การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1004 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป
คำสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 120 ข้อ)
1. ระบบกฎหมายใดที่คำพิพากษาของศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย และศาลจะไม่บังคับใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนหรือเคลือบแคลงสงสัย
(1) ระบบคอมมอน ลอว์ (Commom Law)
(2) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)
(3) ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law)
(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law)
ตอบ 1 หน้า 22,25 ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ หรือระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่เกิดจากจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาล กล่าวคือ เมื่อมีคดีใดเกิดขั้น และศาลได้พิพากษาคดีนั้นไปแล้ว คำพิพากษาของศาลย่อมถือเป็นบรรทัดฐานในการใช้วินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้นอย่างเดียวกันได้ในภายหลังอีก แต่ทั้งนี้คงมีบางเรื่องที่ได้มีการบัญญัติกฎหมายเอาไว้ ซึ่งถ้ากฎหมายนั้นบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ศาลก็ต้องนำมาบังคับใช้แก่คดี แต่ถ้ากฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นมีถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน หรือเคลือบแคลงสงสัย ศาลจะไม่นำมาบังคับใช้
2. กฎหมายโรมันเป็นรากฐานของระบบกฎหมายใด
(1) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี
(2) ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
(3) ระบบคอนมอน ลอว์ (Common Law)
(4) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)
ตอบ 4 หน้า 21-22, (คำบรรยาย) ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายโรมัน เนื่องมาจากในสมัยพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม (สมัยโรมัน) ได้ทรงรวบรวมเอากฎหมายประเพณีซึ่งบันทึกไว้ในกฎหมายสิบสองโต๊ะและหลักกฎหมายของนักนิติศาสตร์ นำมาบันทึกไว้ในประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน ซึ่งถือเป็นรากฐานในการจัดทำประมวลกฎหมายของกฎหมายระบบซีวิล วอล์
3. นักกฎหมายชาวต่างประเทศชาติใดมีบทบาทในการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย
(1) ประเทศฝรั่งเศส
(2) ประเทศเยอรมัน
(3) ประเทศอิตาลี
(4) ประเทศญี่ปุ่น
ตอบ 1 หน้า 23-24 ประเทศไทยรับหลักกฎหมายและหลักปฏิบัติของอังกฤษเข้ามาใช้บังคับในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปลายรัชกาลที่ 6จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบของกฎหมายไทย โดยรัฐได้ตัดสินใจทำประมวลกฎหมายขึ้นคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ 1 และบรรพที่ 2 ซึ่งร่างโดยที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสและได้ประกาศใช้เป็นเวลา 2 ปี จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนจากการใช้ประมวลกฎหมายตามอย่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาใช้ประมวลกฎหมายแบบเยอรมัน
4. ระบบกฎหมายใดศาลปฏิเสธที่จะไม่นำจารีตประเพณีท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย
(1) ระบบคอมมอน ลอว์ (Common Law)
(2) ระบบซีวิล ลอว์ (Civil Law)
(3) ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law)
(4) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law)
ตอบ 1 หน้า 25,93-94 การที่ศาลนำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายนั้นเป็นวิธีอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทย และเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายซีวิล ลอว์ ส่วนในกฎหมายระบบคอมมอน ลอว์นั้น ศาลจะไม่นำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย เนื่องจากระบบนี้ไม่นำหลักการเทียบเคียงกฎหมายหรือนำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่จะตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด
5. วิวัฒนาการของกฎหมายยุคใดที่ศีลธรรมและจารีตประเพณีไม่ได้แยกกันเด็ดขาด หากแต่กฎหมายศีลธรรม และจารีตประเพณีเป็นเรื่องเดียวกัน
(1) ยุดกฎหมายประเพณี
(2) ยุคกฎหมายชาวบ้าน
(3) ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย
(4) ยุคกฎหมายเทคนิค
ตอบ 2 หน้า 8 ยุคกฎหมายชาวบ้าน เป็นยุคที่กฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติที่ออกมาในรูปของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่มีอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากศีลธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของมนุษย์ว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วจะรู้สึกว่าเป็นความผิด ดังนั้นในยุคนี้มนุษย์จึงยังไม่สามารถแยกได้ว่าศีลธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี และกฎหมายแตกต่างกันอย่างไร กล่าวคือ กฎหมาย ศีลธรรม และจารีตประเพณี ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง
6. ข้อใดไม่ใช่การมีส่วนร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
(1) การทำประชามติขับไล่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
(2) การเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติตำบล
(3) การเข้าชื่อถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
(4) การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
ตอบ 1 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 286 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้, มาตรา 285 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง, มาตรา165 การทำประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้และมาตรา 72 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
7. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ
(1) ใช้กำหนดงบประมาณของแผ่นดินเท่านั้น
(2) เป็นกฎหมายนิติบัญญัติโดยแท้
(3) มีผลบังคับใช้เมื่อผ่านความเห็นของรัฐสภา
(4) มีเนื้อหาใดก็ได้
ตอบ 2 หน้า 28-32 พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยผ่านนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายนิติบัญญัติโดยแท้ โดยผู้ที่มีอำนาจตรา คือ พระมหากษัตริย์ และมีนายกรัฐมาตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีผลใช้บังคับเมื่อประกาศให้ประชาชนทราบแล้วในราชกิจจานุเบกษา
8. ผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในพระราชบัญญัติ ได้แก่
(1) นายกรัฐมนตรี
(2) ประธานรัฐสภา
(3) ประธานองคมนตรี
(4) ประธานวุฒิสภา
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 7 ประกอบ
9. เรื่องใดต้องตราเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
(1) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ
(2) ศาลรัฐธรรมนูญ
(3) การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย
(4) การเสนอขอประชามติ
ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 138 บัญญัติว่า “ให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ …(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” และมาตรา 165 วรรคแรกและวรรคท้ายบัญญัติว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ… หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ…” (สำหรับข้อ (1) (2) และ (3) นั้น มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว)
10. กฎหมายใดแม้พระมหากษัตริย์จะทรงลงประปรมาภิไธยแล้วแต่รัฐสภาอาจไม่อนุมัติให้ใช้มีผลบังคับต่อไปได้
(1) พระราชบัญญัติ
(2) พระราชกำหนด
(3) พระราชกฤษฎีกา
(4) พระบรมราชโองการ
ตอบ 2 หน้า 32-33,76 พระราชกำหนด คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี จึงถือเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยฝ่ายบริหาร โดยผู้เสนอร่างคือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนั้น ซึ่งการตราพระราชกำหนดนั้น จะต้องมีเงื่อนไขในการตรา กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงต้องนำขึ้นทูบเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายชั่วคราวก่อน จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะทำให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเสมือนเป็นพระราชบัญญัติต่อไป แต่ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดนั้นตกไปแต่ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
11. ข้อใดเป็นกฎหมายตามแบบพิธี
(1) พระราชบัญญัติ
(2) พระราชกำหนด
(3) พระราชกฤษฎีกา
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 40-41) กฎหมายตามแบบพิธี คือ กฎหมายที่ออกมาโดยวิธีบัญญัติกฎหมาย ทั้งนี้โดยมิได้คำนึงถึงว่ากฎหมายนั้นจะเข้าถึงลักษณะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือไม่ ซึ่งก็ได้แก่ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และกฎหมายกระทรวงต่างๆที่มิได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมความประพฤติของมนุษย์ และไม่ได้กำหนดโทษไว้ เช่น พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น
12. ประเทศไทยรับหลักระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ จากประเทศอังกฤษอย่างไร
(1) เนื่องจากมีนักกฎหมายที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก
(2) ศาลไทยนำมาปรับใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี
(3) เป็นกฎหมายต้นแบบที่ใช้ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(4) ความจำเป็นเพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ
ตอบ 1 หน้า 225-227 เนื่องมาจากในสมัยรัชการที่ 5 มีนักกฎหมายของไทยไปศึกษาต่อและจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำเอาหลักกฎหมายคอมมอน ลอว์ จากประเทศอังกฤษมาใช้สอนและนิพนธ์สำหรับตำรากฎหมายขึ้นมากมายรวมทั้งทรงวางรากฐานการปฏิรูประบบกฎหมายไทยด้วย
13. ข้อใดถูกต้องในการเรียงอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญาจากสูงสุดไปเบาสุด
(1) จำคุก ปรับ ริบทรัพย์สิน
(2) กักขัง ริบทรัพย์สิน ปรับ
(3) ริบทรัพย์สิน กักขัง ปรับ
(4) ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง
