การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสนมีอาชีพทำนา นายสนได้เข้าไปทำนาบนที่ดินของนายสาย โดยที่นายสายไม่ทราบ นายสนทำนาบนที่ดินของนายสายมาได้ 15 ปี นายสายตาย นายเสียงบุตรของนายสายได้รับมรดกที่ดินแปลงนั้น นายเสียงไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นมีนายสนได้ทำนาอยู่บนที่ดินแปลงนั้น ต่อมานายเสียงได้โอนจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นให้นายแสง ช่วงที่ตกลงซื้อขาย นายแสงก็ได้ไปดูที่ที่ดินแปลงนั้นแต่ไม่เจอนายสนเพราะอยู่นอกฤดูทำนา เมื่อนายแสงซื้อที่ดินแปลงนั้นมาแล้วก็ตั้งใจจะไปทำสวนบนที่ดินแปลงนั้น จึงพบว่ามีนายสนทำนาอยู่บนที่ดินแปลงนั้น
ให้นักศึกษาอธิบายต่อนายแสงว่านายแสงจะมีสิทธิอย่างไรบ้าง และต้องดำเนินการอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
วินิจฉัย
กรณิตามอุทาหรณ์ การที่นายสนซึ่งมีอาชีพทำนาได้เข้าไปทำนาบนที่ดินของนายสายโดยที่นายสายไม่ทราบ และนายสนได้ทำนาบนที่ดินของนายสายมาได้ 15 ปีแล้วนั้น ถือว่านายสนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 อันถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายสนไม่ได้ไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นายสนจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นายสนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้
ต่อมาเมื่อนายสายตาย นายเสียงบุตรของนายสายได้รับมรดกที่ดินแปลงนั้น กรณีนี้ถือว่าเป็นการรับโอนที่ดินในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสายซึ่งเป็นการรับทรัพย์มรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดก โดยทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของเจ้ามรดก นายเสียงซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของนายสายจึงไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับกรรมสิทธิในที่ดินแปลงนั้นโดยมีค่าตอบแทน ดังนั้นระหว่างนายสนกับนายเสียง นายสนจึงยังเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่านายเสียง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเสียงได้โอนจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นให้นายแสง และช่วงที่ตกลงซื้อขายกันนั้น นายแสงก็ได้ไปดูที่ที่ดินแปลงนั้นแต่ไม่เจอนายสนเพราะอยู่นอกถดูทำนา จึงถือว่านายแสงเป็นบุคคลภายนอกที่ได้สิทธิในที่ดินแปลงนั้นมาโดยเสียค่าตอบแหนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น นายแสงจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่านายสน และเมื่อนายแสงจะเข้าไปทำสวนบนที่ดินแปลงนั้นแต่พบว่ามีนายสนทำนาอยู่บนที่ดินแปลงนั้น นายแสงย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อขับไล่ให้นายสนออกจากที่ดินแปลงนั้นได้
สรุป
ข้าพเจ้าจะอธิบายต่อนายแสงว่า นายแสงมีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อขับไล่ให้นายสนออกจากที่ดินแปลงนั้นได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2. นายปั่นเช่าซื้อรถยนต์ในราคา 200,000 บาท จากบริษัท ก้องเกียรติมอเตอร์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์มาเป็นเวลากว่าแปดปีแล้ว โดยไม่รู้ว่านายปานเป็นผู้มีชื่อในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ หลังจากนายปั่นชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว นายปั่นได้ติดต่อขอให้บริษัท ก้องเกียรติมอเตอร์ จำกัด ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่ตน แต่บริษัท ก้องเกียรติมอเตอร์ จำกัด ผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมานายปั่นจึงรู้ว่ารถยนต์คันนี้เดิมเป็นของนายปาน ซึ่งถูกนายแมนฉ้อโกงแล้วนำมาขายที่บริษัทก้องเกียรติมอเตอร์จำกัด ในราคา 150,000 บาท เมื่อนายปานทราบข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันนี้อยู่ในการครอบครองของนายปั่น นายปานจึงฟ้องขอให้ศาลบังคับนายปั่นส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ตน
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นายปั่นจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นายปานหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์
มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน ก็ไม่จำต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปั่นได้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ก้องเกียรติมอเตอร์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์มาเป็นเวลากว่าแปดปีแล้วนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายปั่นได้ซื้อทรัพย์สินจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามมาตรา 1332 และเมื่อนายปั่นได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วรถยนต์คันนี้จึงตกเป็นสิทธิของนายปั่นแล้ว การที่นายปั่นมารู้ข้อเท็จจริงในภายหลังว่ารถยนต์คับนี้เดิมเป็นของนายปานซึ่งถูกนายแมนฉ้อโกงแล้วนำมาขายที่บริษัท ก้องเกียรติมอเตอร์ จำกัด นั้น ย่อมถือวานายปั่นเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต ดังนั้น นายปั่นจึงได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 1332 กล่าวคือ นายปั่นไม่จำต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายปาน เว้นแต่นายปานจะชดใช้ราคาที่นายปั่นซื้อมาคือ 200,000 บาท
