การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางส้มเช้งได้ทำบันทึกข้อตกลงกับนางส้มโอเพื่อขอเดินผ่านทางกว้างสองเมตรในที่ดินของนางส้มโอไปยังที่ดินของตนเป็นเวลาสิบปี โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นางส้มโอเป็นจำนวนสองหมื่นบาท แต่นางส้มเช้งและนางส้มโอไม่ได้นำบันทึกข้อตกลงไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ภายหลังจากนางส้มเช้งเดินผ่านทางได้เพียงสองปี นางส้มโอได้ปลูกต้นขนุนจำนวนสองต้นขวางทางทำให้นางส้มเช้งไม่สามารถเดินผ่านทางดังกล่าวได้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางส้มเช้งสามารถฟ้องบังคับให้นางส้มโอรื้อถอนต้นขนุนเพื่อเปิดทางให้นางส้มเช้งเดินผ่านทางต่อไปจนครบระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคแรก “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่’’

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางส้มเช้งได้ทำบันทึกข้อตกลงกับนางส้มโอเพื่อขอเดินผ่านทางกว้างสองเมตรในที่ดินของนางส้มโอไปยังที่ดินของตนเป็นเวลาสิบปี โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นางส้มโอเป็นจำนวนสองหมื่นบาทนั้น ถือเป็นกรณีที่นางส้มเช้งตกลงได้มาซึ่งภาระจำยอมในที่ดินของนางส้มโออันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม แม้การได้มาซึ่งภาระจำยอมของนางส้มเช้งจะได้ทำเป็นหนังสือแล้ว แต่เมื่อนางส้มเช้งและนางส้มโอยังไม่ได้นำบันทึกข้อตกลงไปจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งภาระจำยอมดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามมาตรา 1299 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งภาระจำยอมของนางส้มเช้งย่อมสมบูรณ์เป็นบุคคลสิทธิ ใช้บังคับกันได้ระหว่างนางส้มเช้งกับนางส้มโอซึ่งเป็นคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อนางส้มโอได้ปลูกต้นขนุนจำนวนสองต้นขวางทาง ทำให้นางส้มเช้งไม่สามารถเดินผ่านทางดังกล่าวได้ นางส้มเช้งย่อมสามารถฟ้องบังคับให้นางส้มโอรื้อถอนต้นขนุนเพื่อเปิดทางให้นางส้มเช้งเดินผ่านทางต่อไปจนครบระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลงได้

สรุป

นางส้มเช้งสามารถฟ้องบังคับให้นางส้มโอรื้อถอนต้นขนุนเพื่อเปิดทางให้นางส้มเช้งเดินผ่านทางต่อไปจนครบระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลงได้

 

ข้อ 2. นายเผด็จเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งเนื้อที่จำนวน 2 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับทางสาธารณะ เมื่อปี พ.ศ. 2540 นายเผด็จได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจำนวน 200 ตารางวา ซึ่งอยู่ด้านหลังขายให้กับนายประชา เป็นเหตุให้ที่ดินที่นายบ่ระชาซื้อไปนั้นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แสะก่อนแบ่งโอนนายเผด็จสัญญาว่าจะเปิดทางกว้าง 3.5 เมตร เพื่อให้นายประชาทำถนนออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่นายประชาเห็นว่า การทำถนนผ่านที่ดินของนายเผด็จไม่สะดวกและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนายประชาจึงหันไปทำถนนผ่านที่ดินของนายสันติ ปี พ.ศ. 2541 นายเผด็จเห็นว่านายประชาไม่ใช้ทางผ่านที่ดินของตนจึงล้อมรั้ว หลังจากนั้นปี พ.ค. 2544 นายสันติสร้างตึกแถวในที่ดินของตนทำให้ที่ดินของนายประชาไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายประชาจึงขอให้นายเผด็จรื้อรั้วเพื่อเปิดทางให้นายประชาทำถนนตามที่เคยตกลงกันไว้ แต่นายเผด็จอ้างว่านายประชาได้ใช้ทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะแล้ว และตอนที่นายเผด็จล้อมรั้วนายประชาก็ไม่คัดค้าน ถือว่านายประชาสละสิทธิการใช้ทางนั้นแล้ว หากนายประชาต้องการใช้ทางผ่านที่ดินของตนใหม่ นายประชาจะต้องจ่ายเงินทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการทำถนนผ่านที่ดินให้กับนายเผด็จ

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายประชาจะขอให้นายเผด็จรื้อรั้วเพื่อทำถนนผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะได้หรือไม่ และถ้านายเผด็จยอมให้นายประชาทำถนนผ่านที่ดินของตนแล้ว นายประชาจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้นายเผด็จหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1350 “ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1350 นั้น เป็นเรื่องการขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดิน กล่าวคือถ้าเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกันทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้อนเอาทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเผด็จแบ่งแยกที่ดินของตนจำนวน 200 ตารางวา ซึ่งอยู่ด้านหลังขายให้กับนายประชา และเป็นเหตุให้ที่ดินของนายประชาที่ซื้อไปไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนั้น ตามหลักของมาตรา 1350 นายประชาย่อมมีสิทธิขอทางเข้าออกบนที่ดินของนายเผด็จได้ แม้ว่านายประชาจะได้อาศัยทางผ่านที่ดินของนายสันติออกสู่ทางสาธารณะ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่านายประชามีสิทธิใช้ทางดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายประชากับนายสันติไม่ได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และการใช้ทางดังกล่าวก็ยังไม่ถึง 10 ปี อันจะทำให้นายประชาได้สิทธิครอบครองปรปักษในที่ดินของนายสันติแต่อย่างใด