ตอบ 1 หน้า 16-17, (คำบรรยาย) สภาพบังคับของกฎหมายนั้น ถ้าเป็นกฎหมายอาญา สภาพบังคับก็คือโทษนั่นเอง ซึ่งเรียงจากหนักที่สุดไปเบาที่สุด ได้แก่ 1. ประหารชีวิต 2. จำคุก 3.กักขัง 4.ปรับ และ 5. ริบทรัพย์สิน ส่วนสภาพบังคับในทางกฎหมายแพ่ง ได้แก่ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือความเป็นโมฆะกรรม หรือโมฆียกรรม ซึ่งเป็นสภาพบังคับที่เป็นผลร้าย ส่วนสภาพบังคับที่เป็นผลดี เช่น การได้รับลดหย่อนภาษี เป็นต้น
14. ข้อใดเป็นเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับที่มาของหลักกฎหมายเรื่องอายุความ
(1) เป็นกฎหมายที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติเป็นเวลานาน
(2) เป็นเหตุผลที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
(3) เป็นกฎหมายที่ดีของบรรพบุรุษ
(4) เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยใช้เหตุผลทางกฎหมาย
ตอบ 4 หน้า 8-9 เนื่องจากกฎหมายในยุคแรกคือกฎหมายชาวบ้านหรือกฎหมายประเพณีมีไม่เพียงพอ ดังนั้นนักกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ 2 (ยุคนักกฎหมาย) จึงได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมกับกฎหมายประเพณี ซึ่งหลักกฎหมายของนักกฎหมายนี้จะเกิดจากการปรุงแต่งเหตุผลในทางกฎหมายที่เกิดจากความคิดในทางกฎหมายของตน เรียกว่า ใช้เหตุผลทางกฎหมาย (Juristic Reason) ดังนั้นการจะทำความเข้าใจจึงต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เท่านั้น ซึ่งกฎหมายของนักกฎหมายดังกล่าวที่ยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องสิทธิเรียกร้องขาดอายุความเรื่องการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น
15. เหตุผลสำคัญที่นักกฎหมายมีบทบาทการสร้างหลักกฎหมายในยุควิวัฒนาการกฎหมายของนักกฎหมาย
(1) ไม่มีจารีตประเพณีมาปรับใช้ได้
(2) จารีตประเพณีที่ใช้บังคับไม่เหมาะสม
(3) จารีตประเพณีที่ใช้บังคับอยู่ล้าสมัย
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 8-9, (คำบรรยาย) เนื่องจากสังคมมนุษย์มีขนาดใหญ่ขึ้น เจริญขึ้นและมีการพัฒนาไปมากพอสมควร ข้อพิพาทจึงเกิดขึ้นมากตามไปด้วย ดังนั้นการที่จะนำกฎหมายประเพณีหรือกฎหมายชาวบ้านมาปรับใช้จึงไม่เหมาะสม ไม่พอใช้บังคับกับชีวิตในสังคมที่เจริญแล้วกฎหมายของนักกฎหมายจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดในคดีซับซ้อน ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่เป็นการเสริมกฎเกณฑ์เก่า
16. องค์กรที่ไม่สามารถริเริ่มการเสนอร่างพระราชบัญญัติได้
(1) ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ
(2) คณะรัฐมนตรี
(3) นายกรัฐมนตรี
(4) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คน
ตอบ 3 หน้า 29 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 142,163 ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย (1) คณะรัฐมนตรี (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน (3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ (4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้…ถ้าร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) (3) หรือ (4) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
17. ข้อใดเป็นสภาพบังคับในทางกฎหมายแพ่ง
(1) ปรับ
(2) ริบทรัพย์สินของกลาง
(3) กักขังแทนค่าปรับ
(4) ค่าสินไหมทดแทน
ตอบ 4 ดูคำอธิบายข้อ 13.ประกอบ
18. การตรากฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหารต้องอาศัยอำนาจจากที่ใด
(1) พระราชบัญญัติ
(2) พระราชกฤษฎีกา
(3) ประกาศกระทรวง
(4) กฎกระทรวง
ตอบ 1 หน้า 33 กฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงนั้นสามารถตราขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด
19. ถ้าหาหลักกฎหมายทั่วไปในตัวบทลายลักษณ์อักษรมาปรับแก่คดีไม่ได้ ศาลจะหากฎหมายจากที่ไหนมาตัดสิน
(1) ศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาคดีได้
(2) ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
(3) ศาลนำหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติมาพิจารณาคดีได้
(4) ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ตอบ 3 หน้า 42 ในกรณีที่หาหลักกฎหมายทั่วไปมาปรับแก่คดีไม่ได้ ศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาคดีไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลต้องหาหลักกฎหมายทั่วไปจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติมาปรับแก่คดี ซึ่งได้แก่ ความเป็นธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ และจากหลักเหตุผลของเรื่อง
20. การกระทำโดยอาศัยข้อใดอาจยกเว้นความรับผิดทางอาญาได้
(1) จารีตประเพณีที่ยอมรับให้ทำได้
(2) หลักป้องกันตามกฎหมายอาญา
(3) หลักเอกสิทธิ์สมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 39,55-56 แม้ว่าการกระทำจะเข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามพระราชบัญญัติอื่น แต่ถ้ามีกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมายจารีตประเพณีในกระทำการนั้นๆ ได้แล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา เช่น การชกมวยแม้จะทำให้คู่ชกบาดเจ็บหรือตายก็ไม่เป็นความผิด (ป.อ. มาตรา 68) หรือหลักเอาเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 130 เป็นต้น
21. ผู้พิพากษาในศาลประเทศอังกฤษใช้กฎหมายใดในการวินิจฉัยคดี
(1) กฎหมายโรมัน
(2) คำพิพากษาของศาลที่เป็นบรรทัดฐาน
(3) กฎหมายสิบสองโต๊ะ
(4) ประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน
ตอบ 2 หน้า 22-23 กฎหมายคอมมอน ลอว์ (กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) เป็นกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นตัวบทกฎหมาย ดังนั้นบ่อเกิดของกฎหมายในระบบนี้จึงมาจากคำพิพากษาของศาล ซึ่งประเทศที่นิยมใช้กฎหมายระบบนี้ได้แก่ ประเทศอังกฤษ และเครือจักรภพอังกฤษ (ดูคำอธิบายข้อ 1. ประกอบ)
22. ลักษณะประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสเหมือนกับประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรมหรือไม่ เพราะเหตุใด
(1) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะใช้ชื่อประมวลกฎหมายเหมือนกัน
(2) มีลักษณะเหมือนกัน เพราะเป็นกฎหมายแพ่งเหมือนกัน
(3) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะไม่มีการจัดแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่
(4) มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะระบบกฎหมายต่างกัน
ตอบ 3 หน้า 22 ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศฝรั่งเศสนั้นจัดทำขึ้นโดยแบ่งโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ เป็นเรื่องๆอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างกับประมวลกฎหมายแพ่งของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งกรุงโรม ซึ่งถือแม้จะเป็นต้นกำเนิดของระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่มีลักษณะเป็นการรวบรวมเอากฎหมายต่างๆมาบันทึกไว้ในประมวลกฎหมายเดียวกันเท่านั้นโดยมิได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่หรือเป็นเรื่องๆแต่อย่างใด
23. การที่นักศึกษาต้องเสียค่าปรับเนื่องจากขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง ดังนี้
(1) เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดศีลธรรมด้วย
(2) เป็นความผิดอาญาในทางเทคนิค
(3) เป็นความผิดอาญาที่ผิดทั้งศีลธรรมและผิดเพราะกฎหมายห้าม
(4) ไม่เป็นความผิดอาญาใดๆ
ตอบ 2 (คำบรรยาย) ความผิดทางเทคนิค (Technical Offence) คือ ความผิดอาญาที่ไม่ผิดศีลธรรมแต่ผิดเพราะกฎหมายห้าม ซึ่งกฎหมายดังกล่าว คือกฎหมายเทคนิคที่เกิดขึ้นในยุคกฎหมายเทคนิค เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายป่าไม้ กฎหมายเกี่ยวกับบัตรประชาชน เป็นต้น (การขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร)
24. ถ้าพิเคราะห์บทบัญญัติในมาตรา 369 ที่บัญญัติว่า “ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้…” ท่านจะได้หลักกฎหมายเรื่องใดจากบทบัญญัติในมาตรา 369
(1) หลักปฏิเสธไม่ต้องผูกพันตามสัญญา
(2) หลักบุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญา
(3) หลักคุ้มครองบุคคลที่สามผู้กระทำโดยสุจริต
(4) หลักความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี
ตอบ 2 หน้า 41-42 บทบัญญัติของมาตรา 369 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยอาศัยหลักว่า “บุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญา”ซึ่งเกิดจากหลักศีลธรรมที่ว่า “เมื่อพูดให้สัญญาแล้วต้องรักษาคำพูด” (กรณีหลักปฏิเสธไม่ต้องผูกพันตามสัญญานั้นจะต้องเกิดจากพฤติการณ์หรือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เป็นต้น)
25. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับศีลธรรม
(1) เป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมเฉพาะความประพฤติภายนอกของมนุษย์
(2) การฝ่าฝืนกฎเกณฑ์มีสภาพบังคับจริงจังในปัจจุบัน
(3) ศีลธรรมเป็นเพียงแต่คิดในทางที่ไม่ชอบก็ผิดแล้ว
(4) เป็นกฎเกณฑ์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น
ตอบ 3 (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 39), (คำบรรยาย) ศีลธรรม คือ ความรู้สึกภายในจิตใจของมนุษย์ว่าการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด ดังนั้นศีลธรรมจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติภายในจิตใจมนุษย์ ซึ่งจะต่างกับกฎหมายเพราะกฎหมายจะกำหนดความประพฤติภายนอกของมนุษย์ที่แสดงออกมาให้เห็น แค่ศีลธรรมเป็นเพียงแต่คิดในทางที่ไม่ชอบก็ผิดศีลธรรมแล้ว
26. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 การตราพระราชกำหนดเรื่องใดที่ต้องกระทำโดยด่วนและลับ
(1) ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
(2) ความปลอดภัยของประเทศ
(3) ภาษีอากร
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 32-33 พระราชกำหนด มี 2 ประเภท ได้แก่
1.พระราชกำหนดทั่วไป เป็นกรณีที่ตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้ตราได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ (รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 184)
2. พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีและเงินตรา เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินในระหว่างสมัยประชุมสภาเท่านั้น (รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 186)
