสียก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นายสินได้ และเมื่อข้อเท็จจริงตามปัญหาก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่นางทัศนีย์นำเข้าไต่สวนในคดีดังกล่าวนั้นว่า นางทัศนีย์จงใจจะให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตเพื่อหลีกเลี่ยงการโอนขายที่ดินให้แก่นายสินแต่อย่างใด การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นไปตามดุลพินิจของศาล ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และเป็นพฤติการณ์ที่นางทัศนีย์และเด็กขายสุทธิไม่ต้องรับผิดชอบ
ดังนั้น นางทัศนีย์และเด็กชายสุทธิจึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง และไม่ถือว่านางทัศนีย์และเด็กชายสุทธิผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินต่อนายสินซึ่งจะต้องรับผิดซชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายสินแต่อย่างใด
สรุป นางทัศนีย์และเด็กชายสุทธิไม่ได้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายสิน
ข้อ 3. ก. ทำสัญญาจะขายที่ดินของตนให้ ข. ในราคาหนึ่งล้านบาท แต่ต่อมา ก. กลับนำที่ดินดังกล่าวไปจำนอง ค. ประกันหนี้เงินกู้ห้าแสนบาท ครบกำหนด ก. มิได้ชำระหนี้และทำการไถ่ถอนจำนองให้ท่านแนะนำ ข. ว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ข. อาจจะรักษาสิทธิของตนได้อย่างไรบ้าง ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง ”
มาตรา 229 “การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพระเขามีบุริมสิทธิหรือมีสิทธิจำนำจำนอง”
มาตรา 233 “ล้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. ทำสัญญาจะขายที่ดินของตนให้ ข. ในราคาหนึ่งล้านบาท ต่อมา ก. กลับนำที่ดินดังกล่าวไปจำนอง ค. ประกันหนี้เงินกู้ห้าแสนบาท และเมื่อครบกำหนด ก. มิได้ชำระหนี้และทำการไถ่ถอนจำนองนั้น ข.ในฐานะเจ้าหนี้สามัญอาจสามารถรักษาสิทธิของตนได้โดยจะต้องดำเนินการดังนี้คือ
ประการแรก ข. อาจรักษาสิทธิของตนได้โดยการรับช่วงสิทธิตามกฎหมายตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ในฐานะเจ้าหนี้สามัญ โดยการเข้าชำระหนี้ให้แก่ ค. ผู้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตนเพราะมีบุริมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และเมื่อ ข. ได้ชำระหนี้ไห้แก่ ค. ผู้รับจำนองแล้ว ข. ก็เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนองแทน ค. ตามมาตรา 229 (1.)
ประการที่สอง ถ้าการที่ ก. ไม่ชำระหนี้และไม่ทำการไถ่ถอนจำนองนั้น เป็นกรณีที่ ก. ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้ ข. เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ ดังนี้ ข. เจ้าหนี้ย่อมสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ ก. ไถ่ถอนจำนองได้ตามมาตรา 233
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่ ข. ว่า ข. อาจรักษาสิทธิของตนได้โดยการดำเนินการดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 4. นายหนึ่งและนายสองทำสัญญาร่วมกันกู้ยืมเงินจากนางสาวมาย จำนวน 200,000 บาท กำหนดส่งคืนที่บ้านของนางสาวมายในวันที่ 10 มกราคม 2560 เมื่อถึงกำหนดนัด นายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวได้นำเงินจำนวน 200,000 บาท มาคืนนางสาวมายที่บ้าน แต่ปรากฏว่านางสาวมายไปเที่ยวต่างประเทศนายหนึ่งจึงไม่สามารถคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นางสาวมายและได้นำเงินจำนวนดังกล่าวกลับมาเก็บไว้ที่บ้านของตน ต่อมาในวันที่ 14 มกราคม 2560 เกิดไฟไหม้บ้านของนายหนึ่งทั้งหลัง ไม่มีทรัพย์สินใดๆ เหลือเลย โดยไฟลุกไหม้มาจากบ้านข้างเคียงซึ่งไม่ใช่ความผิดของนายหนึ่งแต่อย่างใด
ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม 2560 ภายหลังจากที่นางสาวมายกลับมาจากต่างประเทศได้ทราบข่าวว่าบ้านของนายหนึ่งไฟไหม้ นางสาวมายจึงได้ทวงถามมายังนายสองให้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมด จำนวน 200,000 บาท ให้แก่ตนพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 11มกราคม 2560 นายสองปฏิเสธไม่ยอมชำระอ้างว่า นายหนึ่งได้ไปชำระหนี้ให้แก่นางสาวมายแล้ว แต่นางสาวมายไปต่างประเทศไม่อยู่รับชำระหนี้ตามข้อตกลง ส่งผลให้นายหนึ่งและนายสองหลุดพ้นจากการชำระหนี้ อีกทั้งขณะนี้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแล้วโดยมิใช่ความผิดของลูกหนี้แต่อย่างใด