ดังนั้น ที่ดินของนายประชาซึ่งถูกปิดล้อมอยู่จึงมีสิทธิใช้ทางผ่านที่ดินของนายเผด็จที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอน เพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา 1350 ซึ่งทางจำเป็นนี้เป็นข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยผลของกฎหมายและตามข้อเท็จจริงยังไม่มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนยกเลิกทางจำเป็นดังกล่าว ดังนั้น ข้ออ้างของนายเผด็จจึงฟังไม่ขึ้นนายประชาจึงมีสิทธิขอให้นายเผด็จรื้อถอนรั้วออกเพี่อทำถนนออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยนายประชาไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อความเสียหายให้กับนายเผด็จตามมาตรา 1350

สรุป

นายประชามีสิทธิขอให้นายเผด็จรื้อถอนรั้วออกเพื่อทำถนนผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยนายประชาไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อความเสียหายให้กับนายเผด็จ

 

ข้อ 3. นายแมนครอบครองปรปักษ์ทำนาในที่ดินมีโฉนดของนายมั่นมาได้ 4 ปี พอเริ่มปีที่ 5 บิดาของนายแมนที่อยู่คนละจังหวัดกันล้มป่วย นายแมนจึงย้ายไปดูแลบิดาที่ป่วยเป็นเวลาสองปี แต่ในระหว่างที่ไปอยู่กับบิดา นายแมนได้จ้างนายเหมือนมาทำนาบนที่ดินของนายมั่นแทนตน ในปีที่เจ็ด นายแมนกลับเข้ามาทำนาต่อบนที่ดินของนายมั่นด้วยตนเอง ดังนี้ หากนายแมนต้องการกรรมสิทธิ์บนที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ นายแมนจะต้องครอบครองทำนาบนที่ดินนายมั่นอีกนานเท่าใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 จะบระกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
  2. ได้ครอบครองโดยความสงบ
  3. ครอบครองโดยเปิดเผย
  4. ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
  5. ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแมนครอบครองปรปักษ์ทำนาในที่ดินมีโฉนดของนายมั่นได้ 4 ปี ในปีที่ 5 นายแมนจ้างนายเหมือนมาทำนาบนที่ดินนี้แทนตน เพื่อย้ายไปอยู่กับบิดาซึ่งล้มป่วยนั้น นายเหมือนย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือที่ดินแปลงนั้นแทนนายแมนตลอดมา และถือว่านายแมนยังคงมีสิทธิครอบครองที่ดินนี้อยู่ โดยให้นายเหมือนยึดถือไว้แทนตามมาตรา 1368 ดังนั้น การครอบครองปรปักษ์ของนายแมนจึงคงนับเวลามาตลอด จนในปีที่ 7 นายแมนกลับมาทำนาบนที่ดินอีกด้วยตนเอง จึงเท่ากับนายแมนต้องครอบครองปรปักษ์ที่นาแปลงนี้อีก 3 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382

สรุป

หากนายแมนต้องการกรรมสิทธิ์บนที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ นายแมนจะต้องครอบครองทำนาบนที่ดินของนายมั่นอีก 3 ปี

 

ข้อ 4. นายวันปลูกบ้านอยู่ในหมู่บ้าน บ้านนายวันได้สิทธิภาระจำยอมในการวางเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของนายเดือนตลอดมาสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งบ้านนายเดือนก็ได้อาศัยไฟฟ้าเสาและสายเดียวกันกับที่บ้านของนายวันด้วย เมื่อนายวันต้องการรื้อเปลี่ยนสายไฟให้ใหญ่ขึ้นและเสาไฟใหม่จากเดิมที่เป็นไม้ให้เป็นปูนทั้งหมด นายวันจึงมาเรียกให้นายเดือนออกค่าใช้จ่ายด้วย แต่นายเดือนปฏิเสธและห้ามและไม่ยอมให้นายวันทำ ให้ท่านอธิบายว่านายวันจะทำได้หรือไม่ และจะเรียกร้องค่าสายไฟและเสาใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1391 “เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์

เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยซน์ด้วยไซร้ ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายในเรื่องภาระจำยอมนั้น เจ้าของสามยทรัพย์ย่อมมีสิทธิทำการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมได้ แต่จะต้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์น้อยที่สุดตามพฤติการณ์ และเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์จากการนั้นด้วย เจ้าของภารยทรัพย์ก็ต้องช่วยเจ้าของสามยทรัพย์ออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ตนได้รับนั้น(มาตรา 1391)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวันได้สิทธิภาระจำยอมในการวางเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของนายเดือนตลอดมาสิบกว่าปี และบ้านของนายเดือนก็ได้อาศัยไฟฟ้าเสาและสายเดียวกันกับที่ใช้ในบ้านของนายวันด้วยนั้น เมื่อนายวันต้องการรื้อเปลี่ยนสายไฟให้ใหญ่ขึ้นและเสาไฟฟ้าใหม่จากเดิมที่เป็นไม้ให้เป็นปูนทั้งหมด กรณีเช่นนี้ นายวันย่อมสามารถทำได้ เนื่องจากเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมตามมาตรา 1391 วรรคแรก แต่จะต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์น้อยที่สุด และเมื่อปรากฏวานายเดือนก็ได้รับประโยชน์จากการดังกล่าวด้วย นายเดือนจึงต้องร่วมออกค่าสายไฟและเสาใหม่ด้วยครึ่งหนึ่งตามมาตรา 1391 วรรคสอง

สรุป

นายวันสามารถรื้อเปลี่ยนสายไฟให้ใหญ่ขึ้นและเสาไฟใหม่จากเดิมที่เป็นไม้ให้เป็นปูนทั้งหมดได้ และสามารถเรียกร้องค่าสายไฟและเสาใหม่จากนายเดือนได้ครึ่งหนึ่ง

Advertisement