27. ข้อใดเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย
(1) การครอบครองปรปักษ์
(2) หลักความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว
(3) หลักความยินยอมไม่เป็นละเมิด
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 41-42, (คำบรรยาย) หลักกฎหมายทั่วไปเป็นบ่อเกิดหรือมีที่มาอีกประการหนึ่งของกฎหมายโดยหลักกฎหมายทั่วไปอาจเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิม ซึ่งเขียนเป็นสุภาษิตกฎหมายภาษาละตินหรือเป็นหลักกฎหมายที่แฝงอยู่ในบทกฎหมายต่างๆ เช่น หลักความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว หลักความยินยอมไม่เป็นละเมิด เป็นต้น
28. ข้อใดถูกต้อง
(1) ระบบซีวิล ลอว์ จะตีความกฎหมายตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด
(2) ระบบซีวิล ลอว์ ถือเป็นคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมายลำดับแรก
(3) ระบบคอมมอน ลอว์ ศาลจะเป็นผู้สร้างหลักกฎหมาย
(4) ระบบคอมมอน ลอว์ คำพิพากษาเป็นเพียงคำอธิบายการใช้กฎหมาย
ตอบ 3 หน้า 22 ตามหลักของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ นั้น
1. ถ้ามีหลักกฎหมายซึ่งเป็นหลักกฎเกณฑ์ทั่วไปอยู่แล้ว ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นแต่เพียงผู้แสดงหลักเกณฑ์นั้นๆแล้วนำมาปรับแก่คดีเท่านั้น และ
2. ถ้าไม่มีหลักกฎหมายดังกล่าว ก็ให้ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นผู้สร้างหลักกฎหมายขึ้นโดยคำพิพากษาและคำพิพากษาของศาลดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานของศาลต่อๆมา ซึ่งเรียกว่า “Judge Made Law”
29. หลักกฎหมายใดที่ขัดกับศีลธรรม
(1) การพยายามฆ่าตัวตายไม่เป็นความรับผิดทางอาญา
(2) การที่สามีลักทรัพย์ภริยา มีความผิดฐานลักทรัพย์
(3) การเบิกความเท็จเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิด มีความผิดฐานเบิกความเท็จ
(4) แม่ขโมยนมผงเพื่อให้ลูกกินเนื่องจากตนไม่มีเงิน มีความผิดฐานลักทรัพย์
ตอบ 4 (LW 104 เลขพิมพ์ 44289 หน้า 39) กฎหมายกับศีลธรรมนั้นถึงแม้จะมีอิทธิพลต่อกันมาก เช่น การที่มีศีลธรรมสูง ย่อมเป็นที่เชื่อได้ว่าไม่เคยทำการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่บางครั้งกฎหมายกับศีลธรรมก็อาจขัดกันได้ เช่น แม่ขโมยนมผงเพื่อให้ลูกกินเนื่องจากตนไม่มีเงิน ถือว่าถูกศีลธรรมแต่ผิดกฎหมายฐานลักทรัพย์ เป็นต้น
30. กรณีใดไม่อาจเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมได้
(1) คนสวนของเจ้ามรดก
(2) ภริยานอกกฎหมายของเจ้ามรดก
(3) ทวดของเจ้ามรดก
(4) ชมรมคนรักราม
ตอบ 4 หน้า 175-178, (คำบรรยาย) ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมนั้นกฎหมายมิได้กำหนดว่าจะต้องเป็นใคร แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย(บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) เท่านั้น และต้องไม่ใช่บุคคลที่กฎหมายห้ามมิให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ซึ่งได้แก่ ผู้เขียนพินัยกรรม พยาน รวมทั้งคู่สมรสของบุคคลดังกล่าวด้วย (ชมรมคนรักรามไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล)
31. กรณีใดที่ไม่สามารถเป็นทายาทโดยธรรมได้
(1) ผู้รับบุตรบุญธรรม
(2) คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
(3) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว
(4) พี่คนละแม่แต่พ่อเดียวกันกับเจ้ามรดก
ตอบ 1 หน้า 173-175, (คำบรรยาย) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมี 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติและทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส ซึ่งทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติมี 6 ลำดับ ได้แก่ 1. ผู้สืบสันดาน (รวมถึงบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมด้วย) 2. บิดามารดา (ไม่รวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรม ซึ่งกฎหมายไม่ถือเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 2 ของบุตรบุญธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน) 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 5. ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุง ป้า น้า อา
32. นายดำอยู่กินกับนางแดง มีบุตรคือ นายดิน และนายดอน ซึ่งนายดำได้ให้บุตรทั้งสองใช้นามสกุลต่อมานายดอนตาย เช่นนี้บุคคลใดมีสิทธิรับมรดก
(1) นายดำและนางแดง
(2) นางแดงและนายดอน
(3) นายดอน
(4) นางแดง
ตอบ 4 หน้า 173-175 เมื่อนายดอนตายจะมีทายาทโดยธรรมอยู่ 2 คน คือ นางแดงซึ่งเป็นมารดาโดยชอบธรรมตามกฎหมาย และเป็นทายาทในลำดับที่ 2 ส่วนนายดินเป็นทายาทในลำดับที่ 3 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ซึ่งมีหลักว่า ทายาทโดยธรรมในลำดับก่อนจะตัดทายาทโดยธรรมในลำดับหลัง ดังนั้นนางแดงจึงมีสิทธิรับมรดกของนายดอนแต่เพียงผู้เดียว สำหรับนายดำนั้นเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายดอน จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดก (ดูคำอธิบายข้อ 31.ประกอบ)
33. นายดำอยู่กินกับนางแดง มีบุตรคือ นายดิน และนายดอน ซึ่งนายดำได้ให้บุตรทั้งสองใช้นามสกุล ต่อมานางแดงตาย เช่นนี้บุคคลใดมีสิทธิรับมรดก
(1) นายดำ
(2) นายดินและนายดอน
(3) นายดอน
(4) นางแดง
ตอบ 2 หน้า 173-175 เมื่อนางแดงตายจะมีทายาทโดยธรรมอยู่ 2 คน คือ นายดินและนายดอน ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทในลำดับที่ 1 นายดินและนายดอนจึงมีสิทธิรับมรดก สำหรับนายดำนั้นเป็นคู่สมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางแดง จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดก (ดูคำอธิบายข้อ 31.ประกอบ)
34. นายดำอยู่กินกับนางแดง มีบุตรคือ นายดิน และนายดอน ซึ่งนายดำได้ให้บุตรทั้งสองใช้นามสกุล ต่อมานายดำตาย เช่นนี้บุคคลใดมีสิทธิรับมรดก
(1) นางแดง
(2) นายดินและนายดอน และนางแดง
(3) นายดินและนายดอน
(4) แผ่นดิน
ตอบ 3 หน้า 173-175 เมื่อนายดำตายจะมีทายาทโดยธรรมอยู่ 2 คน คือ นายดินและนายดอน ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายดำรับรองแล้ว (ให้ใช้นามสกุล) และถือเป็นทายาทในลำดับที่ 1 นายดินและนายดอนจึงมีสิทธิรับมรดก สำหรับนางแดงนั้นเป็นคู่สมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายดำ จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมและไม่มีสิทธิรับมรดก (ดูคำอธิบายข้อ 31.ประกอบ)
35. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัพย์
(1) จักรยาน
(2) สิทธิบัตร
(3) นาฬิกา
(4) ตุ๊กตาหมี
ตอบ 2 หน้า 181 “ทรัพย์” หมายถึง วัตถุมีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น จักรยาน นาฬิกา ตุ๊กตาหมี ฯลฯ ส่วน “ทรัพย์สิน” หมายถึง ทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เช่น พลังงานปรมาณู แก๊ส กรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ฯลฯ
36. สิ่งใดต่อไปนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ
(1) ยานอวกาศ
(2) เรือแจว
(3) รถยนต์
(4) แพที่ใช้อยู่อาศัย
ตอบ 4 หน้า 184-185 สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ คือ ทรัพย์อื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นทรัพย์ในลักษณะพิเศษกว่าสังหาริมทรัพย์ทั่วไป กล่าวคือ เวลาจะจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งได้แก่ เรือที่มีระวางตั้งแต่ 5 ต้นขึ้นไป แพที่ใช้อยู่อาศัย และสัตว์พาหนะ คือ ช้าง ม้า โค กระบือ ลา ล่อ
37. เงินปันผลจากบริษัท คือ
(1) ดอกผลธรรมดา
(2) ดอกผลนิตินัย
(3) เป็นทั้งดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัย
(4) ไม่ใช่ดอกผล
ตอบ 2 หน้า 190-191 “ดอกผลนิตินัย” เป็นดอกผลที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากตัวของแม่ทรัพย์แต่เป็นทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่น เพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผลหรือประโยชน์ในการให้เข้าไปทำกินในที่ดิน
38. ข้อใดถูกต้องที่สุด
(1) ดอกผลธรรมดาบางประเภทสามารถทดแทนดอกผลนิตินัยได้
(2) ทรัพย์บางประเภทสามารถเป็นได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
(3) เจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิได้ดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 191 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมายเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น…”
39. บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันโดยซื้อเป็นส่วนๆไปประกอบในที่ดินอีกแห่ง คือ
(1) อสังหาริมทรัพย์
(2) อุปกรณ์
(3) ส่วนควบ
(4) สังหาริมทรัพย์
ตอบ 4 (คำบรรยาย) ทรัพย์ใดแม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ก็อาจจะโอนกันในรูปสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เช่น บ้านทรงไทยที่ซื้อขายกันเป็นส่วนๆ ไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินจึงไม่เป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการซื้อขายทรัพย์ในสภาพของสังหาริมทรัพย์ทั่วไป
40. การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางนิติกรรม คือ
(1) การครอบครองปรปักษ์
(2) สัญญาเช่าซื้อ
(3) การแย่งสิทธิครอบครอง
(4) คำพิพากษาของศาล
ตอบ 2 หน้า 195 การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์มี 2 กรณี คือ
1. การได้มาโดยทางนิติกรรม เช่น การซื้อขาย เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ให้ เป็นต้น และ
2. การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เช่น การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยพิพากษาของศาล โดยอาศัยหลักส่วนควบ หรือโดยทางมรดก เป็นต้น
41. ข้อใดต่อไปนี้มิใช่ทรัพยสิทธิ
(1) สิทธิครอบครอง
(2) ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) กรรมสิทธิ์
(4) ส่วนควบ
ตอบ 4 หน้า 192 ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น (ส่วนควบถือเป็นส่วนประกอบของทรัพย์)
42. บิดามารดาของเด็กชายดำ ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ยายของเด็กชายดำต้องการจะร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นผู้ปกครองของเด็กชายดำ จะต้องขอต่อศาล
(1) ศาลปกครอง
(2) ศาลรัฐธรรมนูญ
(3) ศาลแพ่ง
(4) ศาลเยาวชนและครอบครัว
ตอบ 4 หน้า 64, (คำบรรยาย) ศาลเยาวชนและครอบครัว คือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน (บุคคลที่มีอายุเกิน 7 ปีแต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์) โดยเฉพาะทั้งทางแพ่งและทางอาญา เช่น
