การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นกเข้าครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของไก่เกินกว่าสิบปีแล้ว แต่นกไม่รู้ว่าจะต้องไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ต่อมาไก่ถึงแก่ความตายและหลังจากเป็ดบุตรของไก่จดทะเบียนรับมรดกที่ดินนั้นแล้ว
จึงรู้ว่านกครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าว เป็ดจึงบอกขายที่ดินนั้นให้แมว ก่อนทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แมวไปดูที่ดินจึงรู้ว่านกครอบครองที่ดินนั้นอยู่ แต่เป็ดบอกกับแมวว่านกเป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน และจะดำเนินการให้นกออกไปจากที่ดินนั้นทันทีหลังจากจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว
โดยแมวไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงจากนก ประกอบกับแมวเห็นว่าชื่อในโฉนดเป็นชื่อของเป็ด จึงทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อที่ดินแปลงนั้น ดังนี้ นกจะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ระหว่างเป็ดกับแมวได้หรือไม่ และผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1299 วรรคสอง ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
มาตรา 1300 ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นกเข้าครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของไก่เกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 อันถือเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านกไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นกจึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นกมิสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้
ต่อมาเมื่อไก่ถึงแก่ความตาย เป็ดบุตรของไก่ได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้น ซึ่งถือเป็นการรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของไก่ อันเป็นการรับทรัพย์มรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดก โดยทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่างๆของเจ้ามรดก เป็ดผู้สืบสิทธิของไก่จึงไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นโดยมีค่าตอบแทน ดังนั้น ระหว่างนกกับเป็ด นกจึงยังเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดีกว่าเป็ด
ส่วนการที่เป็ดขายที่ดินแปลงนั้นให้แมวในเวลาต่อมานั้น เมื่อปรากฏว่าก่อนทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน แมวได้ไปดูที่ดินและรู้ว่านกครอบครองที่ดินแปลงนั้นอยู่ แต่ไม่สอบถามข้อเท็จจริงจากนก ทั้งที่สามารถสอบถามได้ แมวจึงเป็นบุคคลภายนอกที่ได้สิทธิในที่ดินนั้นมาโดยไม่สุจริต ดังนั้น นกจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าแมว และสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างเป็ดกับแมวได้ เพราะการจดทะเบียนนั้นทำให้นกซึ่งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนต้องเสียเปรียบ ตามมาตรา 1300
สรุป นกเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าแมว และสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างเป็ดกับแมวได้
ข้อ 2 เอกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจำนวน 20 ไร่ เอกได้แบ่งขายให้โท 5 ไร่ โดยการซื้อขายทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนถูกต้องตามหลักกฎหมาย แต่ที่ดินที่แบ่งขายนี้เป็นที่ไม่มีทางออกสู่สาธารณะทางบกเพราะมีที่ดินของเอก ตรี และจัตวาล้อมรอบอยู่ อย่างไรก็ดีโทยังสามารถเข้าออกด้วยเรือได้เพราะด้านหนึ่งอยู่ติดคลองสาธารณะที่ใช้เรือข้ามฟากไปมา ต่อมาโทต้องการใช้ทางเข้าออกเป็นถนนผ่านบนที่ดินของตรี ดังนี้ โทมีสิทธิทำได้หรือไม่ โดยใช้หลักกฎหมายเรื่องทางจำเป็น จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1349 ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชัน อันมีระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้
ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้
วินิจฉัย
ในเรื่องทางจำเป็นตามมาตรา 1349 กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ที่ดินแปลงใดถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมอยู่จนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งทางสาธารณะดังกล่าวนอกจากจะหมายถึงทางสาธารณะทางบกแล้ว ให้หมายความรวมถึงทางสาธารณะทางน้ำด้วย เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ในกรณีที่ที่ดินแปลงใดไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะทางบก แต่หากเจ้าของที่ดินยังสามารถใช้ทางน้ำสัญจรออกไปสู่ทางสาธารณะได้ เช่น อยู่ติดกับแม่น้ำหรือติดกับคลองสาธารณะ ดังนี้ เจ้าของที่ดินจะอ้างขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไม่ได้ เพราะถือว่ามีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว
กรณีตามอุทาหรณ์ ที่ดินที่เอกแบ่งขายให้โทนั้น แม้จะไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะทางบก แต่โทก็ยังสามารถใช้ทางน้ำสัญจรไปมาได้ เพราะที่ดินด้านหนึ่งอยู่ติดกับคลองสาธารณะ ดังนั้น ที่ดินที่โทซื้อมาจึงไม่เข้าลักษณะที่ดินตาบอดจนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โทจึงไม่มีสิทธิขอทางผ่านบนที่ดินของตรี โดยใช้หลักกฎหมายเรื่องทางจำเป็น
สรุป โทไม่มีสิทธิใช้ทางเข้าออกเป็นถนนผ่านบนที่ดินของตรี โดยใช้หลักกฎหมายเรื่องทางจำเป็น
ข้อ 3 นายชุ่มได้เข้าไปทำประโยชน์และปลูกบ้านอาศัยบนที่ดินมือเปล่าของนายชั้นแปลงหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานรังวัดสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิบนที่ดินแปลงนั้น เจ้าพนักงานได้เดินพิสูจน์การครอบครอง
นายชุ่มได้แจ้งการครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อเจ้าพนักงาน นายชั้นนำเอกสารการกู้ยืมเงินระหว่างนายชั้นกับนายชอบซึ่งเป็นลูกหนี้นายชั้น และเอกสารเป็นหนังสือมีข้อความที่นายชอบตกลงนำที่ดินแปลงที่นายชุ่มทำประโยชน์
ตีใช้หนี้เงินกู้ที่นายชอบเป็นหนี้นายชั้น ลงชื่อนายชั้นกับนายชอบ นายชั้นจึงกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิบนที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชุ่ม เจ้าพนักงานจึงแจ้งให้นายชั้นไปฟ้องร้องต่อศาล และหลังจากที่นายชั้นได้คัดค้านได้ยังไม่ครบหนึ่งปี นายชั้นสามารถฟ้องเอาคืนการครอบครองจากนายชุ่มได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้นักศึกษาอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ครอบครองมีสิทธิฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้ ตามมาตรา 1375
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชุ่มได้เข้าไปทำประโยชน์และปลูกบ้านอาศัยบนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งนั้น นายชุ่มย่อมมีและได้สิทธิครอบครองบนที่ดินแปลงดังกล่าวตามมาตรา 1367
ตามข้อเท็จจริง เมื่อเจ้าพนักงานได้รังวัดสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิบนที่ดินแปลงนั้น นายชุ่มได้แจ้งการครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อเจ้าพนักงาน ปรากฏว่านายชั้นได้นำเอกสารการกู้ยืมเงินระหว่างนายชั้นกับนายชอบซึ่งเป็นลูกหนี้นายชั้นมาอ้างว่านายชอบตกลงนำที่ดินแปลงที่นายชุ่มทำประโยชน์ตีใช้หนี้เงินกู้ที่นายชอบเป็นหนี้นายชั้น ตนจึงมีสิทธิบนที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชุ่ม ดังนี้ นายชั้นจะกล่าวอ้างไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายชอบได้ครอบครองใช้ประโยชน์บนที่ดินแปลงนั้นอันจะทำให้นายชอบได้สิทธิครอบครองแต่อย่างใด และเมื่อนายชอบไม่มีสิทธิใดๆบนที่ดินแปลงนั้น ย่อมทำให้นายชั้นผู้กล่าวอ้างไม่มีสิทธิตามไปด้วย
