การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแฟงและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารสิบชั้นในที่ดินของตน โดยมีข้อตกลงกับว่าจันทร์จะจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินออกไปให้หมดแล้ว จันทร์จะกระทำการส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา และอังคารจะทำการสร้างอาคารสิบชั้นทันที เมื่อครบกำหนด 6 เดือนตามสัญญาปรากฏว่าจันทร์ไม่ได้ไล่ผู้อาศัยในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารได้ตามสัญญา แต่อังคารก็ไม่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อจันทร์แต่ประการใด ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 209 “ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้นั้นจะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทำการใด หากเจ้าหนี้มิได้กระทำการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ และถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้หาได้ไม่
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารสิบชั้นในที่ดินของตน โดยมีข้อตกลงกันว่า จันทร์จะต้องจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยูในที่ดินออกไปให้หมด และส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วับทำสัญญานั้น ถือเป็นเรื่องการชำระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยมีการตกลงกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องกระทำการไว้เป็นที่แน่นอน
ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าจันทร์เจ้าหนี้ไม่ได้ไล่ผู้อาศัยในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้แก่อังคารได้ตามสัญญา จันทร์เจ้าหนี้ย่อมเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นตามมาตรา 209 โดยที่อังคารลูกหนี้หาจำต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้แต่ประการใดไม่
สรุป จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2. พุธยืมรถยนต์ของพฤหัสไปใช้ เมื่อถึงกำหนดส่งรถยนต์คืน พุธผิดนัดไม่ส่งมอบรถยนต์คืน ต่อมาอีกสองวันปรากฏว่าศุกร์ละเมิดขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่พุธยืมมาพังยับเยินทั้งคันจนใช้การไม่ได้ รถยนต์คันนี้ราคา 500,000 บาท พฤหัสจึงได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่พฤหัสในฐานะเป็นช่วงทรัพย์แทนรถยนต์ที่พังหมดทั้งคันแล้ว แต่ศุกร์มีเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้พฤหัสเพียง 200,000 บาทเท่านั้น พฤหัสจึงเรียกร้องให้พุธชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเพราะการไม่ชำระหนี้จำนวน 300,000 บาทที่เหลือนั้น พุธจึงชำระเงินจำนวน 300,000 บาทให้แก่พฤหัส ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า พุธจะเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 300,000 บาทนั้น คืนจากศุกร์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง ”
มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆด้วยอำนาจกฎหมาย”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้คนใหม่โดยผลของกฎหมาย ทำให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิแทนเจ้าหนี้คนเดิม ซึ่งตามมาตรา 227 ได้วางหลักเกณฑ์ของการรับช่วงสิทธิไว้ดังนี้
- ผู้ที่จะเข้ารับช่วงสิทธิมีได้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น
- ต้องมีหนี้ที่มีลูกหนี้จะต้องชำระก่อน
- ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีการชำระหนี้กัน ส่งผลให้มีการเข้ารับช่วงสิทธิกัน
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธผิดนัดไม่ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่พฤหัส และปรากฏว่าศุกร์ได้กระทำละเมิดขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่พุธยืมมาพังยับเยินทั้งคันจนใช้การไม่ได้นั้น กรณีเช่นนี้พุธย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพฤหัส เนื่องจากพุธไม่ส่งมอบรถยนต์ภายในกำหนด
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พุธได้ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของรถยนต์จำนวน300.000 บาท ให้แก่พฤหัสแล้ว ดังนั้น พุธย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของพฤหัสเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 300.000 บาท นั้น คืนจากศุกร์ผู้กระทำละเมิดได้ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 227
สรุป พุธสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 300,000 บาท คืนจากศุกร์ได้
ข้อ 3. หนึ่งทำสัญญาจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินของสองในราคาสี่ล้านห้าแสนบาท ในวัทำสัญญาหนึ่งได้วางมัดจำไว้ห้าแสนบาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งได้กำหนดไว้ในอีกหกเดือนข้างหน้า ก่อนกำหนดโอนเกิดไฟไหม้ลามทุ่ง ไหม้บ้านเสียหายทั้งหลัง แต่สองมีประกันวินาศภัยในตัวบ้าน บริษัทผู้รับประกันได้ชำระค่าสินไหมทดแทนบ้านที่ถูกไฟไหม้มาสองล้านบาท