– คดีครอบครัว ได้แก่ คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาล หรือการกระทำใดๆในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวแล้วแต่กรณีซึ่งจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. เช่น การขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ในกรณีที่บิดามารดาของผู้เยาว์ถึงแก่กรรม เป็นต้น
– คดีอาญา ที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด
43. ผู้เสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทนความเสียหาย จะต้องเป็นผู้เสียหายในประเภทความผิด
(1) ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์
(2) ยักยอก ฉ้อโกง
(3) ถูกข่มขืนกระทำชำเรา
(4) ปลอมแปลงเอกสาร
ตอบ 3 ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 มาตรา 17 ได้บัญญัติว่า ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหาย อันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่
1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ 2. ความผิดต่อชีวิต 3. ความผิดต่อร่างกาย 4. ความผิดฐานทำให้แท้งลูก และ 5. ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ และคนชรา
44. ผู้กระทำความผิดคดีอาญาที่ถูกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว จะต้องมีอายุในวันที่กระทำความผิด
(1) ไม่เกิน 15 ปี
(2) ไม่เกิน 17 ปี
(3) ไม่ถึง 18 ปี
(4) ไม่ถึง 20 ปี
ตอบ 3 ดูคำอธิบายข้อ 42.ประกอบ
45. สามีทำร้ายภริยา ตามกฎหมาย
(1) ไม่มีความผิด
(2) มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ
(3) มีความผิดแต่ศาลลงโทษน้อย
(4) ไม่มีข้อใดถูก
ตอบ 4 (คำบรรยาย) ความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ ไม่ว่าผู้ใดกระทำต่อผู้ใด สำหรับการกระทำระหว่างสามีกับภริยา หรือระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หรือลดหย่อนโทษให้หรือให้ยอมความได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เช่น ความผิดฐานหลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้น
46. โจรลอบปีนเข้าบ้านนายเอก ภริยานายเอกร้องให้คนช่วย โจรจึงเงื้อมีดจะฟัน นายเอกจึงใช้ปืนยิงถูกโจรถึงแก่ความตาย ดังนี้
(1) นายเอกกระทำด้วยความจำเป็น มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ
(2) นายเอกกระทำโดยบันดาลโทสะ ศาลลงโทษน้อย
(3) นายเอกกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 55-56 การกระทำของนายเอก เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของผู้อื่น คือ ภริยาให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้กระทำไม่มีความผิด (ป.อ. มาตรา 68)
47. นายโก๋ยุสุนัขของตนให้กัดนางสาวแจ๋วจนบาดเจ็บ ดังนี้นายโก๋ต้องรับผิดทางอาญาในฐาน
(1) ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บ
(2) เจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่น
(3) ไม่มีความผิดเพราะเป็นการกระทำของสุนัข
(4) ทำร้ายร่างกายโดยไม่เจตนา
ตอบ 2 (คำบรรยาย) การกระทำของนายโก๋ ถือว่ามีเจตนาทำร้ายร่างกายนางสาวแจ๋วโดยอาศัยสุนัขเป็นเครื่องมือ นายโก๋จึงมีความผิดฐานเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่น
48. นายเอกขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทับลูกสุนัขของนางสาวจุ๋มจิ๋มตาย ดังนี้นายเอกต้องรับผิดทางอาญา
(1) ประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย
(2) เจตนาทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย
(3) ไม่มีความผิดทางอาญา
(4) ผิดทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 54,58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายเอกเป็นความผิดในทางแพ่งฐานละเมิดเท่านั้น ไม่เป็นความผิดทางอาญา เพราะการกระทำให้บุคคลอื่นเสียหายแก่ทรัพย์สินและจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ถ้าเป็นการกระทำโดยประมาทแล้วกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติไว้เป็นความผิดแต่อย่างใด
49. นายโก๋เดินผ่านรั้วบ้านนายเก่ง สุนัขในบ้านของนายเก่งส่งเสียงเห่า นายโก๋รำคาญใช้ปืนยิงสุนัขของนายเก่งตาย นายโก๋ต้องรับผิดทางอาญาในความผิด
(1) ไม่มีความผิดเพราะกฎหมายมิได้บัญญัติในความผิดฐานฆ่าสุนัขผู้อื่น
(2) ทำให้เสียทรัพย์
(3) ประมาททำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย
(4) ผิดทุกข้อ
ตอบ 2 หน้า 54,57-58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายโก๋เป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อให้บุคคลอื่นเสียหายซึ่งทรัพย์สิน จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ขอให้เปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงในข้อ 48. ซึ่งจะต่างกัน)
50. นายเอกเลี้ยงสุนัขตัวโตไม่ดูแลให้ดี ปล่อยให้หลุดออกจากประตูรั้วบ้านไปที่ถนนสาธารณะ สุนัขกัดแมวของ ด.ญ.ตุ๊กตาตาย ดังนี้นายเอกต้องรับผิดทางอาญา
(1) เจตนาทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์
(2) ประมาททำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย
(3) ไม่มีความผิด
(4) มีความผิดแต่ยอมความได้
ตอบ 3 หน้า 54,58 การที่สุนัขของนายเอกไปกัดแมวของ ด.ญ.ตุ๊กตาตาย ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของนายเอกที่ไม่ดูแลสุนัขให้ดี แต่นายเอกก็ไม่มีความผิดทางอาญาฐานประมาททำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ เพราะการกระทำโดยประมาททำให้บุคคลอื่นเสียหายแก่ทรัพย์สินนั้นกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ดังนั้นนายเอกมีความผิดเฉพาะในทางแพ่งฐานละเมิดเท่านั้น (ดูคำอธิบายข้อ 48.ประกอบ)
51. ข้อใดเป็นการพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้
(1) ดำใช้ปืนไม่มีลูกกระสุนยิงขาวให้ตกใจกลัว
(2) ดำใช้ปืนยิงขาวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
(3) ดำยิงขาวแต่ลืมใส่ลูกกระสุน ขาวจึงไม่ได้รับอันตราย
(4) ดำยิงขาว แต่ขาวพุ่งหลบ ขาวจึงไม่ได้รับอันตราย
ตอบ 3 หน้า 61-62, (คำบรรยาย) การพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เป็นการกระทำความผิดที่ได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ (เช่น ใช้ปืนที่ไม่มีลูกยิงโดยเจตนาฆ่า เป็นต้น) หรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อก็ได้ (ขอให้สังเกตว่า ข้อ (1) ดำไม่มีเจตนาฆ่าขาว ความผิดฐานพยายามจึงไม่เกิดขึ้น)
52. นายยิ้มจ้างมือปืนไปยิงนายเอกให้ตาย มือปืนรับเงินแล้วได้เอายาพิษไปลอบให้นายเอกกินแล้วตาย ดังนี้นายยิ้ม
(1) ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้ใช้ให้วางยาพิษ
(2) มีความผิดเป็นผู้ใช้รับโทษ 1 ใน 3
(3) เป็นผู้ใช้รับโทษเสมือนตัวการ
(4) เป็นผู้สนับสนุน
ตอบ 3 หน้า 62-63, (คำบรรยาย) การที่นายยิ้มจ้างมือปืนให้ไปยิงนายเอก แค่มือปืนได้เอายาพิษไปลอบให้นายเอกกินแล้วตาย ย่อมถือว่าความผิดนั้นได้กระทำลงตามที่ได้มีการใช้แล้ว ดังนั้นนายยิ้มซึ่งเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดต้องรับโทษเสมือนตัวการ
53. นายโหดชวนนายเลวไปฆ่านายดี นายเลวไม่มีปืนแต่ได้ร่วมกับนายโหด เมื่อนายโหดยิงนายดีตายแล้ว นายเลวก็หลบหนีไปพร้อมกับนายโหด ดังนี้นายเลวต้องรับผิดร่วมกับนายโหดในฐานะเป็น
(1) ผู้สนับสนุน
(2) ผู้ใช้
(3) ตัวการ
(4) ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้ยิง
ตอบ 3 หน้า 62 ความผิดฐานตัวการ คือความผิดที่ได้เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยการร่วมมือร่วมใจกันกระทำความผิด และต่างรู้สึกถึงการกระทำของกันและกัน ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าผู้ร่วมกันกระทำผิดเป็นตัวการ และต้องระวางโทษตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
54. นายโก๋ดื่มสุราเข้าไปจนเมาแล้วนึกสนุกใช้ปืนยิงเข้าไปในรถยนต์ที่แล่นผ่านมา ลูกกระสุนปืนถูกนายเฮงถึงแก่ความตาย ดังนี้นายโก๋มีความผิด
(1) ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา
(2) ฆ่าคนตายโดยเจตนา
(3) ฆ่าคนตายโดยประมาท
(4) มีความผิดแต่ได้รับลดโทษเพราะกระทำขณะเมาสุรา
ตอบ 2 หน้า 57-58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายโก๋เป็นการกระทำโดยเจตนาโดยหลักย่อมเล็งเห็นผล คือไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำย่อมเล็งเห็นได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้นอย่างไร คือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีคนถูกลูกกระสุนปืนตาย ดังนั้นนายโก๋จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
55. นางสาวติ๊นาเลี้ยงสุนัขตัวโตไม่ดูแลให้ดี สุนัขหลุดจากประตูรั้วบ้านออกไปกัด ด.ญ.ตุ้ยนุ้ยถึงแก่ความตาย ดังนี้นางสาวติ๊นาต้องรับผิดฐาน
(1) ไม่มีความผิด
(2) ฆ่า ด.ญ.ตุ้ยนุ้ยตายโดยเจตนา
(3) ฆ่า ด.ญ.ตุ้ยนุ้ยโดยไม่ได้เจตนา
(4) กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ตอบ 4 หน้า 58 การที่นางสาวติ๊นาเลี้ยงสุนัขตัวโตแล้วไม่ดูแลให้ดีนั้น ถือว่านางสาวติ๊นากระทำโดยประมาท กล่าวคือเป็นการกระทำความผิดซึ่งผู้กระทำนั้นมิได้เจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ดังนั้นนางสาวติ๊นาจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
56. นายบกเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า แล้วจิตใจฮึกเหิม ได้ท้าให้นายเด่นทดลองฟันตนนายเด่นรับคำท้าใช้มีดฟันนายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนี้นายเด่น
(1) ไม่มีความผิดเพราะนายบกยอมให้ฟัน
(2) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา
(3) มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
(4) ฆ่าคนตายโดยประมาท
ตอบ 3 หน้า 57-58, (คำบรรยาย) การกระทำของนายเด่น ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกและแม้จะไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำ แต่โดยลักษณะของการกระทำ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลขึ้น คือ นายบกคอขาดถึงแก่ความตาย ดังนั้นการกระทำของนายเด่นจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
57. โทษทางอาญาที่หนักที่สุด
(1) กักกัน
(2) กักขัง
(3) ปรับ 1 แสนบาท
(4) ริบทรัพย์สิน
ตอบ 2 ดูคำอธิบายข้อ 13.ประกอบ
58. หลักเกณฑ์ตีความกฎหมายอาญา
(1) ตีความตามตัวอักษรและเจตนารมณ์
(2) ตีความตามเจตนารมณ์
