การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายอ้วนตกลงด้วยวาจาให้นายผอมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงใช้ทางเดินผ่านที่ดินของตนออกสู่ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ได้อย่างภาระจำยอม ภายหลังต่อมานายอ้วนจดทะเบียนยกที่ดินแปลงเดียวกันให้นางสวยโดยเสน่หา โดยนางสวยไม่ทราบถึงภาระจำยอมที่นายผอมมีอยู่บนที่ดินมาก่อนเลย

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางสวยจะห้ามไม่ให้นายผอมใช้ทางเดินบนที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคแรก “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอ้วนตกลงด้วยวาจาให้นายผอมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงใช้ทางเดินผ่านที่ดินของตนออกสู่ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ได้อย่างภาระจำยอมนั้น ถือเป็นกรณีที่นายผอมได้ทางภาระจำยอมผ่านที่ดินของนายอ้วน อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม และเมื่อการได้ภาระจำยอมดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาของนายผอมจึงยังไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้เพียงแต่มีผลบังคับกันระหว่างนายอ้วนและนายผอม ซึ่งเป็นคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิเท่านั้น (ตามมาตรา 1299 วรรคแรก)

ดังนั้น เมื่อต่อมานายอ้วนได้จดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางสวยโดยเสน่หา นางสวยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น และถือเป็นบุคคลภายนอก เมื่อการได้ภาระจำยอมของนายผอมไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิจึงไม่สามารถบังคับใช้กับนางสวยได้ นางสวยย่อมสามารถห้ามไม่ให้นายผอมใช้ทางเดินบนที่ดินของนางสวยได้

สรุป

นางสวยห้ามไม่ให้นายผอมใช้ทางเดินบนที่ดินของตนได้

 

ข้อ 2. นายเงินครอบครองทำไร่ในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร และยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่เคยอนุญาตให้ราษฎรรายใดเข้าครอบครองเป็นเจ้าของหลังจากนายเงินทำไร่ในที่ดินนั้นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่าสิบปีแล้ว นายเงินให้นายทองเช่าที่ดินนั้นทำไร่ต่อจากตน หลังจากนายทองเช่าทำไร่ได้ห้าปี นายทองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า นายเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่า นายเงินจะฟ้องขับไล่นายทองให้ออกไปจากที่ดินนั้น

ดังนี้ ระหว่างนายเงินและนายทองมีสิทธิใด ๆ ในที่ดินแปลงนี้ และนายเงินจะฟ้องขับไล่นายทองให้ออกไปจากที่ดินนี้ได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1304 “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน”

มาตรา 1306 “ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเงินครอบครองทำไร่ในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร และยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่เคยอนุญาตให้ราษฎรรายใดเข้าครอบครองเป็นเจ้าของ ที่ดินดังกล่าวจึงยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (1) ดังนั้นแม้นายเงินเข้าครอบครองทำไร่ในที่ดินนั้นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปีแล้ว การเข้ายึดถือครอบครองของนายเงินย่อมไม่ทำให้นายเงินได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ เพราะตามมาตรา 1306 ได้บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมสามารถยกเอาการยึดถือครอบครองก่อนขึ้นยันผู้อื่นที่เข้ามารบกวนได้ในขณะเวลาที่ตนยังยึดถือครอบครองอยู่เท่านั้น

และเมื่อนายเงินไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าว นายเงินจึงไม่มีสิทธินำที่ดินนั้นไปให้นายทองเช่าทำไร่ต่อจากตน เมื่อนายเงินนำที่ดินไปให้นายทองเช่าต่อจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิเพราะเท่ากับนำที่ดินของรัฐไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยรัฐไม่ยินยอม การกระทำของนายเงินจึงไม่มีผลทำให้นายทองได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด แต่จะมีผลเพียงเป็นการมอบการครอบครองที่ดินให้แก่นายทองเท่านั้น นายเงินจึงไม่ใช่ผู้ยึดถือครอบครองที่ดินนั้นอีกต่อไป ดังนั้นนายเงินจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่นายทองผู้ครอบครองที่ดินนั้น เพราะกรณีนี้ย่อมถือว่านายทองมีสิทธิดีกว่านายเงิน

สรุป

ทั้งนายเงินและนายทองไม่มีผู้ใดมีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย และนายเงินจะฟ้องขับไล่นายทองให้ออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 3. นายแดงมีที่ดินแปลงหนึ่งถูกล้อมโดยที่ดินของนายดำ นายขาว และนายเขียว ต่อมานายแดงถึงแก่ความตาย ที่ดินแปลงนี้จึงตกเป็นมรดกแก่นายเข้มและนายแข็ง เมื่อนายเข้มและนายแข็งแบ่งที่ดินมรดกกันเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่านายแข็งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ติดทางสาธารณะ ส่วนนายเข้มเป็นเจ้าของที่ดินแปลงด้านในไม่ติดทางสาธารณะ นายเข้มเห็นว่าถ้าตนได้ทำทางผ่านที่ดินของนายขาวเพื่อออกสู่ถนนจะทำให้ตนไปทำงานได้สะดวก จึงมาปรึกษาท่าน

