การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายแดงสร้างบ้านลงบนที่ดินของนายแดงเองโดยมิได้ทำการรังวัดสอบเขต เมื่อสร้างเสร็จพบว่าระเบียงบ้านชั้นบนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของนายขาวแปลงติดกันประมาณ 1 เมตรตลอดแนวของระเบียง ต่อมานายแดงขายบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายเหลือง นายขาวจึงฟ้องให้นายเหลืองรื้อระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำเสีย ดังนี้ นายเหลืองจะต้องรื้อถอนระเบียงบ้านหรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1312 บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้
ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 1312 การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นของบุคคลอื่นโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นภายหลังจึงรู้ความจริง ย่อมถือว่าเป็นการก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริต แต่อย่างไรก็ตาม หากความไม่รู้ดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ก่อสร้าง กฎหมายให้ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยไม่สุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงสร้างบ้านลงในที่ดินของนายแดงเองโดยไม่ได้รังวัดสอบเขตนั้น ถือเป็นกรณีที่นายแดงประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบเขตที่ดินให้ดีเสียก่อนที่จะทำการปลูกสร้าง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าหลังจากสร้างเสร็จ ระเบียงบ้านชั้นบนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของนายขาว การกระทำของนายแดงจึงเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต ตามมาตรา 1312 วรรคสอง ดังนั้นนายแดงจึงต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของนายขาว
และเมื่อปรากฏว่า ต่อมานายแดงได้ขายบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเหลือง นายเหลืองผู้รับโอนจึงต้องรับมาทั้งสิทธิ์และหน้าที่ของนายแดงด้วย ดังนั้น เมื่อนายขาวเจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำได้ฟ้องให้นายเหลืองรื้อระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำเสีย นายเหลืองจึงต้องรื้อถอนระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำออกตามมาตรา 1312 วรรคสอง
สรุป นายเหลืองจะต้องรื้อถอนระเบียงบ้านส่วนที่รุกล้ำนั้น
ข้อ 2 นายเมืองทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมหอพักให้กับบุตรชายของตนสามคน โดยยกให้นายกรุงมีกรรมสิทธิ์สองส่วน นายเขตและนายแขวงคนละหนึ่งส่วน หลังจากนายเมืองถึงแก่ความตาย ทายาททั้งสามตกลงจะยังไม่แบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น โดยจะดำเนินกิจการหอพักต่อไปสำหรับค่าเช่าที่เก็บได้ตกลงแบ่งคนละเท่าๆกัน ต่อมาเกิดน้ำท่วมหอพักได้รับความเสียหาย
นายเขตได้จัดการซ่อมแซมหอพักเสียค่าใช้จ่ายไป 100,000 บาท จึงเรียกให้นายกรุงช่วยออกเงินค่าซ่อมหอพัก 50,000 บาท และนายแขวงออกเงิน 25,000 บาท แต่นายกรุงไม่ยอม โดยอ้างว่าค่าเช่าที่ได้รับก็เท่าๆกัน ดังนั้นหนี้ค่าซ่อมแซมก็ควรจะรับผิดชอบเท่าๆกันด้วย ส่วนนายแขวงก็ยังไม่ยอมชำระเช่นกัน นายกรุง นายเขต และนายแขวงจึงตกลงที่จะขายที่ดินพร้อมหอพัก
แล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนที่ตนเป็นเจ้าของ ดังนี้ นายเขตจะเรียกให้เอาเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ค่าซ่อมหอพักที่นายเขตออกไปก่อนแล้วค่อยแบ่งเงินกันตามส่วนได้หรือไม่ และนายกรุงกับนายแขวงจะต้องร่วมรับผิดชอบค่าซ่อมแซมจำนวนคนละเท่าใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1360 วรรคสอง ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น
มาตรา 1362 เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามส่วนของตนในการออกค่าจัดการ ค่าภาษีอากร และค่ารักษากับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย
มาตรา 1365 วรรคสอง ถ้าเจ้าของรวมคนหนึ่งต้องรับผิดต่อเจ้าของรวมคนอื่นในหนี้ซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของรวม หรือในหนี้ซึ่งได้ก่อขึ้นใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมดังว่านั้นก็ดี ในเวลาแบ่ง เจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ของตนในทรัพย์สินรวมนั้นชำระหนี้เสียก่อน หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมืองทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมหอพักให้กับบุตรชายของตนทั้งสามคน คือ นายกรุง นายเขต และนายแขวงนั้น บุตรทั้งสามคนย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและหอพัก โดยนายกรุงมีกรรมสิทธิ์สองส่วน นายเขตและนายแขวงมีกรรมสิทธิ์คนละหนึ่งส่วน สำหรับค่าเช่าหอพักซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคสอง เพียงให้ข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าของรวมคนหนึ่งๆมีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สิน แต่เจ้าของรวมสามารถตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อนายกรุง นายเขต และนายแขวงตกลงให้แบ่งค่าเช่าหอพักคนละเท่าๆกัน ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงของผู้ทรงกรรมสิทธิ์รวมนั้น
และเมื่อปรากฏว่า ต่อมาน้ำท่วมหอพักได้รับความเสียหาย และนายเขตได้จัดการซ่อมแซมหอพักเสียค่าใช้จ่ายไป 100,000 บาท ซึ่งตามมาตรา 1362 กำหนดไว้ว่า เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จำต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่นๆตามส่วนของตนในการออกค่ารักษาทรัพย์สิน ดังนั้น เมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่นจึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย กล่าวคือ นายกรุง นายเขต และนายแขวงจะต้องออกค่ารักษาทรัพย์สินตามส่วนของตน เมื่อนายกรุงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมสองส่วน ก็ต้องออกเงินค่ารักษาทรัพย์สิน 50,000 บาท ส่วนนายเขตและนายแขวงมีคนละหนึ่งส่วน ต้องออกเงินคนละ 25,000 บาท
และการที่นายกรุง นายเขต และนายแขวง ตกลงที่จะขายที่ดินพร้อมหอพัก แล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนที่ตนเป็นเจ้าของนั้น นายเขตย่อมสามารถเรียกร้องให้เอาเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ค่าซ่อมหอพักให้แก่ตนตามส่วนที่นายกรุงกับนายแขวงจะต้องรับผิดชอบ แล้วจึงค่อยเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันตามส่วนได้ เพราะเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของรวมอื่นๆ ในหนี้ซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของรวม ซึ่งในเวลาแบ่งเจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ของตนในทรัพย์สินรวมนั้นชำระเสียก่อนได้ ตามมาตรา 1365 วรรคสอง โดยกรณีนี้นายกรุงจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าซ่อมแซมหอพักให้แก่นายเขตจำนวน 50,000 บาท และนายแขวงต้องชดใช้จำนวน 25,000 บาท
สรุป นายเขตจะเรียกให้เอาเงินที่ขายได้มาชำระค่าซ่อมแซมหอพักที่นายเขตออกไปก่อน แล้วค่อยแบ่งเงินกันตามส่วนได้ และนายกรุงกับนายแขวงจะต้องร่วมรับผิดชอบค่าซ่อมแซมหอพักให้แก่นายเขต โดยนายกรุงจะต้องออกเงิน 50,000 บาท ส่วนนายแขวงต้องออกเงิน 25,000 บาท
ข้อ 3 น้ำแบ่งขายที่ดินของน้ำให้ฟ้าโดยทั้งน้ำและฟ้าตกลงให้ที่ดินของฟ้ามีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินแปลงของน้ำในส่วนที่เหลือ แต่ไม่ได้จดทะเบียนการได้มา เมื่อฟ้าซื้อที่ดินจากน้ำมาแล้ว ได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนั้น แทนที่จะเดินในทางที่ตกลงไว้กับน้ำ