(3) ตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด
(4) ตีความขยายความลงโทษจำเลยได้
ตอบ 3 หน้า 90 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายพิเศษ การตีความจึงมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกับกฎหมายทั่วไป คือ 1. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด 2. จะตีความหมายในทางขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้ และ 3. ในกรณีเป็นที่สงสัย ศาลต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาว่าไม่ได้กระทำความผิด
59. ความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้
(1) พนักงานอัยการฟ้องคดีไม่ได้ต้องให้ผู้เสียหายฟ้องเอง
(2) ผู้เสียหายฟ้องคดีเองไม่ได้ ต้องให้พนักงานอัยการฟ้องให้
(3) พนักงานสอบสวนจะสอบสวนได้ต่อเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์
(4) ราษฎรฟ้องคดีส่วนตัว ศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
ตอบ 3 หน้า 67-68 ความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้ หมายถึง ความผิดที่ไม่กระทบความสงบของรัฐ และมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัว เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้น พนักงานสอบสวนจะสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว
60. นายดอย อายุ 18 ปี หมั้นกับ น.ส.กิ๊ก อายุ 16 ปี โดยบิดาและมารดาของ น.ส.กิ๊ก ให้ความยินยอม เช่นนี้การหมั้นของ น.ส.กิ๊กกับนายดอยจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
(1) สมบูรณ์
(2) โมฆียะ
(3) โมฆะ
(4) ขื้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
ตอบ 3 หน้า 155 กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องอายุของชายและหญิงที่ตะทำการหมั้นไว้ว่า จะหมั้นกันได้ชายและหญิงจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หากฝ่าฝืน การหมั้นนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 1435) แม้ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ตาม
61. นายชาญ อายุ 30 ปี ต้องการหมั้นกับ น.ส.ดาว อายุ 25 ปี แต่กลับหมั้นกับ น.ส.เดือน คู่แฝดของ น.ส.ดาว โดยสำคัญผิด เช่นนี้การหมั้นนั้นจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
(1) สมบูรณ์
(2) โมฆียะ
(3) โมฆะ
(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล
ตอบ 2 หน้า 159-160 เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ (การสมรสมิอาจสมบูรณ์) มี 5 ประการ คือ 1. ชายและหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ 2. ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง 3. การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรส
4. สมรสโดยถูกกลฉ้อฉล 5. การสมรสเพราะถูกข่มขู่ (ในเรื่องการหมั้นนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องการสำคัญผิดตัวคู่หมั้นไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในส่วนของการสมรสมาบังคับใช้)
62. น.ส.สวยหมั้นกับนายโดม โดยนายโดมมอบแหวนเพชรให้ในเวลาทำสัญญาหมั้น ต่อมา น.ส.สวยกลับไม่ยอมสมรส เช่นนี้นายโดมจะทำอย่างไรได้บ้าง
(1) ฟ้องบังคับให้ น.ส.สวยสมรสกับตน
(2) ฟ้องเรียกเบี้ยปรับ
(3) ฟ้องเรียกของหมั้นคืน
(4) ถูกทั้ง 2 และ 3
ตอบ 3 หน้า 157-158 ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งจะฟ้องบังคับเพื่อให้มีการสมรสหรือเรียกเบี้ยปรับไม่ได้ มีสิทธิก็แต่เฉพาะเรียกค่าทดแทนเนื่องจากมีการผิดสัญญาหมั้นเท่านั้น และหากหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นก็จะต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย
63. นายขิมตกลงจะไปหมั้นกับ น.ส.แคน แต่ก่อนถึงวันหมั้น น.ส.แคนได้ขอให้นายขิมส่งมอบทองคำแท่งทั้งหมดที่เตรียมไว้เป็นของหมั้นแก่ตนก่อน ต่อมาอีกวันในเวลาทำสัญญาหมั้น จึงไม่มีของหมั้นส่งมอบ เช่นนี้ หากต่อมา น.ส.แคนไม่ทำการสมรสกับนายขิม นายขิมจะทำอย่างไร
(1) เรียกทองคำแท่งคืนทั้งหมด
(2) เรียกทองคำแท่งคืนได้ครึ่งหนึ่ง
(3) เรียกทองคำแท่งคืน พร้อมเบี้ยปรับ
(4) เรียกทองคำแท่งคืนไม่ได้เลย
ตอบ 1 หน้า 157 การหมั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น กล่าวคือ สัญญาหมั้นย่อมสมบูรณ์ในวันที่มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นแล้ว แม้จะคนละวันกับวันหมั้นก็ตาม และหากฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นก็ต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย
64. นายชัน อายุ 40 ปี ผู้รับบุตรบุญธรรมจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ยิ้ม อายุ 25 ปี บุตรบุญธรรมของตนเช่นนี้การสมรสนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร
(1) สมบูรณ์
(2) โมฆียะ
(3) โมฆะ
(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล
ตอบ 1 หน้า 160 ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืน ให้ถือว่าการรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไป แต่การสมรสยังมีผลสมบูรณ์
65. นายดำลุงเขยของ น.ส.น้ำ เมื่อป้าของ น.ส.น้ำตาย นายดำจึงมาจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.น้ำ เช่นนี้การสมรสนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร
(1) สมบูรณ์
(2) โมฆียะ
(3) โมฆะ
(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล
ตอบ 1 หน้า 159-160 เงื่อนไขที่จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ มี 4 ประการ คือ
1. สมรสกับบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล
2. สมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปลงมา หรือกับพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
3. สมรสโดยปราศจากความยินยอมของชายหญิงคู่สมรส และ
4. สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วหรือที่เรียกว่า สมรสซ้อน
(ลุงเขยไม่ถือว่าเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงหรือลงมาแต่อย่างใด และกรณีไม่เป็นสมรสซ้อนเพราะการสมรสครั้งแรกย่อมสิ้นสุดลงแล้วเนื่องจากความตายของคู่สมรส)
66. น.ส.อิ่ม อายุ 18 ปี ซึ่งได้จดทะเบียนไปเป็นบุตรบุญธรรมของนายไก่ ได้สมรสกับนายแผน อายุ 25 ปี โดยนายไก่มิได้ให้ความยินยอม แต่บิดามารดาของ น.ส.อิ่มยินยอม เช่นนี้การสมรสนั้นมีผลทางกฎหมายอย่างไร
(1) สมบูรณ์
(2) โมฆียะ
(3) โมฆะ
(4) ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล
ตอบ 2 หน้า 159-160 กรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใด เมื่อจะทำการสมรสก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น มิฉะนั้นการสมรสจะเป็นโมฆียะ เพราะนับตั้งแต่ผู้เยาว์ไปเป็นบุตรบุญธรรม อำนาจปกครองของบิดามารดาย่อมหมดไป ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแทน (ดูคำอธิบายข้อ 61.ประกอบ)
67. กรณีใดไม่เป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลง
(1) คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสาบสูญ
(2) คู่สมรสฝ่ายหนึ่งป่วยตาย
(3) คู่สมรสจดทะเบียนหย่า
(4) ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่
ตอบ 1 หน้า 166-167 เหตุที่จะทำให้การสมรสสิ้นสุดลง มีได้ 3 กรณี คือ
1. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย 2. โดยการหย่า และ
3. ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส (การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสาบสูญเป็นเพียงเหตุฟ้องหย่าเท่านั้น)
68. กรณีใดต่อไปนี้ไม่เป็นสินสมรส
(1) เงินเดือนของคู่สมรส
(2) เงินถูกรางวัลสลากกาชาดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง
(3) ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารที่คู่สมรสมีก่อนสมรส
(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2
ตอบ 3 หน้า 163 สินสมรส ได้แก่
1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือนหรือรางวัลที่ได้จากการถูกลอตเตอรี่
2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือเมื่อมีพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าให้เป็นสินสมรส
3. ดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อมีการสมรส เช่น ลูกหมูซึ่งแม่หมูตกลูกเมื่อสมรสแล้ว (ดอกเบี้ยเงินฝากแม้จะเป็นดอกผลของสินส่วนตัว แต่ได้มาก่อนสมรสจึงไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัว)
69. กรณีใดต่อไปนี้ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
(1) หนี้เงินกู้ที่เจ้ามรดกทำขึ้น
(2) สัญญาหมั้นที่เจ้ามรดกทำไว้
(3) เจ้ามรดกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานเขียน
(4) เจ้ามรดกถูกรางวัลสลากกาชาดแต่ตายก่อนขึ้นรางวัล
ตอบ 2 หน้า 171-172 “มรดก” หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับชอบต่างๆด้วย เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (สิทธิตามสัญญาหมั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย)
70. การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องทำเป็น
(1) พระราชบัญญัติ
(2) พระราชกำหนด
(3) พระราชกฤษฎีกา
(4) คำสั่งนายกรัฐมนตรี
ตอบ 3 หน้า 33 ตามรัฐธรรมนูญ การตราพระราชกฤษฎีกาของพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีนั้นจะเกิดขึ้นใน 3 กรณี คือ 1. รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราขึ้นในกิจการที่สำคัญอันเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา, พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร หรือพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ 2. โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 196 (เรื่องเงินประจำตำแหน่ง บำเหน็จบำนาญและประโยชน์ตอบแทน) 3. โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท (พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด) ที่ให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้
71. ราชอาณาจักร หมายถึง ทะเลอันห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทย ไม่เกิน
(1) 10 ไมล์ทะเล
(2) 12 ไมล์ทะเล
(3) 20 ไมล์ทะเล
(4) 50 ไมล์ทะเล
ตอบ 2 หน้า 80-81 ราชอาณาจักรไทย หมายถึง 1.พื้นดินและพื้นน้ำซึ่งอยู่ในอาณาเขตประเทศไทย 2. ทะเลอันเป็นอ่าวไทย 3. ทะเลอันห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทยไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล 4. อากาศเหนือ 1.,2. และ 3.