เมื่อปรากฏว่านายชั้นไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ย่อมถือไม่ได้ว่านายชุ่มได้แย่งการครอบครองไปจากนายชั้น ดังนั้น นายชั้นจะฟ้องเอาคืนการครอบครองจากนายชุ่มตามมาตรา 1375 ไม่ได้
สรุป นายชั้นจะฟ้องเอาคืนการครอบครองจากนายชุ่มไม่ได้
ข้อ 4 นายดำอาศัยบ้านและที่ดินของนายแดงอยู่ แต่ที่ดินของนายแดงแปลงนั้นไม่มีที่ออกสู่ทางสาธารณะ นายดำจึงได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวออกประจำ โดยนายขาวไม่เคยทราบมาก่อน นายดำอาศัยบ้านและที่ดินของนายแดงและใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวตลอดมาได้ห้าปี นายดำตาย นายฟ้าบุตรของนายดำจึงได้ขอนายแดงอาศัยที่ดินแปลงนั้นต่อ นายแดงยินยอม นายฟ้าจึงยังคงใช้ที่ดินของนายขาวแปลงนั้นเข้าออกเหมือนเมื่อสมัยบิดาอาศัยอยู่ต่อมาอีกหกปี นายขาวจึงได้มาห้ามไม่ให้นายฟ้าใช้ทางผ่านที่ดินแปลงนั้นของนายขาวอีกต่อไป ถ้าจะใช้ทางผ่านต้องจ่ายค่าใช้ทางเป็นรายปี ปีละ 5,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายขาวจะห้ามไม่ให้นายฟ้าผ่านที่ดินของนายขาวต่อไปได้หรือไม่ และถ้านายฟ้าจะใช้ทางนั้นต่อไป นายฟ้าจะต้องจ่ายค่าใช้ทางตามที่นายขาวต้องการหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
วินิจฉัย
การได้ภาระจำยอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 นั้น บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
ตามอุทาหรณ์ การที่นายดำอาศัยบ้านและที่ดินของนายแดงอยู่ และได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวเข้าออกประจำ โดยนายขาวไม่เคยทราบมาก่อนนั้น ย่อมถือว่านายดำครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมแล้ว โดยการใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ คือที่ดินของนายขาวโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาจะได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว ทั้งนี้เพราะภาระจำยอมย่อมมีเพื่อประโยชน์ของสามานยทรัพย์ ใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในสามานยทรัพย์ก็สามารถครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมได้
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายดำได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวตลอดมาได้ 5 ปี นายดำก็ถึงแก่ความตาย เช่นนี้ ย่อมทำให้นายฟ้าบุตรของนายดำรับโอนมาซึ่งสิทธิและความรับผิดต่างๆของนายดำ ตามมาตรา 1600 ซึ่งรวมถึงสิทธิในภาระจำยอมดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฟ้าได้ขอนายแดงอาศัยที่ดินแปลงนั้นต่อและได้ใช้ที่ดินของนายขาวแปลงนั้นเข้าออกเสมือนสมัยบิดาอาศัยอยู่ต่อมาอีก 6 ปี ซึ่งเมื่อรวมเวลาการใช้ทางผ่านที่ดินของนายขาวของทั้งนายฟ้าและนายดำบิดาของนายฟ้าแล้ว จะได้ 11 ปี ซึ่งถือว่าเกิน 10 ปีแล้ว ย่อมทำให้นายฟ้าได้ภาระจำยอมโดยอายุความปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 มาตรา 1387 และมาตรา 1401 ดังนั้น นายขาวจะห้ามไม่ให้นายฟ้าผ่านที่ดินของนายขาวต่อไปไม่ได้ และถ้านายฟ้าจะใช้ทางนั้นต่อไป นายฟ้าก็ไม่ต้องจ่ายค่าใช้ทางตามที่นายขาวต้องการ
สรุป นายขาวจะห้ามไม่ให้นายฟ้าผ่านที่ดินของนายขาวต่อไปไม่ได้ และถ้านายฟ้าจะใช้ทางนั้นต่อไป นายฟ้าก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าใช้ทางตามที่นายขาวต้องการได้