ขอให้ท่านให้คำปรึกษาแก่นายเข้มว่า นายเข้มจะมีสิทธิทำได้หรือไม่ โดยอาศัยข้อกฎหมายเรื่องใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1350 “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลง

ที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน”

วินิจฉัย

การขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดินตามบทบัญญัติมาตรา 1350 นั้น เป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกันทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่ทั้งนี้จะใช้สิทธิได้ก็แต่เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเข้มและนายแข็งได้ทำการแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่กันแล้ว เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงของนายเข้มถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ (ที่ดินตาบอด) นั้น ย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 คือเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่เมื่อแบ่งแยกแล้วเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ดังนั้นกรณีนี้นายเข้มย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้ แต่นายเข้มจะใช้สิทธิได้เฉพาะบนที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอน คือที่ดินของนายแข็งโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนเท่านั้นจะไปใช้สิทธิบนที่ดินแปลงอื่นไม่ได้

ดังนั้น การที่นายเข้มเห็นว่าถ้าตนได้ทำทางผ่านที่ดินของนายขาวเพื่อออกสู่ถนนจะทำให้ตนไปทำงานได้สะดวกนั้น นายเข้มจึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้

สรุป

นายเข้มไม่มีสิทธิขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของนายขาวได้ตามมาตรา 1350

 

ข้อ 4. แดงได้ภาระจำยอมในการเดินผ่านที่ดินของฟ้าซึ่งอยู่ติดกับแม่นํ้าเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ แดงกลัวว่าถ้าภายหน้าน้ำจะเซาะทางเดินแล้วทางเดินภาระจำยอมจะหายไป จึงต้องการย้ายทางเดินภาระจำยอมออกห่างตลิ่งที่ติดแม่น้ำ แดงจะย้ายภาระจำยอมได้หรือไม่ ใครมีสิทธิย้ายได้ และจะต้องมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอย่างไรบ้าง แต่ถ้าแดงทำทางใหม่โดยไม่ได้บอกหรือขออนุญาตฟ้าเมื่อเริ่มทำไปจะก่อผลอย่างไรกับภารยทรัพย์ และฟ้ามีสิทธิอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1388 “เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ หรือในสามยทรัพย์ ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์”

มาตรา 1389 “ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้”

มาตรา 1392 “ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง”

วินิจฉัย

การย้ายภาระจำยอมไปส่วนอื่นของภารยทรัพย์ตามมาตรา 1392 นั้น เป็นสิทธิของเจ้าของภารยทรัพย์เท่านั้น เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิขอย้ายเว้นแต่เจ้าของภารยทรัพย์จะได้ตกลงยินยอมด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงได้ภาระจำยอมในการเดินผ่านที่ดินของฟ้าซึ่งติดอยู่กับแม่น้ำเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ และแดงกลัวว่าถ้าน้ำจะเซาะทางเดินหายไปจึงต้องการย้ายทางเดินภาระจำยอมออกห่างตลิ่งที่ติดแม่น้ำนั้น แดงซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิย้ายทางเดินภาระจำยอมนั้นเพราะตามมาตรา 1392 ได้บัญญัติให้เฉพาะเจ้าของภารยทรัพย์เท่านั้นที่มีสิทธิย้ายภาระจำยอมส่วนในกรณีถ้าแดงจะทำทางใหม่ด้วยตนเองโดยไม่ได้บอกหรือขออนุญาตฟ้านั้น ถ้าแดงทำย่อมถือว่าเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ตามมาตรา 1388 และมาตรา 1389 และไม่ใช่เป็นการรักษาภาระจำยอม ซึ่งแดงไม่มีสิทธิที่จะทำ และถ้าแดงทำย่อมถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในที่ดินของฟ้า ซึ่งฟ้ามีสิทธิห้าม รวมทั้งให้แก้ไขทำที่ดินให้เป็นดังเดิม และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแดงผู้ทำละเมิดได้

สรุป

แดงจะย้ายภาระจำยอมไม่ได้ตามมาตรา 1392 และถ้าแดงทำทางใหม่โดยไม่ได้บอกหรือขออนุญาตฟ้า ย่อมเป็นการก่อภาระเพิ่มขึ้นกับภารยทรัพย์ ซึ่งฟ้ามีสิทธิห้าม สั่งให้แก้ไขทำที่ดินให้เป็นดังเดิมและเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแดงได้

Advertisement