72. ข้อใดที่อยู่ในอำนาจศาลไทยที่จะพิจารณาพิพากษาได้
(1) นายขะแมร์ชาวเขมรปลอมแปลงเงินไทยที่ประเทศลาว
(2) นายโซกับพวกชาวโซมาเลียปล้นเรือสินค้าในทะเลหลวง
(3) นายขะแมร์ชาวเขมรฆ่าคนไทยตายที่ประเทศกัมพูชา
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7 ได้บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลไทยที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่แม้จะได้กระทำนอกราชอาณาจักร และผู้กระทำความผิดจะมีสัญชาติใดก็ตาม ได้แก่ 1. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
2. ความผิดเกี่ยวกับการปลอม และการแปลงเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด
3. ความผิดฐานชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวงและตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 ได้บัญญัติให้ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย หรือผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว แต่รัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
73. นายหนุ่มไม่ทราบว่าตนเกิดเมื่อใดทราบแต่เพียงปีเกิดคือปี พ.ศ. 2530 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายหนุ่มเกิดเมื่อใด
(1) 1 มกราคม 2530
(2) 1 มิถุนายน 2530
(3) ณ วันที่นายหนุ่มแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่
(4) วันไหนก็ได้แล้วแต่นายหนุ่มจะเลือก
ตอบ 1 หน้า 128, (คำบรรยาย) ในกรณีที่ไม่รู้ว่าบุคคลเกิดวันใด เดือนใด แต่รู้ปีเกิด ให้ว่าถือว่าบุคคลนั้นได้เกิดวันต้นปี ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ในกรณีที่เกิดก่อนวันที่ 18 ตุลาคม 2483 ให้ถือเอา วันที 1 เมษายน เป็นวันต้นปี หากเกิดภายหลังจากนั้นให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันต้นปี ดังนั้นการที่นายหนุ่มไม่รู้ว่าเกิดเมื่อใดทราบแต่เกิดปี พ.ศ. 2530 ดังนี้ตามกฎหมายถือว่านายหนุ่มเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2530
74. ข้อใดถือสิ้นเป็นสภาพบุคคล
(1) การสาบสูญ
(2) จิตฟั่นเฟือน
(3) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(4) พิการ
ตอบ 1 หน้า 140-141 สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดาย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ซึ่งการตายนั้นมีได้ 2 กรณี คือ 1. ตายธรรมดา และ 2. ตายโดยผลของกฎหมาย คือ เมื่อบุคคลนั้นได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
75. ข้อใดไม่ถูกต้องเกี่ยวกับทารกในครรภ์มารดา
(1) มีสภาพบุคคลแล้ว
(2) มีสิทธิรับมรดกถ้าคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก
(3) ไม่มีสภาพบุคคล
(4) ผิดทุกข้อ
ตอบ 1 หน้า 125-127 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก (โดยจะตัดสายสะดือหรือไม่ไม่สำคัญ) ซึ่งการอยู่รอดเป็นทารกนั้น อาจจะดูที่การเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือดูที่การหายใจ ซึ่งการหายใจนั้นไม่จำกัดว่าจะมีระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาจึงยังไม่มีสภาพบุคคล แต่ทารกในครรภ์มารดาอาจมีสิทธิต่างๆได้ เช่น สิทธิในการรับมรดก ถ้าหากว่าภายหลังได้คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก
76. สภาพบุคคลเริ่มต้นเมื่อใด
(1) นางแดงแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์
(2) นางเหลืองตั้งครรภ์บุตรเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว
(3) นางเขียวคลอดบุตรแล้วโดยที่หมอยังมิได้ตัดสายสะดือทารก
(4) นางดำไปตรวจครรภ์แล้วทราบว่าบุตรเป็นเพศชายก่อนที่จะถึงกำหนดคลอด 1 เดือน
ตอบ 3 ดูคำอธิบายข้อ 75.ประกอบ
77. ข้อใดถูกต้องที่สุด
(1) ทารกในครรภ์มารดาถือเป็นทายาทแล้ว
(2) สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอด
(3) เมื่อทารกคลอดแล้วปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นนี้ ทารกมีสภาพบุคคล
(4) เมื่อทารกคลอดแล้วต้องมีการหายใจอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงจะถือว่ามีสภาพบุคคล
ตอบ 3 หน้า 125-127 ทารกในครรภ์มารดายังไม่มีสภาพบุคคล จึงไม่อาจเป็นทายาทได้ เพราะตามกฎหมายการเป็นทายาทนั้น (ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทในฐานะผู้รับพินัยกรรม) จะต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วย (ดูคำอธิบายข้อ 75.ประกอบ)
78. ข้อใดไม่ถูกต้อง
(1) บุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วกฎหมายนั้นถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย
(2) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดถึงทายาท
(3) เมื่อบุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทำให้การสมรสขาดจากกัน
(4) การเป็นคนสาบสูญ ศาลอาจมีการเพิกถอนคำสั่งสาบสูญได้
ตอบ 3 หน้า 146 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วจะมีผลตามกฎหมายคือ 1. คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (แต่ไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง)
2. ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจปกครองบุตร 3. มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
4. ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นสิ้นสภาพบุคคลหรือถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามหากคนสาบสูญยังมีชีวิตอยู่หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ ศาลก็อาจเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้
79. ข้อใดเป็นชื่อที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
(1) ชื่อฉายา
(2) นามปากกา
(3) ชื่อเล่น
(4) ชื่อสกุล
ตอบ 3 หน้า 129-130, (คำบรรยาย) นอกจากกฎหมายจะให้การคุ้มครองชื่อสกุล (ชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล) แล้ว ยังให้การคุ้มครองไปถึงชื่ออื่นๆ เช่น ชื่อฉายา นามแฝง ชื่อนิติบุคคล ชื่อการค้า ชื่อย่อสำหรับโทรเลข รวมทั้งนามปากกาด้วย
80. บุคคลธรรมดาที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนา ได้แก่
(1) ผู้เยาว์
(2) คนตาบอด
(3) บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
(4) บุคคลวิกลจริต
ตอบ 1 หน้า 131-132 บุคคลที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนาให้ ได้แก่
1. ผู้เยาว์ 2. คนไร้ความสามารถ
3. สามีและภริยา
4. ข้าราชการ
5. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล
81.นิติกรรมข้อใดเป็นโมฆะ
(1) สมหญิง อายุ 9 ปี ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับนายสมชายตัวแทนประกันภัย
(2) น.ส.แดง อายุ 20 ปี ทำสัญญายอมรับเป็นภริยาน้อยของนายดำ
(3) วาสนา อาย 10 ปี ตกลงทำสัญญาให้รถยนต์ของตนกับดวงดี อายุ 13 ปี
(4) นางหนึ่งตกลงซื้อขายรถยนต์ของตนกับนางสองโดยไม่ได้ทำสัญญา
ตอบ 2 หน้า 101-103 นิติกรรมใดก็ตามที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 150) เช่น นิติกรรมที่มีผลกระทบต่อความสงบของสังคม หรือความมั่นคงของสถาบันครอบครัว เป็นต้น ( ข้อ(2) เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน)
82. บุคคลวิกลจริตทำนิติกรรมโดยที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ว่าวิกลจริต นิติกรรมจะมีผล
(1) โมฆะ
(2) โมฆียะ
(3) สมบูรณ์
(4) ไม่สมบูรณ์
ตอบ 3 หน้า 137-138 บุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรมใดๆมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำในขณะวิกลจริต และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วว่าผู้ทำเป็นคนวิกลจริต
83. บุคคลตามข้อใดยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(1) อายุ 17 ปีบริบูรณ์และสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย
(2) อายุ 18 ปีบริบูรณ์
(3) อายุ 16 ปี ทำการสมรสโดยศาลอนุญาต
(4) ไม่บรรลุนิติภาวะทุกข้อ
ตอบ 2 หน้า 133,159 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ป.พ.พ. มาตรา 19) แต่อย่างไรก็ตามผู้เยาว์อาจจะบรรลุนิติภาวะก่อนนั้นได้ หากทำการสมรสและการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 คือ สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หรืออายุน้อยกว่า 17 ปี แต่ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้
84. คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมข้อใดได้ หากผู้อนุบาลยินยอม
(1) นิติกรรมที่เป็นการเฉพาะตัว
(2) นิติกรรมที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์
(3) นิติกรรมที่ได้ไปซึ่งสิทธิ
(4) ทำนิติกรรมใดๆก็ไม่ได้ทั้งสิ้น
ตอบ 4 หน้า 137 คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆนิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้นไม่ว่าจะได้ทำนิติกรรมในขณะจริตวิกลหรือไม่ก็ตาม หรือได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลจะได้ยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน เว้นแต่พินัยกรรมซึ่งผู้อนุบาลไม่อาจทำแทนได้ เพราะการทำพินัยกรรมเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นพินัยกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำขึ้น หรือให้ผู้อนุบาลทำแทนย่อมตกเป็นโมฆะ
85. คนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของใครตามกฎหมาย
(1) ผู้พิทักษ์
(2) ผู้อนุบาล
(3) ผู้ปกครอง
(4) ผู้แทนโดยชอบธรรม
ตอบ 2 หน้า 137 บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ กฎหมายกำหนดให้อยู่ในความดูแลของ “ผู้อนุบาล” ซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลตั้งขึ้นมาเพื่อให้ดูแลจัดการทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถนั้น เนื่องจากบุคคลไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมใดๆได้ จะต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน
86. คนเสมือนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความดูแลของใครตามกฎหมาย
(1) ผู้พิทักษ์
(2) ผู้อนุบาล
(3) ผู้ปกครอง
(4) ผู้แทนโดยชอบธรรม
ตอบ 1 หน้า 152 เมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ กฎหมายกำหนดให้บุคคลนั้นจะต้องอยู่ในความดูแลของ “ผู้พิทักษ์” ซึ่งการทำนิติกรรมบางประเภทของคนเสมือนไร้ความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ
87. ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความดูแลของใครตามกฎหมาย
(1) ผู้พิทักษ์
(2) ผู้อนุบาล
(3) ผู้แทนโดยชอบธรรม
(4) ผิดทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 133 เนื่องจากผู้เยาว์เป็นบุคคลผู้อ่อนอายุ อ่อนประสบการณ์ และขาดการควบคุมสภาพจิตใจ ไม่อาจจัดการกิจการได้อย่างรอบคอบ กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองโดยกำหนดให้ผู้เยาว์จะต้องอยู่ในความดูแลของ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” กล่าวคือ หากผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพัง
88. ผู้ใดมิใช่ “ผู้หย่อนความสามารถ” ตามกฎหมาย