ให้ท่านแนะนำหนึ่งว่าถ้าหนึ่งอยากได้ที่ดินเพราะตั้งอยู่ในทำเลที่มีราคากรณีหนึ่งหรือในอีกกรณีหนึ่งวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบ้านอยู่อาศัย เมื่อไม่มีบ้านจะขอเลิกสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 8 “คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดีเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”
มาตรา 195 “เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตามสภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณีไม่อาจจะกำหนดได้ว่าทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลางถ้าลูกหนี้ได้กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี หรือถ้าลูกหนี้ได้เลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้จำเดิมแต่เวลานั้นไป”
มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น”
มาตรา 226วรรคสอง “ช่วงทรัพย์ ได้แก่ เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่ง
ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน”
มาตรา 228 วรรคหนึ่ง “ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น เป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้ หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้”
มาตรา 370 วรรคหนึ่ง “ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้”
มาตรา 372 วรรคหนึ่ง “นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งทำสัญญาจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินของสองในราคาสี่ล้านห้าแสนบาทนั้น ย่อมถือว่าสองได้กำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบโดยความยินยอมของหนึ่งแล้ว บ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามมาตรา 195 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าก่อนกำหนดโอนได้เกิดไฟไหม้บ้านเสียหายทั้งหลังซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 ดังนั้น จึงมีผลทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้เนื่องจากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบการสูญหายหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 370 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าหนึ่งอยากได้ที่ดินเพราะตั้งอยู่ในทำเลที่มีราคา หนึ่งก็ต้องเรียกให้สองโอนที่ดินพร้อมทั้งให้สองส่งมอบค่าสินไหมทดแทนบ้านที่ถูกไฟไหม้ในฐานะเป็นช่วงทรัพย์ตามมาตรา 226 วรรคสองประกอบมาตรา 228 วรรคหนึ่ง โดยหนึ่งจะต้องชำระราคาส่วนที่เหลืออีกสี่ล้านบาทให้แก่สองด้วย แต่ถ้าหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบ้านอยู่อาศัย ดังนี้เมื่อไม่มีบ้านหนึ่งจึงสามารถขอเลิกสัญญาและเรียกเงินมัดจำคืนจากสองได้ ตามมาตรา 372
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่หนึ่ง ตามเหตุผลและหลักกฎหมายที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 4. ทรัพย์สินของ ก. มีเฉพาะที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะขายให้ ข. ไว้ในราคาสามล้านบาท ก่อนกำหนดโอน ก. กลับนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนอง ค. เพื่อประกันหนี้เงินกู้หนึ่งล้านห้าแสนบาท สัญญากู้ถึงกำหนดแล้ว แต่ ก. กลับไม่ใส่ใจที่จะไถ่ถอนจำนองแต่อย่างใด ให้ท่านแนะนำ ข. ว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อจะรักษาสิทธิของ ข. ให้ดีที่สุด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 214 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย”
มาตรา 229 “การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพระเขามีบุริมสิทธิหรือมีสิทธิจำนำจำนอง”
มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้น แต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”
มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิ
ในทรัพย์สิน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ข. จะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อจะรักษาสิทธิของ ข. ให้ดีที่สุดนั้น เห็นว่า ข. อาจจะรักษาสิทธิของตนได้ 3 กรณี คือ
(1) ใช้สิทธิเรียกร้องของ ก. ไถ่ถอนจำนองตามมาตรา 233 เพราะถือเป็นกรณีที่ ก. ลูกหนี้เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือ ข. ต้องเสียประโยชน์ ข. จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ ก. ไถ่ถอนจำนองเองได้
(2) ขอเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉลตามมาตรา 237 เพราะการที่ ก. ลูกหนี้ ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองกับ ค. เพื่อประกันหนี้เงินกู้หนึ่งล้านห้าแสนบาทนั้น ย่อมถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ข. เจ้าหนี้จึงขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้
(3) รับช่วงสิทธิของ ก. ในฐานะที่ ข. เป็นเจ้าหนี้สามัญ โดยเข้าชำระหนี้ให้แก่ ค. เจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนอง และรับช่วงสิทธิเข้าเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนองแทน ค. โดยทั้ง 3 กรณีนี้ ข้าพเจ้าจะแนะนำ ข. ว่าวิธีที่ 3 น่าจะดีทีสุด
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่ ข. ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น