สรุป
นายปั่นไม่ต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายปาน เว้นแต่นายปานจะชดใช้ราคาที่นายปั่นซื้อมาคือ 200,000 บาท
ข้อ 3. นายขาวมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามปกตินายขาวสามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์และใช้เรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมานายขาวแบ่งที่ดินออกเป็นสามแปลงและขายให้นายดำ นายเขียว และนายเหลือง นายดำซื้อแปลงที่ไม่มีทางเข้าออกโดยรถยนต์ แต่เข้าออกโดยใช้เรือข้ามฟากได้ทางเดียว
ดังนี้ ถ้านายดำจะขอทางออกเป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของนายเหลืองได้หรือไม่ และจะต้องเสียค่าทดแทนหรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาดรา 1349 วรรคแรก “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้’’
มาตรา 1350 “ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 1349 วรรคแรก หมายความว่า ที่ดินแปลงใดที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะก็ได้ ส่วนการจะนำบทบัญญัติมาตรา 1350 มาใช้บังคับได้ ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่ทั้งนี้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเท่านั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นสามแปลงแล้วขายให้นายดำ นายเขียวและนายเหลือง โดยนายดำได้ซื้อแปลงที่ไม่สามารถเข้าออกโดยรถยนต์แต่ใช้เรือข้ามฟากได้ทางเดียวนั้น ที่ดินของนายดำจึงยังไม่เข้าลักษณะที่ดินตาบอดที่จะเป็นเหตุให้ขอทางจำเป็นตามมาตรา 1349 วรรคแรกได้เพราะยังสามารถใช้ทางสาธารณะได้ ดังนั้น หากจะขอใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350
แต่อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ที่สำคัญตามมาตรา 1350 ประการหนึ่งมีว่า เมื่อมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินกันแล้วจะต้องทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินกันแล้ว นายดำยังคงสามารถใช้ทางสาธารณะทางน้ำ (เรือ) เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของตนได้อยู่ จึงไม่ถือว่าที่ดินของนายดำมีสภาพที่ถูกปิดล้อมจนไม่สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การขอทางจำเป็นตามมาตรา 1350 ดังนั้น นายดำจึงไม่มีสิทธิที่จะขอทางออกเป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของนายเหลือง และเมื่อนายดำไม่มีสิทธิขอทางจำเป็น จึงไม่ต้องพิจารณาเรื่องค่าทดแทนอีกต่อไป
สรุป
นายดำจะขอทางออกเป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของนายเหลืองไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีตามมาตรา 1349 หรือมาตรา 1350 โดยไม่ต้องพิจารณาเรื่องค่าทดแทน
ข้อ 4. นายเอกได้ใช้ทางเดินบนที่ดินมือเปล่าของนายโทโดยถือวิสาสะอันเป็นการเอื้อเฟื้ออาทรฉันญาติพี่น้องเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะเป็นระยะเวลานานถึง 4 ปี ภายหลังต่อมานายเอกและนายโทได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง นายโทจึงห้ามมิให้นายเอกใช้ทางเดินบนที่ดินของตนอีกต่อไปแต่นายเอกก็ยังคงใช้ทางเดินดังกล่าวเรื่อยมาอีก 6 ปี ติดต่อกัน ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเอกได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความบนที่ดินของนายโทหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกับเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
มาตรา 1401 “ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
วินิจฉัย
การได้ภาระจำยอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1401 นั้น บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้เดิมนายเอกจะได้ใช้ทางเดินบนที่ดินของนายโทโดยถือวิสาสะฉันญาติ
พี่น้องเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะเป็นระยะเวลานานถึง 4 ปีก็ตาม แต่เมื่อภายหลังต่อมานายเอกได้ใช้ทางเดินบนที่ดินดังกล่าวโดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาเพียง 6 ปี ดังนั้นนายเอกจึงไม่ได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความบนที่ดินของนายโท (ตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382)
สรุป
นายเอกไม่ได้สิทธิภาระจำยอมบนที่ดินของนายโทโดยอายุความ