(1) ชายมีภริยา
(2) นายแดงอายุ 18 ปี
(3) คนเสมือนไร้ความสามารถ
(4) คนไร้ความสามารถ
ตอบ 1 หน้า 133, (คำบรรยาย) ผู้หย่อนความสามารถ คือ บุคคลบางประเภทที่กฎหมายได้จำกัดหรือตัดทอนความสามารถในการใช้สิทธิ ซึ่งมี 4 ประเภท คือ 1. ผู้เยาว์
2. คนไร้ความสามารถ 3. คนเสมือนไร้ความสามารถ 4. บุคคลวิกลจริต
89. นายมด อายุ 18 ปี ไม่สามารถทำนิติกรรมใดได้เองบ้าง
(1) ทำนิติกรรมที่เป็นการเฉพาะตัว
(2) ทำนิติกรรมที่หลุดพ้นจากหน้าที่โดยปราศจากเงื่อนไข
(3) ทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(4) ทำนิติกรรมที่สมควรต่อฐานานุรูปและจำเป็นต่อการดำรงเลี้ยงชีพ
ตอบ 3 หน้า 136-137 นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เอง ได้แก่ 1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ซึ่งสิทธิ หรือหลุดพ้นจากหน้าที่ เช่น การทำนิติกรรมรับการให้ โดยปราศจากเงื่อนไขหรือคำภาระติดพัน 2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร 3. นิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูปและจำเป็นในการดำรงชีวิตตามสมควร เช่น ซื้ออาหารรับประทาน ซื้อสมุดดินสอ เครื่องเรียน และปัจจัยสี่ 4. ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นนั้น เป็นโมฆะ
90. ข้อใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง
(1) จำนอง
(2) กู้ยืมเงิน
(3) ให้กู้ยืมเงิน
(4) เช่าบ้านอยู่อาศัยเป็นระยะเวลา 1 ปี
ตอบ 4 หน้า 138-139 คนเสมือนไร้ความสามารถ โดยหลักแล้วสามารถทำนิติกรรมใดๆได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างต้องได้รับความยินจากผู้พิทักษ์ก่อนมิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน การกู้หรือให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกัน จำนอง หรือการเช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกิน 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาเกิน 3 ปี (บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์)
91. ผู้ปกครองของผู้เยาว์มีได้ในกรณี
(1) ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา
(2) บิดามารดาถูกถอนอำนาจการปกครอง
(3) บิดามารดาหย่าขาดจากกัน
(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 และ 2
ตอบ 4 หน้า 134 ผู้ปกครองของผู้เยาว์ซึ่งจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม จะมีได้ใน 2 กรณีคือ 1. ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา (กรณีบิดามารดาตายหรือไม่ปรากฏบิดามารดา) 2. บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง
92. ผู้ที่ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาก่อนิติสัมพันธ์
(1) มูลนิธิเด็กดี
(2) บริษัทรักษาความปลอดภัย
(3) นายแดง อายุ 21 ปี
(4) ชมรมค่ายอาสาพัฒนา
ตอบ 4 หน้า 97,148-150 ผู้ที่มีสิทธิเข้าทำนิติกรรมหรือสัญญาเพื่อก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้นนั้นจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา (ที่กฎหมายมิได้จำกัดความสามารถไว้) หรืออาจเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด มูลนิธิ สมาคม เป็นต้น (ชมรมค่ายอาสาพัฒนาไม่ใช่นิติบุคคลจึงไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาก่อนิติสัมพันธ์)
93. ข้อใดไม่ใช่นิติกรรม
(1) การซื้อน้ำดื่มที่ร้านขายของ
(2) การขอยืมเงินเพื่อน
(3) การนำเงินดอลลาร์ไปแลกเป็นเงินบาท
(4) การเล่นพนันฟุตบอล
ตอบ 4 หน้า 98 นิติกรรม หมายถึง การใดๆอันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เช่น การซื้อของ การกู้ยืมเงิน การน้ำเงินตราต่างประเทศไปแลกเป็นเงินไทย เป็นต้น (การเล่นการพนันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ถือเป็นนิติกรรม)
94. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ คือ
(1) นิติกรรมที่มีผลเป็นอันสูญเปล่าเมื่อถูกบอกล้าง
(2) นิติกรรมที่มีผลเป็นอันสูญเปล่าเมื่อถูกให้สัตยาบัน
(3) นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
(4) นิติกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบพิธีที่กฎหมายกำหนด
ตอบ 1 หน้า 105,107 นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นมาแล้วจะมีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะมีการบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะซึ่งจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นอันสูญเปล่าหรืออาจมีการให้สัตยาบันเพื่อให้นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้อย่างสมบูรณ์ (ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อได้ทำขึ้นมาแล้วจะมีผลเสียเปล่าใช้บังคับกันไม่ได้เสมือนหนึ่งมิได้ทำนิติกรรมนั้นขึ้นมาเลย และจะให้สัตยาบันก็ไม่ได้)
95. สาเหตุที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ ได้แก่
(1) ไม่เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนด
(2) เกิดจากการข่มขู่
(3) เกิดจากการสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 1 หน้า 106 เหตุที่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ได้แก่
1. นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
2. นิติกรรมที่ทำขึ้นไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้
3. นิติกรรมที่บกพร่องเกี่ยวกับการแสดงเจตนา เช่น นิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงหรือเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นต้น
96. ข้อใดเป็นนิติกรรมที่มีสมบูรณ์
(1) นายเอจ้างนายบีให้ไปทำร้ายร่างกายนายซี
(2) นายเอกซื้อแหวนเพชรปลอมโดยถูกหลอกว่าเป็นเพชรจริง
(3) นายหนึ่งขับรถชนรถของนายสองจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายสอง
(4) นายตรีเกรงใจนายโทเพราะเป็นญาติผู้ใหญ่จึงจำใจขายรถยนต์ของตนให้แก่นายโท
ตอบ 4 หน้า 107 การที่นายตรีได้ขายรถยนต์ให้แก่นายโทเพราะเกรงใจที่นายโทเป็นญาติผู้ใหญ่นั้น ถือว่าเป็นการทำนิติกรรมเพราะความนับถือยำเกรง ซึ่งตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายระหว่างนายตรีและนายโทจึงมีผลสมบูรณ์
97. ข้อใดทำให้สิทธิระงับ
(1) ขาดตัวผู้ทรงสิทธิ
(2) การชำระหนี้ตามกำหนด
(3) การสูญสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 122-123 สิทธิอาจจะระงับได้ด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
1. การขาดตัวผู้ทรงสิทธิ 2. การระงับแห่งหนี้ เช่น การชำระหนี้ การปลดหนี้ เป็นต้น
3. การสิ้นวัตถุแห่งสิทธิ 4. การระงับแห่งสิทธิโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
98. ข้อใดมิใช่นิติเหตุ
(1) การเกิด
(2) การตาย
(3) การให้
(4) การละเมิด
ตอบ 3 หน้า 115-117 นิติเหตุ หรือเหตุที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย โดยอาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากพฤติการณ์ตามธรรมชาติ เช่น การเกิด การตาย หรืออาจจะเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคลโดยปราศจากเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย ได้แก่ การจัดการงานนอกคำสั่ง ลาภมิควรได้และละเมิด หรืออาจจะเป็นเหตุที่ได้มาตาม ป.พ.พ. ลักษณะทรัพย์และทรัพย์สิน เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยหลักส่วนควบ เป็นต้น (การให้เป็นนิติกรรม)
99. การกระทำที่เป็นโมฆียะจะมีผล คือ
(1) ให้สัตยาบันได้
(2) การกล่าวอ้างไม่กำหนดระยะเวลา
(3) บอกล้างไม่ได้
(4) ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนกล่าวอ้างได้
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 94.ประกอบ
100. นิติกรรมที่เป็นโมฆะ หมายถึงนิติกรรมที่
(1) ตกเป็นอันเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้เสมือนหนึ่งมิได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย
(2) ตกเป็นอันเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ แต่อาจได้รับสัตยาบันให้กลับสมบูรณ์ได้
(3) มีผลในกฎหมายผูกพันกัน แต่อาจถูกกล่าวอ้างได้
(4) มีผลในกฎหมายผูกพันกัน แต่อาจถูกบอกล้างได้
ตอบ 1 ดูคำอธิบายข้อ 94.ประกอบ
101. การแสดงเจตนาทำนิติกรรม ทำได้โดย
(1) เป็นลายลักษณ์อักษร
(2) โดยวาจา
(3) โดยกิริยาอาการ
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 104 ในการแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้น อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง คือ กระทำด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยาย หรือในบางกรณีอาจเป็นการแสดงเจตนาโดยการนิ่งก็ได้
102. สิทธิ หมายถึง
(1) การที่บุคคลทุกคนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
(2) หน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม
(3) ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 97 สิทธิ คือ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ แบ่งออกเป็น
1. สิทธิในตัวบุคคล เช่น สิทธิในร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง ความคิดเห็น
2. สิทธิในทรัพย์สิน เช่น ทรัพยสิทธิ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้
3. สิทธิในครอบครัว เช่น สิทธิในการรับมรดก
4. สิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิเลือกตั้ง
103. ข้อใดมีลักษณะเป็น กฎเกณฑ์ (Norm) ของรัฐที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์
(1) การรณรงค์ให้ผู้ขับรถเมื่อเกิดอาการง่วงไม่ควรขับรถ
(2) การขอความร่วมมือให้สถานบันเทิงงดจำหน่ายสุราทุกวันพระ
(3) การวางแผนรายได้เพื่อให้คำนวณอัตราการเสียภาษีน้อย
(4) การปรับสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนไม่ยอมปิดตามเวลาที่กำหนด
ตอบ 4 หน้า 15 กรณีที่จะถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ (Norm) นั้นจะต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ให้กระทำการได้หรือห้ามกระทำการ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ถือเป็นสิ่งที่ผิดและจะถูกลงโทษ เช่น ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล หรือห้ามเปิดสถานบันเทิงเกินเวลาที่กำหนด เป็นต้น
104. ข้อใดมิใช่คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) ไม่สังกัดพรรคการเมือง
(3) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
(4) ถูกเฉพาะข้อ 2 และ 3
ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 101 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ เช่น
1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว… แต่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้นั้นจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่อย่างใด
105. ข้อใดมิใช่คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(1) มีสัญชาติไทย
(2) สังกัดพรรคการเมือง
(3) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
(4) อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์