ฟ้ากลับใช้ทางผ่านในส่วนอื่นของที่ดินของน้ำ โดยไม่บอกน้ำและยังทำถนนคอนกรีตเพื่อให้รถยนต์เข้าออก นอกจากนั้นฟ้ายังเข้ามาในที่ดินของน้ำโดยเข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำทุกวันด้วย ฟ้าได้ทำเช่นนี้ตลอดกว่าสิบปีโดยน้ำไม่ทราบ เมื่อน้ำทราบจึงได้มาห้ามและบอกให้ฟ้าเลิกใช้ถนนที่ฟ้าสร้างให้มาใช้ถนนเส้นที่ตกลงเดิม และเลิกเข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำ ฟ้าตกลงเลิกทิ้งขยะ แต่ถนนฟ้าไม่ยอมเพราะถนนที่ตนสร้างสะดวกสบายกว่า แต่พอผ่านมาได้สามเดือนฟ้าได้เข้าทิ้งขยะในที่ดินของน้ำอีก คราวนี้น้ำทนไม่ไหว หนึ่งเดือนหลังจากนั้น น้ำจึงได้ฟ้องต่อศาลให้ฟ้าเลิกทิ้งขยะและรื้อถนนที่ฟ้าสร้างออกไป
ให้ท่านวินิจฉัยถึงสิทธิของฟ้าในถนนที่ฟ้าสร้าง และการทิ้งขยะในที่ดินของน้ำ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1374 ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับสิทธิของฟ้าในถนนที่ฟ้าสร้าง
การที่น้ำแบ่งขายที่ดินของน้ำให้ฟ้า และตกลงให้ฟ้ามีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินแปลงของน้ำในส่วนที่เหลือนั้น ถือว่าฟ้าได้ภาระจำยอมโดยทางนิติกรรม และแม้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มาก็สามารถใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณี แต่เมื่อฟ้าซื้อที่ดินจากน้ำมาแล้วและได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนั้น แทนที่จะเดินเข้าออกในทางที่ตกลงไว้กับน้ำ กลับใช้ทางผ่านในส่วนอื่นของที่ดินของน้ำโดยไม่บอกน้ำ และยังทำถนนคอนกรีตเพื่อให้รถยนต์เข้าออกจนครบกำหนด 10 ปี โดยที่น้ำไม่ทราบ กรณีนี้จึงถือได้ว่าฟ้าซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ (ที่ดินของน้ำ) โดยสงบและโดยเปิดเผย และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์นั้น ดังนั้นฟ้าย่อมได้ภาระจำยอมในถนนที่ฟ้าสร้างโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ประกอบมาตรา 1401 และน้ำซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์จะฟ้องให้ฟ้ารื้อถนนที่ฟ้าสร้างออกไปไม่ได้ ตามมาตรา 1387
ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการทิ้งขยะของฟ้าในที่ดินของน้ำ
การที่ฟ้าได้นำขยะมาทิ้งในที่ดินของน้ำทุกวันนั้น ถือว่าน้ำผู้ครอบคอรงที่ดินถูกฟ้ารบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย น้ำจึงมีสิทธิบอกห้ามและให้ฟ้าเลิกเข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำได้ตามมาตรา 1374 วรรคแรก และเมื่อฟ้าตกลงเลิกทิ้งขยะแล้ว การรบกวนการครอบครองย่อมระงับไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่า พอผ่านมาได้สามเดือนฟ้าได้เข้ามาทิ้งขยะในที่ดินของน้ำอีก จึงถือว่าน้ำได้ถูกรบกวนการครอบครองอีก ดังนั้นน้ำจึงมีสิทธิฟ้องเป็นคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งห้ามไม่ให้ฟ้านำขยะเข้ามาทิ้งในที่ดินของน้ำได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ถูกรบกวนตามมาตรา 1374 วรรคสอง และตามข้อเท็จจริงน้ำได้ฟ้องคดีต่อศาลหลังจากถูกฟ้ากระทำการดังกล่าวได้หนึ่งเดือน ดังนั้นน้ำจึงสามารถฟ้องศาลเพื่อสั่งให้ฟ้าเลิกทิ้งขยะในที่ดินของน้ำตามมาตรา 1374 ได้
สรุป ฟ้าได้ภาระจำยอมในถนนที่ฟ้าสร้างโดยการครอบครองปรปักษ์ น้ำจะฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ฟ้ารื้อถนนที่ฟ้าสร้างออกไปไม่ได้ แต่น้ำสามารถฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ฟ้าเลิกทิ้งขยะในที่ดินของน้ำได้
ข้อ 4 แสงทำนาบนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโสม โดยที่แสงเข้าในผิดคิดว่าเป็นที่ดินที่ซื้อมาจากสอง และใช้ทางผ่านที่ดินสี่แปลงเพื่อเข้าไปทำนาบนที่ดินของโสมแปลงนั้น ที่ดินแปลงแรกที่เดินผ่านเป็นของสี แปลงที่สองเป็นของสวย แปลงที่สามเป็นที่ดินซึ่งเตรียมไว้สร้างโรงพยาบาลของรัฐแต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง แปลงที่สี่เป็นที่ดินของสด แสงใช้ทางผ่านที่ดินของสี ของสวย ที่ดินของโรงพยาบาล และที่ดินของสดมาตลอดสิบกว่าปีแล้ว ต่อมาจังหวัดได้เข้ามาก่อสร้างโรงพยาบาล ตอนก่อสร้างอยู่หนึ่งปีกว่า แสงต้องไปใช้ทางอื่นผ่านเข้าไปทำนาบนที่ดินแปลงที่แสงครอบครอง เมื่อสร้างโรงพยาบาลเสร็จ แสงกลับมาใช้ทางผ่านทางเดิมของสี ของสวย ผ่านที่ดินของโรงพยาบาล และที่ดินของสดอีก สดห้ามไม่ให้แสงใช้ทางผ่านที่ดินของตน เพราะว่าภาระจำยอมในที่ดินมือเปล่าที่ผ่านที่ดินของสดได้สิ้นไปแล้ว ให้ท่านอธิบายกับแสงถึงสิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสี่แปลง ว่าแสงมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด และที่ดินของโสมที่แสงเข้าไปครอบครองทำนา โสมฟ้องศาลเรียกคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1399 ภาระจำยอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ
แสงมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิอย่างไรบ้างที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสี่แปลง เห็นว่า การที่แสงทำนาบนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโสม โดยที่แสงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นที่ดินของตนที่ซื้อมาจากสองนั้น ถือเป็นกรณีที่แสงยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ดังนั้นแสงจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินของโสมตามมาตรา 1367
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า แสงใช้ทางผ่านที่ดินสี่แปลงเพื่อเข้าไปทำนาบนที่ดินของโสม โดยที่ดินแปลงแรกเป็นของสี แปลงที่สองเป็นของสวย แปลงที่สามเป็นที่ดินซึ่งเตรียมไว้สร้างโรงพยาบาลของรัฐ แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง แปลงที่สี่เป็นที่ดินของสด ดังนี้ การที่แสงใช้ทางผ่านที่ดินแปลงแรก แปลงที่สอง และแปลงที่สี่นั้น ย่อมถือว่าแสงผู้ครอบครองสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์แล้ว เมื่อแสงเดินผ่านที่ดินทั้งสามแปลงมาตลอด 10 ปีกว่าแล้ว ย่อมทำให้แสงได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินของสี ของสวย และของสดตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 และ 1387 ส่วนที่ดินแปลงที่สาม ซึ่งเตรียมสร้างโรงพยาบาลซึ่งเป็นของรัฐนั้นถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ ดังนั้นแม้แสงจะใช้เป็นทางเดินผ่านนานเท่าใดก็ย่อมไม่ได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ และรัฐย่อมมีสิทธิฟ้องไม่ให้แสงใช้ทางผ่านที่ดินได้
และเมื่อปรากฏว่า ต่อมาจังหวัดได้เข้ามาก่อสร้างโรงพยาบาล โดยใช้เวลาก่อสร้างอยู่หนึ่งปีกว่า และแสงต้องไปใช้ทางอื่นผ่านเข้าไปทำนาบนที่ดินแปลงที่แสงครอบครอง ซึ่งเมื่อสร้างโรงพยาบาลเสร็จแสงก็กลับมาใช้ทางผ่านทางเดิมของสี ของสวย ผ่านที่ดินของโรงพยาบาล และที่ดินของสดอีกนั้น กรณีนี้ยังไม่ถือว่า ภาระจำยอมบนที่ดินทั้งสามแปลงของสี ของสวย และของสดนั้น สิ้นไปแต่อย่างใด เพราะตามมาตรา 1399 นั้นได้กำหนดไว้ว่า ภาระจำยอมจะสิ้นไปโดยระยะเวลา ก็ต่อเมื่อมิได้มีการใช้ตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ดังนั้น แสงจึงมีสิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสามแปลง สดจะห้ามไม่ไห้แสงใช้ทางผ่านที่ดินของตนไม่ได้
ประเด็นที่สอง ที่ต้องวินิจฉัยคือ
ที่ดินของโสมที่แสงเข้าไปครอบครองทำนา โสมฟ้องศาลเรียกคืนได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามข้อเท็จจริงโสมจะถูกแสงแย่งการครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1375 วรรคแรก อันทำให้โสมผู้ครอบครองที่ดินมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินจากแสงได้ก็ตาม แต่การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึงการครอบครองนั้น มาตรา 1375 วรรคสอง กำหนดว่าจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ดังนั้น เมื่อระยะเวลานับแต่วันที่แสงแย่งการครอบครองที่ดินมาจากโสมนั้น ล่วงเวลามาเกินหนึ่งปีแล้ว โสมจึงฟ้องเรียกคืนไม่ได้
สรุป แสงมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิอย่างไรบ้างที่จะใช้ทางผ่านที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น และที่ดินของโสมที่แสงเข้าไปครอบครองทำนา โสมจะฟ้องศาลเรียกคืนไม่ได้