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางสาวมายจะเรียกให้นายสองชำระหนี้ให้แก่ตนได้หรือไม่ เพียงใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์
มาตรา 205 “ตราบใดการชำระหนี้ยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่ ”
มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ”
มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น”
มาตรา 221 “หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่ ”
มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ”
มาตรา 294 “การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งและนายสองทำสัญญาร่วมกันกู้ยืมเงินจากนางสาวมายจำนวน 200,000บาท โดยกำหนดส่งคืนที่บ้านของนางสาวมายในวันที่ 10มกราคม 2560นั้นนายหนึ่งและนายสองย่อมมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมโดยข้อสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายหนึ่งลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งได้นำเงินจำนวน 200,000 บาท มาคืนนางสาวมายที่บ้าน แต่ปรากฏว่านางสาวมายไปเที่ยวต่างประเทศถือได้ว่าเป็นกรณีที่นางสาวมายเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้
ดังนั้นจึงถือว่านางสาวมายเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 และการที่เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดต่อนายหนึ่งลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย ตามมาตรา 294
ดังนั้นกรณีดังกล่าวย่อมถือว่านางสาวมายเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดต่อนายสองลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วย
แต่อย่างไรก็ดี การที่เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น มิได้ทำให้หนี้นั้นระงับแต่อย่างใด ลูกหนี้ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่การผิดนัดของเจ้าหนี้ดังกล่าวทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น ถือเป็นพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้จึงสามารถหยิบยกพฤติการณ์ดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าตนยังไม่ได้ผิดนัดได้ตามมาตรา 205 และเมื่อกรณีนี้เป็นหนี้เงิน ดังนั้น เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัดไม่ได้ตามมาตรา 221 และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าไฟได้ไหม้บ้านของนายหนึ่งลูกหนี้ร่วมและทำให้เงิน 200,000 บาทที่เตรียมไว้ชำระหนี้ไหม้ไปด้วยนั้น ก็มิได้ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย อันจะทำให้ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด เนื่องจากเงินมิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่งแต่เป็นทรัพย์ทั่วไป ที่สามารถเอาเงินจำนวนเท่า ๆ กันเข้าชำระหนี้แทนกันได้
เมื่อลูกหนี้ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ดังนั้น นางสาวมายจึงมีสิทธิเรียกให้นายสองชำระหนี้จำนวน 200,000 บาท ให้แก่ตนได้ตามนัยของมาตรา 291 ที่ว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้จนสิ้นเชิงก็ได้ แต่ในส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น นางสาวมายจะสามารถเรียกได้นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2560 คือนับตั้งแต่วันที่นางสาวมายได้ทวงถามให้นายสองชำระหนี้เท่านั้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นเป็นวันที่อยู่ในระหว่างเวลาที่เจ้าหนี้ผิดนัด ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้
สรุป นางสาวมายเรียกให้นายสองชำระหนี้จำนวน 200,000 บาทได้ แต่ในส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จะเรียกได้นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปเท่านั้น