ตอบ 2 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 115 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาไว้ดังนี้ 1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์
3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
4. ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง
5. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
6. ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎร…
106. รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แก้ไขปรับปรุงใหม่ให้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน
(1) 350 คน
(2) 375 คน
(3) 400 คน
(4) 450 คน
ตอบ 2 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 93 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 กำหนดให้มีสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 375 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน รวมทั้งสิ้น 500 คน
107. ข้อใดเป็นหลักการสำคัญในการพิจารณาคดีปกครอง
(1) ต้องฟังความทุกฝ่าย
(2) ใช้ระบบไต่สวน
(3) ศาลต้องให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาหรือคำสั่ง
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 52 ในการพิจารณาคดีปกครองนั้นมีหลักการสำคัญได้แก่
1. การพิจารณาคดีต้องเปิดเผย 2. ต้องฟังความทุกฝ่าย 3. ศาลต้องให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาหรือคำสั่ง 4. ไม่เน้นระบบกล่าวหา แต่เน้นระบบไต่สวน ซึ่งเป็นระบบที่ให้ผู้พิพากษามีบทบาทในการแสวงหาความจริงแห่งคดี
108. ข้อใดมิใช่สาระสำคัญของกฎหมายอาญา
(1) ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ
(2) กฎหมายอาญาย้อนหลังลงโทษไม่ได้
(3) ตีความกฎหมายขยายความลงโทษได้
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 54,90 สาระสำคัญทางกฎหมายอาญา ได้แก่ 1. ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิด และกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้นๆไว้ด้วย 2. ต้องเป็นกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะซึ่งเกิดการกระทำนั้น 3. ต้องไม่มีผลย้อนหลังไปลงโทษหรือเพิ่มโทษบุคคลให้หนักขึ้นเป็นอันขาด แต่อาจย้อนหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดได้
4. ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด และจะตีความในทางขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้
109. ข้อใดเป็นลักษณะของกฎหมายเอกชน
(1) วิธีการต้องอาศัยความสมัครใจ
(2) วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน
(3) เนื้อหาใช้กับเอกชนเฉพาะราย
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 44-45 กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่ใช้กับนิติสัมพันธ์ที่ต้องอาศัยความสมัครใจของผู้ก่อนิติสัมพันธ์ทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากยึดถือหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยเอกชนสามารถตกลงผูกพันกันเป็นอย่างอื่นนอกเหนือกฎหมายเอกชนบัญญัติไว้ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้กฎหมายเอกชนมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อใช้กับบุคคลเฉพาะราย และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน
110. ผู้เสียหาย หมายถึง
(1) ผู้ที่ถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่ากระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง
(2) ผู้ที่ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย
(3) ผู้ที่กระทำความผิด
(4) ไม่มีข้อใดถูก
ตอบ 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึง บุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4,5 และ 6
111. ข้อใดมิใช่สาขาย่อยในกฎหมายมหาชน
(1) รัฐธรรมนูญ
(2) กฎหมายมรดก
(3) กฎหมายครอบครัว
(4) ถูกเฉพาะข้อ 2 และ 3
ตอบ 4 หน้า 44-47,50,53 กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนกฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน เป็นต้น (กฎหมายมรดกและกฎหมายครอบครัวเป็นกฎหมายแพ่ง)
112. ข้อใดคือลักษณะสำคัญของการกระจายอำนาจทางปกครอง
(1) มีการแยกหน่วยงานเป็นองค์กรนิติบุคคล
(2) มีอิสระที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
(3) มีการเลือกตั้งผู้บริหารของตนเอง
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 51 ลักษณะสำคัญของการกระจายอำนาจทางปกครอง คือ
1. มีการแยกหน่วยงานออกไปเป็นองค์กรนิติบุคคลอิสระจากองค์กรของราชการบริหารส่วนกลาง 2. องค์กรของราชการบริหารส่วนท้องถิ่นจะประกอบด้วยผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในท้องถิ่น 3. องค์กรตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครองมีอำนาจด้วยตนเอง คือ มีความอิสระที่จะดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ได้เองโดยไม่ต้องรับคำสั่งหรืออยู่ใต้บังคับจากราชการส่วนกลาง มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง
113. ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่
(1) บุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้ใช้นามสกุล
(2) บุตรบุญธรรมได้จดทะเบียน
(3) บุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ได้จดทะเบียนสมรส
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 4 หน้า 173-174 ผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื้อ ของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทชั้นบุตรที่จะมีสิทธิรับมรดกนั้นหมายถึงบุคคล 3 ประเภท คือ 1. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน
2. บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ เช่น ให้ใช้นามสกุล แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา เป็นต้น 3. บุตรบุญธรรมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว
114. คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ เช่นนี้ พินัยกรรมจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
(1) สมบูรณ์
(2) ตกเป็นโมฆียะ
(3) ตกเป็นโมฆะ
(4) จะสมบูรณ์หากได้รับอนุญาตจากศาลด้วย
ตอบ 1 หน้า 177 คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมได้สมบูรณ์โดยลำพังตนเอง เพราะพินัยกรรมที่คนเสมือนไร้ความสามารถได้ทำขึ้นนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม หรือวางเงื่อนไขไว้แต่อย่างใด
115. คดีอุทลุม คือ คดีลักษณะใด
(1) คดีที่ห้ามมิให้หลานฟ้องลุงเป็นคดีอาญา
(2) คดีที่ห้ามมิให้คู่สมรสฟ้องกันเป็นคดีอาญา
(3) คดีที่ห้ามมิให้หลานฟ้องร้องยายเป็นคดีแพ่ง
(4) คดีที่ห้ามมิให้หลานฟ้องร้องอาเป็นคดีแพ่ง
ตอบ 3 หน้า 168 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ หากฟ้องจะถือว่าเป็นคดีอุทลุม ซึ่งบุพการีของตนก็คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด นั่นเอง (อา ลุง และคู่สมรสไม่ใช่บุพการี)
116. เหตุใดประเทศไทยจึงจำต้องพัฒนาระบบกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5
(1) มีการกบฏบวรเดช
(2) มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
(3) ชาวต่างชาติขอสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
(4) ถูกทุกข้อ
ตอบ 3 หน้า 224 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศตะวันตกไม่พอใจกฎหมายไทย และเริ่มใช้อิทธิพลก่อตั้งสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยตั้งศาลของตนเองขึ้นในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยต้องพยายามหาทางแก้ ซึ่งมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องปรับปรุงระบบกฎหมายและการศาลไทยให้อยู่ในระดับที่ต่างประเทศยอมรับ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้จัดให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือปฏิรูปกฎหมายและการศาลไทยขึ้นจนประสบความสำเร็จ
117. นายดำและนางแดงร่วมกันดำเนินกิจการร้านเสริมสวยตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรส โดยนายดำลงทุน 100,000 บาท และนางแดงลงทุน 200,000 บาท ตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสและเมื่อจดทะเบียนสมรสก็ยังคงร่วมกันลงทุนตลอดมา เช่นนี้กิจการร้านเสริมสวยถือว่าเป็นทรัพย์ลักษณะใด
(1) สินส่วนตัว
(2) สินสมรส
(3) สินบริคณห์
(4) สินน้ำใจ
ตอบ 1 หน้า 162 สินส่วนตัว ได้แก่
1. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส กล่าวคือ ทรัพย์สินทุกชนิดที่ชายหญิงมีอยู่หรือได้มาก่อนวันจดทะเบียนสมรส
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
3. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา(กิจการร้านเสริมสวยดำเนินมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของทั้งนายดำและนางแดงตามสัดส่วนของเงินลงทุน)
118. กรณีใดต่อไปนี้ที่คู่สมรสไม่ต้องจัดการร่วมกัน
(1) การขายอสังหาริมทรัพย์
(2) ให้กู้ยืมเงิน
(3) การทำพินัยกรรม
(4) ขายฝาก
ตอบ 3 หน้า 163 นิติกรรมบางประเภทที่เกี่ยวกับสินสมรสนั้นกฎหมายกำหนดให้คู่สมรสจะต้องจัดการร่วมกันได้หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 เช่น การขายฝากหรือขายฝากอสังหาริมทรัพย์ การให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น ส่วนนิติกรรมอื่นนอกเหนือจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 1476 กำหนดไว้ คู่สมรสก็ไม่จำเป็นต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนแต่อย่างใด เช่น การทำพินัยกรรม การโอนสิทธิการเช่า เป็นต้น
119. นายเหลืองจดทะเบียนสมรสกับนางศรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นางศรีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดโดยไม่ได้อยู่กินกัน เช่นนี้การสมรสนั้นจะมีผลทางกฎหมายอย่างใด
(1) โมฆะ
(2) โมฆียะ
(3) สมบูรณ์
(4) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
ตอบ 1 หน้า 159 การจดทะเบียนสมรสกันหลอกๆ โดยไม่มีเจตนาที่จะอยู่กินกันฉันสามีภริยา เช่น จะทะเบียนเพื่อให้คู่สมรสมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด หรือจดทะเบียนเพื่อให้สัญชาติย่อมถือว่าเป็นการสมรสโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรส การสมรสนั้นย่อมมีผลเป็นโมฆะ (ดูคำอธิบายข้อ 65.ประกอบ)
120. นางแดงจดทะเบียนสมรสกับนายหนึ่ง ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสอง ต่อมานางแดงตั้งครรภ์และคลอดบุตร คือ ด.ญ.พลอย เช่นนี้ ด.ญ.พลอยเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด
(1) นางแดงและนายหนึ่ง
(2) นางแดง
(3) นางแดงและนายสอง
(4) นางแดง นายสอง และนายหนึ่ง
ตอบ 3 (คำบรรยาย) บุตรย่อมเป็นบุตรที่ชอบธรรมของมารดาเสมอ และในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 (สมรสซ้อน) เด็กที่เกิดมากฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนครั้งหลัง (ป.พ.พ. มาตรา 1538)